ขอเชิญร่วมฉลองวัดนักบุญคลารา ประจําปี 2024

ขอเชิญร่วมฉลองวัดนักบุญคลารา ประจําปี 2024

· • —– ٠ ✤ ٠ —– • ·
เปิด-เสกบ้านพักนักบุญดามีอาโน
หมู่บ้านป่าแป๋ (ดอยช้าง)
· • —– ٠ ✤ ٠ —– • ·
โดย บิชอปฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
.
วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2024
พิธีมิสซาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น.
ณ วัดนักบุญคลารา ป่าแป๋ ลําพูน

ไปอัสสัมชัญ ศรีราชา

ไปอัสสัมชัญ ศรีราชา

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2024

พิธีฉลอง 25 ปี ปฏิญาณตนของ ภราดาเปโตร อาวุธ ศรีลาเกษ และภราดาเปโตร สยาม แก้วประสิทธิ์ ที่วัดน้อย เดล โรซารีโอ โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา เวลา 10:00 น.
.
นอกจากสมาชิกภราดาของคณะเซนค์คาเบรียล จาก โรงเรียนในเครือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบรรดานักบวชคณะต่างๆ บรรดาครูจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่ง ภราดาอาวุธ เป็นผู้อำนวยการครูของอัสสัมชัญ ศรีราชา มีผู้ฝึกหัดของคณะยังมีพระสงฆ์ในจีเรีย 5 คน และเมียนมา 1 คน จาก ABAC ด้วย
.
พิธีรื้อฟื้นปฏิญาณ อยู่ก่อนรับศีลมหาสนิทคณะขับร้อนเป็นบรรดาสามเณร และบราเดอร์ หลังพิธีรับประทานอาหารที่หอประชุมโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา มีพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ สนามฟุตบอลเยอะมากบรรยากาศร่มรื่น
.
ภราดา อาวุธ เคยเรียนคำสอน รับศีลล้างบาปตอนเป็นผู้ใหญ่ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ 30 ปีมาแล้ว เรียนที่ศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรม 2 ปี แต่งเพลงให้ด้วย แล้วจึงรับการอบรมเป็นนักบวช ส่วนภราดาสยาม พ่อ-แม่ เป็นครูคำสอนครับ

