เยี่ยมพระคาร์ดินัลมีชัย

เยี่ยมพระคาร์ดินัลมีชัย

19-21 กุมภาพันธ์ ที่บ้านผู้หว่าน

19 กุมภาพันธ์ คุณพ่ออันตน วาเชคกี้ เชิญ 9 คน เป็นคณะทำหนังสือพิธีกรรม ตั้งแต่ 09:00 น.–16:30 น. ที่บ้านผู้หว่าน และนัด วันที่ 2-3 เมษายน พบกันทำงานต่ออีก
.
20-21 กุมภาพันธ์ ประชุมกรรมธิการฝ่ายในสภาพระสังฆราช ประชุมทุก 6 เดือน เพื่อรายงาน ประสานงาน ศึกษาเอกสารสุดท้ายของซีโนด และร่วมมือกันในงานของพระศาสนจักร สมาชิกมาประชุมประมาณ 30 คน ทั้งพระสังฆราช อุปสังฆราช และผู้รับผิดชอบทุกแผนก
.
วันศุกร์ เวลา 12:50 -13.40 น. บรรดาพระสังฆราชได้ไปเยี่ยมพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู โอกาสฉลอง 8 รอบ (96 ปี) สุขภาพท่านดีขึ้น อนุญาตให้เรามาเยี่ยมคำนับ แนะนำ เล่าประวัติของบางเรื่องของบางสังฆมณฑล และศูนย์คำสอน (NCC) พ่อรู้สึกประทับใจมาก และเราได้รับพรจากท่านพระคาร์ดินัล
มีชัย เป็นโอกาสพิเศษจริงๆ
.
14.00 น.-16.15 น. กรรมการดำเนินงาน (บูโร) ของสภาฯ 10 คน ประชุมต่อ แล้วจึงกลับสังฆมณฑลของตนโดยปลอดภัย

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

ฉลองวัดพระแม่มหาการุณย์

ฉลองวัดพระแม่มหาการุณย์

16 กุมภาพันธ์ 2025

ครบ 51 ปี เปิดวัดพระแม่มหาการุณย์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระดำเนินไปทำพิธี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1974 ทำให้เราคิดถึง คุณพ่อยวงบัปติส บุญเลิศ ธาราฉัตร และคุณพ่อเปโตร อูร์บานี ผู้บุกเบิก
.
คิดถึงครอบครัว มีนานนท์ ผู้บริจาคที่ดิน และปัจจุบันคุณพ่อเคลาดิโอ โกร์ตี คุณพ่ออีโว่ กาวาญ่า คุณพ่อโจเซฟ ซามานีโก บรีออเนส PIME ซิสเตอร์คณะซาเวเรี่ยน ช่วยดูแลเด็กพิการบ้านเทวา มีมูลนิธินักบุญมาร์ติน ช่วยเด็ก และเยาวชน 75 คน
.
ปัจจุบันมีเยาวชนอาสาสมัคร 6 คนจากประเทศนอร์เวย์
9:30 น. ก่อนเริ่มมิสซา มีเสกศาลา จูบีลี และสวน
.
– มีพิธีศีลกำลัง แก่เยาวชนและผู้ใหญ่ 32 คน จากวัด 15 คน โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ 7 คน โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ 10 คน
13.40 น. พ่อไปเยี่ยมบ้านเทวา
14:40 น. เยี่ยมเด็กๆ 75 คน
.
คุณพ่อส่งเสริมการสอนคำสอนทั้งเด็กไทย และชาวต่างชาติ มีกลุ่มวิถีคริสตชน กลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว สภาภิบาลวัด เข้มแข็งดีมีชีวิตชีวามาก

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

50 ปีแห่งความเชื่อของคริสตชนบ้านตอก๊อ

50 ปีแห่งความเชื่อของคริสตชนบ้านตอก๊อ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2025

เขตวัดนักบุญเปโตร แม่ลาน้อย ได้จัดฉลองครบรอบ 50 ปี วัดนักบุญเปาโล ชุมชนแห่งความเชื่อของการเกิดกลุ่มคริสตชนหมู่บ้านห้วตอก๊อ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้เพื่อเป็นการฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้จาริกแห่งความหวังของชุมชนบ้านตอก๊อ โดยได้รับเกียรติจาก บิชอป ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ เป็นประธาน และโอกาสเดียวกันนี้เอง ฝ่ายสังคมของสังฆมณฑลฯ ได้ร่วมกับเขตวัดจัดกิจกรรมกองบุญข้าวประจำปีของเขตวัดด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของฝ่ายสังคมที่ได้ร่วมกับเขตวัดต่างๆ จัดกิจกรรมตลอดปีศกัดิ์สิทธิ์ 2025 นี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เพื่อก้าวไปด้วยกันด้วยความหวังให้กับผู้ที่ขาดแดลนอาหารจะได้รับโอกาสมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี