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

ข้อคิดข้อรำพึง สมโภชนักบุญทั้งหลาย

ข้อคิดข้อรำพึง สมโภชนักบุญทั้งหลาย

เรื่องเกิดขึ้นประมาณ ค.ศ. 60 มีไฟไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงโรมและไหม้อยู่ราวหนึ่งสัปดาห์ทีเดียว มีข่าวลือกันทั่วไปว่าจักรพรรดิ์เนโรเองเป็นผู้บงการให้เกิดไฟไหม้ขึ้น พระองค์ทรงต้องการทำลายกรุงโรมเก่า เพื่อจะสร้างทดแทนขึ้นใหม่ จะได้นำเอาชื่อของพระองค์มาแทนชื่อเมืองเดิมนั้น
.
เนโรห์ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดที่จะหยุดข่าวลือนั้น แต่ทำไม่สำเร็จ ที่สุด เขาหันมาจับแพะรับบาปเพื่อรับโทษแทน โดยการกล่าวหาอันเป็นเท็จว่ากลุ่มคริสตชนในกรุงโรมได้เป็นผู้เริ่มจุดไฟ
.
การกล่าวหาของเนโรห์ก่อให้เกิดการเบียดเบียนทางศาสนาครั้งใหญ่และกินเวลานานถึง 300 ปี นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันผู้หนึ่งได้อธิบายช่วงเวลาการเบียดเบียนในสมัยของเนโรห์ดังนี้
.
“บรรดาคริสตชนถูกกระทำอย่างโหดร้ายที่สุด บางคนถูกจับใส่ชุดที่ทำจากหนังสัตว์เพื่อให้สุนัขที่หิวกระหายขบกัดจนร่างกายฉีกแยกจากกัน คนอื่นๆ ถูกจับตรึงกางเขน และในเวลากลางคืนถูกเผาให้เป็นเหมือนคบเพลิงที่ส่องสว่างตอนกลางคืน”
.
เพื่อป้องกันตนเองและเพื่อสามารถปฏิบัติกิจศาสนาได้ บรรดาคริสตชนจำนวนมากจึงลงไปใต้ดิน พวกเขาขุดดินอ่อนที่เกิดจากภูเขาไฟที่อยู่ใต้กรุงโรมให้เป็นอุโมงค์ที่เป็นเครือข่ายกัน บางอุโมงค์ใต้ดินกินเนื้อที่หลายตารางกิโลเมตร และถูกออกแบบเป็นเขาวงกตเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสับสน
.
ทุกวันนี้อุโมงค์บางแห่ง หรือที่เรียกว่า คาตาคอมบ์ กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในกรุงโรมให้มาเยี่ยมชม ในคาตาคอมบ์เหล่านี้แหละที่ในสมัยนั้นคริสตชนใช้ในการไปร่วมพิธีมิสซา ล้างบาปให้เด็กๆ และฝังบรรดาคนตาย
.
นักบุญเยโรม (ค.ศ.341-420) เคยเขียนไว้ว่า เมื่อตอนที่ท่านเป็นเด็ก ท่านและเพื่อนเคยไปวิ่งเล่นในคาตาคอมบ์เหล่านั้น
.
หลายศตวรรษต่อๆ มา เด็กๆ ชาวโรมันยังคงไปวิ่งเล่นในคาตาคอมบ์ ครั้งหนึ่ง เด็กชายกลุ่มหนึ่งไปวิ่งเล่นในคาตาคอมบ์ที่เป็นแบบเขาวงกต ทันใดนั้น ไฟฉายที่มีเพียงกระบอกเดียวเกิดดับ เด็กผู้ชายเหล่านั้นติดกับอยู่ในความมืดสนิท และจนปัญญาจะหาทางออกมาได้ เหตุการณ์เกือบจะวิกฤตอยู่แล้ว บังเอิญเด็กชายคนหนึ่งสัมผัสถึงความนุ่มของร่องทางเดินบนหินที่พื้นของถ้ำนั้น ซึ่งจริงๆ เป็นทางเดินโบราณที่คริสตชนเป็นพันๆ คนใช้เดินในสมัยแห่งการเบียดเบียน เด็กชายเหล่านั้นเดินตามรอยเท้าของบรรดานักบุญในอดีต และได้พบทางออกจากความมืดมาสู่ความสว่างอย่างปลอดภัย
.
ตัวอย่างของบรรดานักบุญที่สิ้นชีพเพราะถูกเบียดเบียนนี้ แสดงให้เราเห็นว่าพวกท่านได้ทุ่มเทมากแค่ไหน เพื่อยืนหยัดอยู่ในความเชื่อที่ท่านมี ถ้าพวกท่านไม่ยอมสละเลือดเป็นพลี บางทีพวกเราทั้งหลายอาจจะไม่ได้เป็นคริสตชนเช่นในขณะนี้ นอกจากนั้น ตัวอย่างของบรรดานักบุญยังมีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเรา พวกเราอาจกำลังหลงทางเหมือนเด็กๆ ในคาตาคอมบ์ กำลังสับสนในชีวิต ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เราถูกความมืดมิดครอบคลุมอยู่รอบด้าน จนไม่แน่ใจว่าจะก้าวเดินไปทางไหน ถ้าพวกเราเดินตามรอยเท้าของบรรดานักบุญ เราจะสามารถพบทางออกจากความมืดมาสู่ความสว่างเหมือนเด็กๆ เหล่านั้น (Mark Link, SJ. Illustrated Sunday Homilies-Year B-pp. 240-241)
.
เมื่อเราหันมามองคำสอนเรื่องบุญลาภ (เดี๋ยวนี้ใช้คำว่า “ความสุขแท้จริง” ) ของพระเยซูเจ้าในพระวรสารวันนี้ เราจะเห็นว่าคนธรรมดาทั้งหลายสามารถเป็นนักบุญของพระองค์ได้ทั้งนั้น คนที่มีจิตใจยากจน คนที่มีใจบริสุทธิ์ คนที่เป็นทุกข์โศกเศร้า คนที่มีใจอ่อนโยน คนที่สร้างสันติ คนที่มีใจเมตตา คนที่หิวกระหายความยุติธรรม คนที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง ถูกคนเขาดูหมิ่นและใส่ร้ายต่างๆ นานา คนเหล่านี้จะมีความสุขแท้จริง เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
.
เรื่อง “ความสุขแท้จริง” เป็นเรื่องที่เราทุกคนเข้าถึงได้ และถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้า เราก็จะเป็นหนึ่งในประชาชนมากมายเหลือคณานับที่มาจากทุกชาติ ทุกภาษา ที่ได้ไปยืนอยู่เฉพาะพระบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์ลูกแกะ ทุกคนสวมเสื้อขาว ถือใบปาล์ม ร้องสรรเสริญเสียงดังว่า “ความรอดพ้นเป็นของพระเจ้าของเรา”

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2012)