ครอบครัว จาริกแห่งความหวัง 2025

ครอบครัว จาริกแห่งความหวัง 2025

รายงานจากโฟโคลาเร เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2025 โฟโคลาเรร่วมกับแผนกส่งเสริมชีวิตครอบครัว ได้จัดอบรมครอบครัวในหัวข้อ “ครอบครัว จาริกแห่งความหวัง 2025” ที่ศูนย์อบรมเยาวชนนานาชาติ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
.
สำหรับการจัดอบรมครอบครัวครั้งนี้ เนื่องจากคณะทำงานโดยเฉพาะกลุ่มโฟโคลาเรและแผนกครอบครัว ได้มองเห็นว่า ปัจจุบันนี้ครอบครัวถูกท้าทายด้วยปัญหามากมายในหลายรูปแบบ คำถามคือ อะไรจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อก้าวเดินไปด้วยกันตามแผนการแห่งความรักของพระเจ้าต่อครอบครัวได้ และในโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นปีแห่งพระพรนี้ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการไตร่ตรองและตระหนักร่วมกันใน 4 หัวข้อหลักคือ ครอบคัวในแผนการของพระเป็นเจ้า บทบาทต่างๆ ของสมาชิกในครอบครัว ความแตกต่างระหว่างชายและหญิง และ การสื่อสารของพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น
.
การอบรมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ครอบครัว จากเชียงราย น่าน กรุงเทพฯ และหลายๆ ที่จากเชียงใหม่ จำนวน 80 คนมาร่วมพบปะกัน เพื่อเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์กัน ทุกคนกลับบ้านไปด้วยพลัง ความตั้งใจที่จะเริ่มต้นใหม่ในการทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้นในความรักซึ่งกันและกัน อัศจรรย์แห่งความรักเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อ “ที่ใดมี 2-3 คน รวมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางเขา” (มธ.18:20)

เครือข่ายกองบุญข้าวและ50 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อ บ้านห้วยตองก๊อ เขตแม่ลาน้อย

เครือข่ายกองบุญข้าว และ50 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อ บ้านห้วยตองก๊อ เขตแม่ลาน้อย

14-15 กุมภาพันธ์ 2025

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ สังฆมณฑลเชียงใหม่ จัดเครือข่ายกองบุญข้าว (Rice Merit Network) เกือบ 10 แห่ง ชาวบ้านทำบุญข้าว เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ขัดสน
.
คุณพ่อศตวรรษ ใฝ่หาคุณธรรม เจ้าอาวาส คุณพ่ออนุพงศ์ ดำรงอุษาศีล คุณพ่ออภิกร โกมล พิทักษ์ชัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ครูคำสอน สภาภิบาล และเยาวชนของศูนย์แม่ลาน้อย เขตวัดนักบุญเปโตร จ.แม่ฮ่องสอน จัดงานเครือข่ายกองบุญข้าว และฉลอง 50 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อ วัดนักบุญเปาโล (วัดสาขา) บ้านห้วยตองก๊อ (ซึ่งเป็นวัดสาขา หนึ่ง ในจำนวน 38 แห่ง)
.
9.00 น. เ ริ่มขบวนแห่ โดยมี ปลัด และนายก อบต. มาร่วมงาน
.
คุณพ่อศตวรรษ กล่าวประวัติของหมู่บ้านนี้ ปัจจุบัน ถนนไปที่นี่ลำบาก ยังไม่มีไฟฟ้า (มีโซล่าเซล) มีคาทอลิก จำนวน 28 ครอบครัว วัดนี้เป็นหลังที่สาม คุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันบุตร จากกรุงเทพ ช่วยสนับสนุนการก่อสร้าง
.
พ่อดีใจที่มีโอกาสถวายมิสซา ฉลอง 50 ปี ชุมชนนี้

(ฟ.วีระ อาภรณ์รัตน์)

11 กุมภาพันธ์
ระลึกถึงแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด

11 กุมภาพันธ์ ระลึกถึงแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด

(The memorial of Our Lady of Lourdes)

ในปี ค.ศ. 1858 ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 16 กรกฎาคม มีรายงานว่าแม่พระได้ประจักษ์มา 18 ครั้ง ให้กับเด็กอายุ 14 ปี มีชื่อว่า มารี แบร์นาแด๊ต สุบีรูส์ ที่ถ้ำชื่อ มัสซาเบรียล ใกล้กับเมืองลูร์ด ในฝรั่งเศสตอนใต้ ซึ่งตั้งอยู่ตีนเขาแห่งเทือกเขาปีรานีส และตั้งแต่นั้นมา ที่นี่ก็กลายเป็นหนึ่งในที่แสวงบุญที่มีชื่อเสียงของโลกที่ผนวกเข้าด้วยกับเรื่องราวอัศจรรย์ที่นับไม่ถ้วนทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต

มีการสร้างบาสิลิกาขึ้นบนหินเหนือถ้ำที่ประจักษ์ตามคำขอของแม่พระที่บอกกับนักบุญแบร์นาแด๊ต และเมื่อเห็นว่าเล็กเกินไป วัดแห่งลูกประคำ (the “Rosary Church”) ถูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นในปี ค.ศ. 1901

ในปี ค.ศ.1907 พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ได้ขยายวันฉลองนี้ให้ไปสู่พระศาสนจักรสากล โดยมีบททำวัตรและบทมิสซาเป็นพิเศษ และมีผลบังคับใช้ในสมัยพระสันตะปาปาเลโอที่ 13

นักแสวงบุญผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายได้หลั่งไหลมาสู่สักการสถานแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ที่จัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนักแสวงบุญชาวฝรั่งเศสที่มีจำนวนถึง 25,000 คน เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1872 ปัจจุบันนี้คาดการณ์ว่ามีนักแสวงบุญเดินทางมาที่นี่ปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน

การรักษาให้หายอย่างอัศจรรย์ได้เริ่มขึ้นภายในไม่กี่วันจากการประจักษ์ครั้งแรก และดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่บัดนั้น และนี่ไม่ใช่จำกัดวงอยู่เฉพาะผู้ที่เชื่อเท่านั้น มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญแบบที่ขาดไปไม่ได้ คือ “คำภาวนา” และบ่อยๆ เป็นคำภาวนาจากญาติๆของชาวคาทอลิกผู้มีความเชื่อ หรือโดยผู้อื่น

ในบรรดาการรักษาที่มากมาย มีเพียงประมาณ 50 กรณี ที่หลังจากการไต่สวนอย่างรอบคอบตามกระบวนการทางกฎหมายของพระศาสนจักรได้ประกาศอย่างเป็นทางการโดยบรรดาพระสังฆราชว่าเป็นอัศจรรย์ นอกเหนือจากนี้ มีมากกว่า 4,000 กรณีที่วิทยาการทางแพทย์ไม่สามารถอธิบายได้โดยทางธรรมชาติ กรณีหนักๆ เช่น วัณโรค เนื้องอก มะเร็ง ตาบอด และหูหนวก ที่มีเป็นจำนวนมาก รวมถึงการป่วยทางจิตที่ได้รับการยืนยันหนักแน่นว่าได้รับการเยียวยาจากที่นี่ แต่อย่างหลังนี้ คือเรื่องการป่วยทางจิต เรานับแค่ 7% จากจำนวนคนไข้ทางจิตทั้งหมดเท่านั้นเอง

มีอาสาสมัครทั้งชายและหญิง คอยช่วยบรรดาคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่มาแสวงบุญที่นี่ ตลอดเวลาพวกเขาจะสวดลูกประคำเสียงดัง บางทีภาพที่น่าจับใจ คือขบวนแห่ศีลมหาสนิทประจำวันรอบสถานที่แสวงบุญ เมื่อจบรอบขบวนแห่แล้วทุกคนจะมารวมอยู่หน้าจัตุรัสแห่งลูกประคำที่อยู่ด้านหน้าบาสิลิกา ผู้เป็นประธานจะอวยพรทุกคนโดยเฉพาะบรรดาผู้ป่วยที่อยู่ด้านหน้าๆ ผู้นำขับร้องจะวิงวอนขอแทนคนเจ็บป่วยด้วยความศรัทธา และนักแสวงบุญนับพันนับหมื่นจะประสานเสียงขับร้องว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า โอรสกษัตริย์ดาวิด โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าด้วยเทอญ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้ามองเห็น ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าได้ยิน ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าเดินได้” แล้วมีการอวยพรศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

อัศจรรย์ของแม่พระแห่งเมืองลูร์ด เป็นการปฏิเสธอย่างน่าพิศวงถึงความหลงผิดในยุควัตถุนิยมของเรา และในผู้ที่ไม่เชื่อถึงพระเจ้าในสมัยปัจจุบัน เป็นการนำให้พระศาสนจักรกล้าประกาศวันฉลองของตนเอง ว่าเป็นวันของ “การเยียวยา”