ข้อคิดข้อรำพึง สมโภชนักบุญทั้งหลาย

นักบุญทั้งหลายที่เราสมโภชในวันนี้ ส่วนมากก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรานี่แหละ
.
มีเรื่องเล่าว่า ในปี ค.ศ.1906 นายฮาร์ดี (Keir Hardie) ซึ่งแต่เดิมเป็นคนงานเหมืองถ่านหิน ได้รับเลือกให้กลายมาเป็นผู้นำคนแรกในรัฐสภาของพรรคแรงงานแห่งอังกฤษ วันแรกที่เขาเดินเข้าไปในที่ทำงาน ของรัฐสภา นายตำรวจที่เฝ้าประตูเหลือบมองที่เขาแวบหนึ่ง เห็นเขาแต่งตัวเหมือนกรรมกรและสวมหมวกแก๊ปที่ทำด้วยผ้า จึงถามเขาด้วยความสงสัยว่า “คุณมาทำงานที่นี่หรือ” นายฮาร์ดีตอบว่า “ใช่ครับ” ตำรวจถามต่อว่า “ทำงานบนหลังคาใช่ไหม” สมาชิกสภาผู้แทนคนใหม่ตอบ “ไม่ใช่ครับ…ทำงานบนพื้นนี่แหละ” (เรื่องจาก Denis McBride ใน Seasons of the Word)
.
ผู้คนมักจะมีภาพของผู้แทนว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ต้องแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกับผู้คนมักจะคิดว่า คนที่เป็นนักบุญจะต้องเป็นเช่นไรในบ้านของพระ บางทีก็มองด้วยภาพพจน์ที่สูงส่งเกินเอื้อม แต่อันที่จริงแล้ว พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ เสนอให้เราเห็นว่า บรรดานักบุญจำนวนมากมาจากคนธรรมดาสามัญนี่แหละเป็นส่วนใหญ่
.
ในหนังสือวิวรณ์โดยนักบุญยอห์น ผู้เห็นภาพนิมิตได้วาดภาพว่า ก่อนฟ้าดินจะถูกทำลายไป บรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้าผู้ได้รับเลือกสรร จะได้รับการประทับตราไว้ที่หน้าผาก และจะได้รับความรอดพ้น คนเหล่านี้มีจำนวนมากสุดคณานับ มาจากทุกเผ่าของชาวอิสราเอล และยังมาจากทุกชาติ ทุกภาษา ทุกคนสวมเสื้อขาว ถือใบปาล์ม โห่ร้องสรรเสริญพระเจ้า และนี่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ
.
คนที่สวมเสื้อขาวเหล่านี้เป็นใคร และมาจากไหน คำตอบคือ มาจากการเบียดเบียนครั้งใหญ่ เขาซักเสื้อของเขาจนขาวในพระโลหิตของลูกแกะ ทำให้เราระลึกถึงบรรดานักบุญมรณสักขีในช่วงประมาณ 300 ปีแรกที่พระศาสนจักรถูกเบียดเบียนที่กรุงโรม จนพวกเขาต้องหนีลงไปอยู่ใต้ดิน คนเหล่านี้คือคนธรรมดา บางทีเป็นเด็ก บางทีเป็นคนแก่ แต่ยอมตายเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระคริสต์
.
และเมื่อเราคิดพิจารณาเรื่องบุญลาภ( “ความสุขแท้จริง” ) ที่พระเยซูเจ้าทรงสอน จะเห็นว่าคนธรรมดาทั้งหลายสามารถเป็นนักบุญของพระองค์ได้ทั้งนั้น คนที่มีจิตใจยากจน คนที่เป็นทุกข์โศกเศร้า คนที่มีใจอ่อนโยน คนที่สร้างสันติ คนที่มีใจเมตตา คนที่มีใจบริสุทธิ์ คนที่หิวกระหายความยุติธรรม คนที่ถูกเบียดเบียนข่มเหง ถูกคนเขาดูหมิ่น และใส่ร้ายต่างๆ นานา คนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
.
เรื่อง “ความสุขแท้จริง” เป็นเรื่องที่เราทุกคนเข้าถึงได้ และถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้า สักวัน เราจะได้ร่วมหมู่กับบรรดานักบุญทั้งหลายเหล่านั้น สรรเสริญพระเจ้าว่า “อาแมน คำถวายพระพร พระสิริรุ่งโรจน์ พระปรีชาญาณ คำขอบพระคุณ พระเกียรติยศ พระอานุภาพและพระพลานุภาพ เป็นของพระเจ้าของเราตลอดนิรันดร อาแมน”

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2009)

เชียงใหม่จัดวันอาหารโลก

เชียงใหม่จัดวันอาหารโลก

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2024

สังฆมณฑลเชียงใหม่ โดยฝ่ายสังคม ร่วมกับวัดในเขต 4 จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแผนกสตรี สังฆมณฑลเชียงใหม่ได้ร่วมกันจัดวันอาหารโลก World Food Day และวันรณรงค์อาหารพื้นบ้าน ขึ้นที่วัดนักบุญเปโตร อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในหัวข้อ “สิทธิการเข้าถึงอาหารเพื่อมุ่งสู่คุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีกว่า Right to foods for a better life and better future”
.
โอกาสนี้ได้รับเกียรติจากพระคุณเจ้า ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน พร้อมทั้งมีตัวแทนคุณพ่อในเขตวัดเขต 4 จังหวัดแม่ฮ่องสอน นักบวชชาย หญิง รวมทั้งคริสตชนจากเขตวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตวัดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนสอนเข้าร่วมจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
.
ในงานมีการจัดซุ้มอาหารพื้นบ้านที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบขากธรรมชาติ พืชผลผลิตการเกษตรของแต่ละเขตวัด และชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งมีการนำเสนอขั้นตอนการผลิต และปรุงอาหารของแต่ละชนเผ่า และละประเภท
พิธิเริ่มด้วยขบวนแห่จากเขตวัดต่างๆ ผ่านเข้ามาใจกลางหมู่บ้านป่าหมาก เข้าสู่พื้นที่งาน ตัวแทนจัดงานกล่าวรายงานกิจกรรม และพิธีเปิดโดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ จากนั้นแล้ว เป็นการเดินชมซุ้มอาหารและผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละเขตวัดแต่ละชนเผ่า ต่อด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณโดยพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน
สำหรับการจัดวันอาหารโลกปี 2024 นี้ มีวัตถุประสงค์
.
เพื่อร่วมกันเป็นพยานถึงความเชื่อคริสตชนที่มีต่อสิ่งสร้างของพระเจ้า และรื้อฟื้นภูมิปัญญาชุมชนในการดูแลรักษา ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
รณรงคน์การรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สิ่งสร้างของพระเจ้า ) ซึ่งเป็นบ่อเกิดแหล่งอาหาร
เพื่อเลือกบริโภคอาหารจากการผลิตที่ปลอดภัย เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านอาหารให้กับชุมชน และเพื่อเป็นการสืบทอดสู่เกษตรกรรุ่นใหม่และส่งเสริมตลาดทางเลือกแก่ผู้บริโภค เพื่อสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน
.
สร้างจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือผู้อดอยากหิวโหย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รณรงค์ส่งเสริมให้ผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อทุกคน ส่งเสริมให้ทุกคนใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด รู้คุณค่า ไม่ทิ้งขว้าง และดูแลรักษา (Laudato Si) ตอลสนองต่อเสียงโอดครวญของสิ่งสร้าง
.
ความเป็นมาของวันอาหารโลก
· • —– ٠ ✤ ٠ —– • ·
วันอาหารโลก (World food day) ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี
จัดตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงการก่อตั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของอาหารและปัญหาความหิวโหยที่เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับจุดเน้นวันอาหารโลกปี 2024 เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงสิทธิทางอาหาร การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรอุดมสมบูรณ์ ระบบอาหารที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 4 ฐานทรัพยากร คือ
.
– น้ำ การจัดการระบบน้ำให้ยั่งยืน
– ดิน การส่งเสริม พัฒนาให้การใช้ดินในการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเกษตรกร ต้องตั้งสติ พิจารณาไตร่ตรองว่าสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน
– ป่า ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร
– เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นของเรา ปัจจุบันเป็นอย่างไร เป็นคำถามให้ชวนคิด ค้นหาคำตอบเอง

(คุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา)

วันอาหารโลก ที่แม่ลาน้อย

วันอาหารโลก ที่แม่ลาน้อย

27 ตุลาคม 2024

ทุกวันที่ 16 ตุลาคม องค์การเกษตร และอาหารแห่งสหประชาชาติ จัดให้เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) ปีนี้มีแนวคิดว่า สิทธิทางอาหารเพื่อชีวิตที่ดี และอนาคตที่ดีกว่า”
.
สังฆมณฑลเชียงใหม่ จึงจัด วันอาหารโลก วันอาทิตย์ ที่ 27 ตุลาคม 2024 วัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย
.
9.15 น. เริ่มขบวนแห่
– ต้อนรับผู้ปกครองบ้านเมือง และพระสังฆราช มีการรำต้อนรับ
– คุณพ่อธรรมนูญ จินดาดุจสายชล ฝ่ายสังคมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน
– ผู้นำฝ่ายปกครองกล่าวถึงความดีของการทำไร่หมุนเวียน การรับประทานอาหารอย่าง
พอเพียง และแบ่งปันแก่คนยากจน
– การชมชิมอาหารจากเขตวัดต่างๆ 11 วัด
.
11.00 พิธีมิสซา
และรับประทานอาหารร่วมกัน
คืนวันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม พ่อสวดสายประคำพร้อมกับสัตบุรุษวัดนักบุญเปาโล แม่สะเรียง ประมาณ 100 คน
.
การไปร่วมงานอาหารโลก ที่แม่ลาน้อยเห็นความร่วมมือของเรา พี่น้องจากวัดต่างๆนำอาหารมาเลี้ยงชาวบ้านประมาณ 1500 คน มีโอกาสรับประทานอาหารปลอดภัยของเผ่าต่างๆครับ
.
มีสมาชิกคณะกรรมการสตรีคาทอลิก 5 คน จากกรุงเทพมาร่วมงานด้วยครับ

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

สามสังฆมณฑลภาคเหนือร่วมกันจัดค่ายเยาวชนม้งคาทอลิก

สามสังฆมณฑลภาคเหนือร่วมกันจัดค่ายเยาวชนม้งคาทอลิก

วันที่ 15 ตุลาคม 2024

 สามสังฆมณฑลภาคเหนือที่ทำงานอภิบาลกับพี่น้องชนเผ่าม้ง จัดให้มีพิธีมิสซาเปิดค่ายเยาวชนคาทอลิกม้งขึ้นที่มูลนิธิด้วยรักและแบ่งปัน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา ซึ่งทำงานกับพี่น้องม้งสังฆมณฑลเชียงใหม่ เป็นประธาน ร่วมกับคุณพ่อสมศักดิ์ แสนยากูล ทำงานกับพี่น้องม้งที่จังหวัดตาก สังฆมณฑลนครสวรรค์ คุณพ่อทนงศักดิ์ บิโข่ ทำงานกับพี่น้องม้งสังฆมณฑลเชียงใหม่ และคุณพ่อนิคม พงษ์วิสุทธิ์สกุล คณะพระมหาไถ่ ทำงานกับพี่น้องม้งที่เขตวัดแม่พระมอนิกา จังหวัดน่าน สังฆมณฑลเชียงราย
การจัดค่ายเยาวชนม้งคาทอลิกม้งครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันของสามสังฆมณฑลฯ ที่ทำงานแพร่ธรรมกับพี่น้องชนเผ่าม้ง ประกอบด้วยสังฆมณฑลนครสวรรค์ สังฆมณฑลเชียงราย และสังฆมณฑลเชียงใหม่ เจ้าภาพสถานที่ ร่วมกันจัดค่ายเยาวชนม้งคาทอลิกขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 ตุลาคม 2024 ที่มูลนิธิด้วยรักและแบ่งปัน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในหัวข้อ “จงชื่นชมยินดีในความหวัง” โรม 12:12 มีเยาวชนเข้าร่วมค่ายครั้งนี้ทั้งหมด 236 คน
ความคาดหวังของการจัดค่ายเยาวชนม้งคาทอลิกครั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนม้งคาทอลิกจากวัดเขตวัดและหมู่บ้านต่างๆ ของทั้ง 3 สังฆมณฑลฯ ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้คำสอนของพระศาสนจักรผ่านสมณสาส์น Laudato Si’ เพื่อตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น ร่วมหาแนวทางเพื่อปกป้องโลกซึ่งเป็นบ้านของเรา อีกทั้งศึกษาสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 38 ในหัวข้อ “จงชื่นชมยินดีในความหวัง” (รม 12:12) “พระคริสตเจ้าทรงพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นความหวังของเรา และด้วยวิธีการอันน่าอัศจรรย์ พระองค์ ทรงนำความเป็นหนุ่มสาวให้โลกของเรา” (Christus Vivit, 1) โดยมีคุณพ่อสมศักดิ์ แสนยากูล รับผิดชอบในหัวข้อ “จงชื่นชมยินดีในความหวัง” ซึ่งเป็นหัวข้อวันเยาวชนโลกครั้งที่ 38 ส่วนคุณพ่อนิคม พงษ์วิสุทธิ์สกุล ให้ความรู้ในหัวข้อ “คุณค่าและพระพรในตัวฉัน” และครูคำสอน เมธา แสนศรีเยาว์พันธ์ จากสังฆมณฑลเชียงใหม่ให้ความรู้ในหัวข้อ “รักษ์โลก = รักเรา”
การจัดค่ายครั้งนี้ นอกจากมีเยาวชนเช้าร่วมกิจกรรมแล้ว ต้องขอบคุณคุณพ่อเป็นพิเศษ คุณพ่อสมศกัดิ์ แสนยากูล คุณพ่อนิคม พงษ์วิสุทธิ์สกุล คณะครูคำสอนเขตวัดพระมหาไถ่ (ศูนย์ม้งคาทอลิก) เชียงใหม่ บรรดาพี่เลี้ยง ที่ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเป็นไปด้วยดีได้ทั้งความรู้สาระสนุกสนานและสร้างสรรค์ นอกจากนั้นแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง กลุ่มแม่บ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ สลับกันมาช่วยประกอบอาหารให้กับบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ในครั้งนี้ ขอพระองค์ตอบแทนน้ำใจดีของทุกท่านที่มีส่วนร่วมให้กิจกรรมค่ายครั้งนี้สำเร็จด้วยดี

22 ตุลาคมนักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

22 ตุลาคม นักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา

( St John Paul II, Pope )

พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเป็นหัวหน้าพระศาสนจักรคาทอลิก และทรงปกครองรัฐวาติกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 ถึง ค.ศ. 2005 พระองค์ทรงได้รับเลือกสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาโดยการลงคะแนนเสียงของบรรดาพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ 1978 พระองค์ทรงเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 1 ซึ่งทรงอยู่ในสมณสมัยได้เพียง 33 วันเท่านั้น

ทรงกำเนิดมาในวันที่ 18 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1920 ที่เมือง Wadowice ประเทศ Poland พระนามเดิมคือ Karol Jósef Wojtyla ทรงได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 1946 เป็นพระสังฆราชแห่ง Ombi ในปี ค.ศ. 1958 และได้เป็นพระอัครสังฆราชแห่ง Krakow ในปี ค.ศ. 1964 ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยนักบุญ ปอล ที่ 6 พระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1967 และในปี ค.ศ.1978 ได้ทรงรับตำแหน่งพระสันตะปาปา ถือเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาลีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลา 455 ปี

พระองค์ทรงอยู่ในสมณสมัยมากกว่า 26 ปี ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ครองสมณสมัยยาวนานที่สุดเป็นลำดับที่สาม พระองค์ทรงเพียรพยายามอย่างมากที่จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจกันระหว่างประเทศต่างๆ และระหว่างศาสนาต่างๆด้วย พระองค์ทรงเดินทางไปเยี่ยมประเทศต่างๆทั่วโลกอย่างมากมาย ทรงเดินทางไกลมากกว่าการเดินทางของพระสันตะปาปาองค์อื่นๆทั้งหมดมารวมกัน พระองค์ทรงแผ่อิทธิพลไปยังพระศาสนจักรท้องถิ่นให้รณรงค์ต่อต้านการกดขี่ทางการเมือง และทรงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวัตถุนิยมของชาวตะวันตก พระองค์ยังทรงออกมากล่าวขอโทษต่อกลุ่มต่างๆที่ชาวคาทอลิกในอดีตได้กระทำผิดต่อพวกเขา พระองค์ทรงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของพระศาสนจักรคาทอลิกกับบรรดาผู้นับถือศาสนายิว ศาสนาอิสลาม และพวกออร์โธด๊อกซ์ตะวันออก ส่วนทางด้านการเมืองนั้น พระองค์ทรงได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยให้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในประเทศโปแลนด์บ้านเกิดของพระองค์ และต่อๆมาในประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด

ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงยืนยันปกป้องคำสอนของพระศาสนจักรในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิที่จะมีชีวิต การคุมกำเนิดตามแบบธรรมชาติ การถือศีลโสดของบรรดาสมณะ ฯลฯ ซึ่งถึงแม้ว่าพระองค์ได้ทรงสนับสนุนการปฏิรูปพระศาสนจักรตามแนวทางของสังคายนาวาติกันที่ 2 แต่คนส่วนรวมก็มีความเห็นว่าโดยทั่วๆไปพระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์นิยมในการตีความ

พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำโลกที่เดินทางมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยียนถึง 129 ประเทศในระหว่างอยู่ในสมณสมัย ทรงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของพระองค์ ในการที่จะทรงเน้นเป็นพิเศษถึงกระแสเรียกสากลให้ไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงสถาปนาบุญราศีถึง 1,340 องค์ (ในจำนวนนี้มีบรรดาบุญราศีมรณสักขีชาวไทยด้วย – ผู้แปล) และทรงสถาปนานักบุญถึง 483 องค์ มากกว่าบรรดาพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งก่อนพระองค์ห้าศตวรรษนำมารวมกัน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย พระองค์ได้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งยกฐานะพระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขคริสตชนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ขึ้นเป็น พระคาร์ดินัล ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1983 และเป็นพระคาร์ดินัลองค์แรกของไทย ยิ่งกว่านั้น พระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 เมื่อเสด็จมาถึงทรงก้มลงจูบผืนแผ่นดินไทย (- ผู้แปล)

พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 (วันอาทิตย์ฉลองพระเมตตา) โดยพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 และทรงได้รับการสถาปาเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 (ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ฉลองพระเมตตาเช่นกัน) โดยพระสันตะปาปา ฟรังซิส โดยกำหนดวันฉลองของนักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา คือวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ขึ้นปกครองพระศาสนจักรในตำแหน่งพระสันตะปาปานั่นเอง

(เรียบเรียงโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 2019
Sources : ค้นคว้าจาก Google, Wikipedia, Britannica, หนังสือ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู 2 กุมภาพันธ์ 2526, หนังสือ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทย 10-11 พฤษภาคม 2527)

เขตม้งฉลองวัดนักบุญยอห์นบัปติสต์ และ 42 ปี กลุ่มคริสตชนบ้านปางอุ๋ง

เขตม้งฉลองวัดนักบุญยอห์นบัปติสต์ และ 42 ปี กลุ่มคริสตชนบ้านปางอุ๋ง

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2024

เขตวัดพระมหาไถ่ (ศูนย์ม้งคาทอลิก) ได้จัดให้มีการฉลองวัดนักบุญยอห์นบัปติสต์ ประจำปี ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านปางอุ๋ง โดยเลื่อนจากวันที่ 24 มิถุนายน เป็นเดือนตุลาคม เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 42 ปี เริ่มมีคริสตชนในหมู่บ้าน และ 35 ปีการมีวัดประจำหมู่บ้าน
.
ก่อนฉลองวัดได้จัดให้มีมิสซาตรีวาร 3 คืน เพื่อเตรียมจิตใจ ขอพรจากพระองค์ และปิดด้วยการอบรมฟื้นฟูจิตใจอีกครึ่งวันเช้าในวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2024 โดยคุณครูเมธา แสนศรีเชาวพันธ์ ประธานครูคำสอนเขตม้ง ให้การอบรมเรื่องหลักความเชื่อของคริสตชน ปิดด้วยวจนพิธีกรรมศีลอภัยบาป โดยคุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษา
.
โอกาสฉลองวัดปีนี้ได้รับเกีรติจากพระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน ในพิธีบูชาขอบพระคุณ และได้ให้ข้อคิดว่า “จากหนังสือประกาศกอิสยาห์ 49:1-6 พระเจ้าทรงเลือกเราแต่ละคนตั้งแต่อยู่ในครรค์มารดาแล้ว เช่นเดียวกับประกาศกอิสยาห์ และพระองค์มีพระประสงค์ให้เราเป็นแสงสว่างส่องนานาชาติเพื่อให้ความรอดพ้นที่พะองค์นำมาให้แผ่ไปสุดปลายแผ่นดิน
.
ในหนังสือกิจการอัครสาวก 13:22-26 พระเจ้าทรงเลือกเราให้มีส่วนราวมในการปนะกาศข่าวดี เช่นเดียวกับนักบุยยอห์นบัปติสต์ ที่เป็นผู้เตรียมจิตใจ เตรียมชีวิตให้ต้อนรับพระผู้ไถ่ที่จะมาด้วยการดำเนินชีวิตสุภาพถ่อมตนกล่าวว่า “จะมีผู้ที่มาภายหลังข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา” ดังนั้นการดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานด้วยความรัก บางทีแม้จะมีความทุกข์ยากลำบากบ้าง ทั้ง ๆ ที่เราพยายามเป็นคนดี แต่เมื่อเราอดทนถึงที่สุดประเจ้าก็ประทานพระพรให้เรา ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนอื่นเห็นแบบอย่างความเชื่อของเรา และเป็นการมีส่วนร่วมในการแพร่ธรรม และเวลาเรามีความยากลำบากก็เพื่อสอนเราว่า ขาดพระเจ้าไม่ได้ เราต้องพึ่งพาอาศัยพระองค์เสมอเพื่อเราจะสามารอดทนฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยด้วยความเชื่อ”
.
หลังพิธีบูชาขอบพระคุณแล้วได้มีการสวดบทภาวนาถวายประเทศไทยแด่แม่พระและถวายช่อดอกไม้ในโอกาส 100 ปี ถวายประเทศไทยแด่แม่พระ ต่อด้วยพิธีเสกและเปิดศาลา “คริสตชนรวมใจ” เป็นศาลาเอนกประสงค์ที่คริสตชนได้ช่วยกันสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงเอง งบประมาณกว่า 610,000.00 กว่าบาท (หกแสนหนึ่งหมื่นกว่าบาท) ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา เวลามีกิจกรรมของส่วนรวมไม่มีสถานที่เพียงพอสำหรับจัดกิจกรรม เช่น ค่ายคำสอน การประชุม อบรมต่างๆ ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 35 ปี ของการมีวัดประจำหมู่บ้านเป็นทางการ
.
สำหรับการฉลองวัดปีนี้ นอกจากมีพี่น้องคริสตชนม้งจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มาร่วมฉลองแล้ว มีพี่น้องคริสตชนที่เป็นชาวปกาเกอะญอจากหมู่บ้านใกล้เคียงเช่นมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก และเกิดการช่วยเหลือกันและกันทั้งเผ่าปกาเกอะญอ และพี่น้องม้ง เช่น พี่น้องที่เป็นชาวปกาเกอะญอจากวัดนักบถุญเซซีลีอา ห้วยต้นนุ้นช่วยข้าวสาร วัดแม่พระแห่งลูกประคำ ขุนยวม ช่วยทำผัดหมี่ วัดพระแม่มารีย์ หนองแห้ง ช่วยไอครีม นอกจากนั้นมีพี่น้องคริสตชนเขตม้ง เช่น หมู่บ้านโหล่งปง นำข้าวโพดหวานมาแจก บ้านขุนกลาง และบวกเต๋ย นำดอกไม้มาสนับสนุนสำหรับการตกแต่งทั้งภายในวัดและเวที หมู่บ้านห้วยผึ้งใหม่นำส้มเขียวหวานมาสนับสนุน เป็นต้น
.
ปัจจุบัน คริตสชนวัดนักบุญยอห์บัปติสต์ บ้านปางอุ๋ง มีทั้งหมด 120 ครอบครัว สมาชิกทั้งหมด 530 คน ได้รับศีลล้างบาปแล้ว 508 คน กำลังเรียนคำสอนผู้ใหญ่ 22 คน มีครูคำสอน มีชัย แซ่ว้าง เป้นครูคำสอนประจำหมู้บ้าน

วันระลึกถึง นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา (11 ตุลาคม)

วันระลึกถึง นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปา (11 ตุลาคม)

(The memorial of St John XXIII, Pope)

“ขอให้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดเข้ามาในพระศาสนจักร” เป็นคำตรัสของพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ซึ่งใช้สัญลักษณ์ของการเปิดหน้าต่างออกมา ในการประกาศเริ่มต้นสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1962 และตั้งแต่นั้นมาลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ไม่เคยหยุดพัดเลย และไม่มีผู้สืบตำแหน่งจากพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 องค์ใดเลย ที่จะไปปิดหน้าต่างที่ลมแห่งความเปลี่ยนแปลงจะพัดเข้ามาในพระศาสนจักร แท้จริงแล้วพระศาสนจักรสากลยังคงตรวจสอบตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องการประกาศพระวรสารและการถือปฏิบัติด้วย

นักบุญยอห์น ที่ 23 ทรงเป็นบุคคลที่มีความเฉียบแหลมมากในด้านต่างๆ การหยั่งรู้ล่วงหน้าอย่างคมชัดนำพาให้พระองค์ทรงเรียกประชุมสังคายนา ซึ่งนำไปสู่การปรึกษาหารือ การตัดสินใจและชี้นำแนวทางปฏิบัติต่างๆ ไปอย่างกว้างไกล ทรงชี้แจ้งให้เห็นชัดถึงแต่ละสถานะของบุคคลที่จะทำต้องทำหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่และบังเกิดผล ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือพระสังฆราช หรือพระอัครสังฆราช หรือพระคาร์ดินัล หรือพระสันตะปาปาก็ตาม พระองค์ทรงมีความเฉียบคมในการตัดสินซึ่งช่วยรักษาพระศาสนจักรในฝรั่งเศสให้รอดพ้นได้ คือเรื่องที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงในระหว่างพระสงฆ์ – กรรมกร (the priest – workers) ที่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้อย่างมาก ทรงมีความเฉียบคมในด้านมนุษยธรรมที่ได้ทรงช่วยชาวยิวประมาณ 24,000 คนจากการจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทรงเฉียบคมในอารมณ์ขันที่ทรงหาหนทางหลีกเลี่ยงวิกฤติมากมายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทรงเฉียบคมในพระญาณสอดส่องของพระที่ทรงทำให้พระองค์เป็นบุคคลตัวอย่างในการส่งเสริมให้มีการเสวนาใหม่ทางศาสนากับพวกโปรเตสตันท์ พวกออร์โธด๊อกซ์ พวกยิว และพวกมุสลิมด้วย และเหนืออื่นใด ทรงเฉียบคมในเรื่องเอกภาพของคริสตชน ซึ่งทำให้พระองค์ทรงสวดบทภาวนาของพระเยซูเจ้าเพื่อพระสงฆ์ “เพื่อให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 17:22) มาภาวนาเพื่อให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย

นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปาทรงถือกำเนิดมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาซื่อๆ ของหมู่บ้าน Sotto il Monte ใกล้กับเมืองแบร์กาโม ทางตอนเหนือของอิตาลี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1881 มีชื่อเดิมว่า อันเจโล จูเซปเป รอนคาลลี (Angelo Giuseppe Roncalli) ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ในปี ค.ศ. 1904 ได้ถูกเกณฑ์ไปอยู่ในกองทัพในฐานะเด็กหามเตียงคนไข้ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 ต่อมาในปี ค.ศ.1921 ได้รับแต่งตั้งเป็น national director ของสมาคมเพื่อการเผยแผ่ความเชื่อ ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชในปี ค.ศ.1925 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชและไปเป็นทูตของพระสันตะปาปา ประจำประเทศบุลกาเรีย เป็นที่แรก ต่อมาเป็นประเทศตุรกี และสุดท้ายประจำประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1944 – 1953 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสนิทสนมกับบรรดาผู้นำพระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์หลายคน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศาสนจักรทั้งสอง ซึ่งยังคงเจริญเติบโตมาถึงทุกวันนี้

ในปี ค.ศ. 1953 ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆอัยกาของเวนิส (Patriarch of Venice) และสืบเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1958 พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาสืบแทน ในขณะที่มีพระชนมายุ 76 ปี ทรงเลือกชื่อยอห์นตามชื่อบิดาของท่าน และตามชื่อองค์อุปถัมภ์ทั้งสองของอาสนวิหารแห่งกรุงโรม กล่าวคือ นักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร และนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง นั่นเอง

พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงเปี่ยมด้วยคุณลักษณะดีงามมากมายหลายด้านด้วยกัน ทรงเป็นบุคคลที่นุ่มนวลอ่อนหวาน สุภาพอย่างยิ่ง ซื่อๆ และมีพระทัยเปิดกว้าง ซึ่งทรงเผยให้เห็นลักษณะที่งดงามที่สุดเช่นนี้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับคติพจน์ของพระองค์เมื่อทรงรับตำแหน่งพระสังฆราชว่า “นอบน้อมเชื่อฟัง และ สันติสุข” ( “Obedientia et Pax” ) และในความเป็นจริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่นอบน้อมเชื่อฟังตลอดชีวิตสงฆ์ของพระองค์ – ทรงนอบน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้าในทุกสิ่ง – ทรงเป็นบุคคลแห่งความสันติสุข เป็นสันติสุขที่ถ่ายทอดจากพระองค์ไปยังผู้อื่นๆ นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ชื่อ โจวานนา กล่าวว่า “ในการพูดคุยกับพระองค์ ประสบการณ์หนึ่งที่คุณจะได้รับ คือ ความรู้สึกผ่อนคลาย”

“พระสันตะปาปาแห่งสภาสังคายนา” ผู้สุภาพพระองค์นี้ ได้รับการเทิดเกียรติให้นำพระศพขึ้นมาไว้ที่พระแท่นหนึ่งภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.2000 โดยนักบุญ ยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา และทรงกำหนดวันฉลองของท่านให้เป็นวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

ฉลองวัดแม่พระลูกประคำ ขุนยวม

ฉลองวัดแม่พระลูกประคำ ขุนยวม

4-5 ตุลาคม 2024


4-5 ตุลาคม 2024
เช้าวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม คุณพ่ออูโก โดนินี แต่งตัวเรียบร้อย (พร้อมกับคุณพ่ออัลแบร์โต เปนซา) มาที่สำนักมิสซังเชียงใหม่ นำรูปอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (ภาพ 3 มิติ) มามอบให้ เพื่ออำลากลับไปอิตาลี

คุณพ่อโดนินี มาเป็นธรรมทูตคณะเบธาราม ในประเทศไทย 56 ปี (ค.ศ.1968) เคยอยู่ที่บ้านเณรยอแซฟ สามพราน ที่พระอัครสังฆราชยอแซฟ นิตโย พักเกษียณที่บ้านเณรเล็ก และมาเป็นธรรมทูตที่สังฆมณฑลเชียงใหม่

11 นาฬิกา เริ่มลุยน้ำท่วมจากมิสซังไปขึ้นรถ เพื่อไปขุนยวม ถึงวัดแม่พระลูกประคำ พบคุณพ่อสันติ ยอเปย ประมาณ 17.45 น.
19.00 น. คุณพ่อสมยศ เทพสมุทร เป็นประธานมิสซา (ตรีวาร) สัตบุรุษ ประมาณ 120 คน

 


 

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม บรรดาพระสงฆ์ และชาวบ้านในเขต 4 มาร่วมฉลองวัด มิสซา เวลา10.00 น. น่าเสียดาย ไม่มีสวดสายประคำก่อนมิสซา ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง มีการแสดง และร้องเพลงของเยาวชนในศูนย์ และแม่บ้านชาวม้ง (ปางอุ๋ง)

13.30 มีการแข่งขันฟุตบอล สำหรับผู้ชาย การแข่งขันวอลเลย์บอล สำหรับผู้หญิง

มีอาสาสมัครโดเออร์ จากกรุงเทพ ประมาณ 10 คน มาร่วมประชุมวันศุกร์ และอยู่ร่วมฉลองวัด ก่อนเดินทางกลับบ้าน

พ่อเข้าไปสำนักมิสซังไม่ได้ เพราะน้ำท่วม จึงพักที่บ้านมารีนา เชียงใหม่

ขอขอบคุณที่หลายคนเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม และ ให้ความช่วยเหลือพวกเราที่นี่ครับ

(ฟ.วีระ  อาภรณ์รัตน์)