บทสำหรับรำพึง : “จงกลับใจใช้โทษบาป! จงกลับใจใช้โทษบาป! จงกลับใจใช้โทษบาป!” (Our Lady, to Bernadette)

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

6 กุมภาพันธ์
ระลึกถึง นักบุญเปาโล มีกิ พระสงฆ์ และเพื่อนมรณสักขี

6 กุมภาพันธ์ ระลึกถึง นักบุญเปาโล มีกิ พระสงฆ์ และเพื่อนมรณสักขี

(SS Paul Miki and Companions, Martyrs, memorial)

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พระศาสนจักรคาทอลิกเทิดเกียรติมรณสักขีแห่งเมืองนางาซากิจำนวน 26 ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยพวกคาทอลิกที่เป็นคนพื้นเมืองชาวญี่ปุ่น และพวกมิชชันนารีชาวต่างประเทศที่ถูกฆ่าตายเพื่อยืนยันความเชื่อในปี ค.ศ. 1597

ในช่วงศตวรรษที่ 16 ความเชื่อคาทอลิกได้ไปถึงญี่ปุ่นโดยความพยายามของมิชชันนารีคณะเยสุอิต คือนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (1506-1552) แม้หลังความตายของท่านนักบุญ คณะเยสุอิตก็ยังดำเนินงานแพร่ธรรมต่อไป ประมาณว่ามีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในพระศาสนจักร 200,000 คน ในปี ค.ศ. 1587

ต่อมาเกิดความตึงเครียดเรื่องศาสนาจนนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งการเบียดเบียนในปีนั้นเอง มีวัดมากมายถูกทำลาย และพวกมิชชันนารีต้องแอบแพร่ธรรมอย่างลับๆ มีการยอมตายเป็นมรณสักขีเกิดขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้บ้าง 2-3 ครั้ง แต่ภายในเวลา 10 ปีกลับมีคริสตชนชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100,000 คน แม้ถูกแทรกแซงห้ามปราม

ในช่วงปี ค.ศ. 1593 มีมิชชันนารีคณะฟรังซิสกันจำนวนหนึ่งจากประเทศฟิลิปปินส์เข้าไปในญี่ปุ่นตามคำสั่งของกษัตริย์แห่งสเปน คือพระเจ้าฟิลิปที่ 2 พวกที่เข้าไปใหม่นี้มีความกระตือรือร้นในงานสงเคราะห์และการเผยแผ่พระวรสาร แต่การไปปรากฏตัวที่นั่นกลับสร้างความยุ่งยากให้กับสถานการณ์ที่เปราะบางอยู่แล้วระหว่างพระศาสนจักรกับผู้มีอำนาจของญี่ปุ่น

ความสงสัยและเกลียดชังต่อบรรดามิชชันนารีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรือของชาวสเปนถูกยึดที่ชายฝั่งในประเทศญี่ปุ่น และพบว่าบรรทุกปืนใหญ่อยู่ในนั้น ผู้แทนของจักรพรรดิผู้ทรงอำนาจในเวลานั้นชื่อว่า โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) เป็นผู้ออกคำสั่งลงโทษคาทอลิก 26 คนให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นที่เข้าคณะเยสุอิต 3 คน ชาวต่างชาติคณะฟรังซิสกัน 6 คน และที่เหลือเป็นฆราวาสคาทอลิกซึ่งมีเด็กๆรวมอยู่ด้วย พวกเขาถูกลงโทษให้ตายโดยการตรึงกางเขนและแทงด้วยหอกหรือแหลน แต่ก่อนอื่นพวกเขาถูกบังคับให้เดินเป็นระยะ 600 ไมล์ (1 ไมล์ = 1.609 กิโลเมตร) ไปยังเมืองนางาซากิ ระหว่างเดินทางพวกเขาจะถูกทรมานเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นที่เป็นคริสต์ตกใจกลัว แต่ทั้ง 26 คนมีความกล้าหาญอย่างยิ่ง พวกเขาขับร้องบทสดุดีสรรเสริญพระเจ้า (“Te Deum”) เมื่อไปถึงเนินเขาที่พวกเขาจะถูกตรึงกางเขน

หนึ่งในมรณสักขีที่รู้จักกันดีคือ เปาโล มีกิ ชาวพื้นเมืองญี่ปุ่นที่เป็นพระสงฆ์เยสุอิต ท่านได้เป็นพยานที่เข้มแข็งทางความเชื่อตั้งแต่ทางกลุ่มถูกจับให้ร่วมการเดินทางมาที่เมืองนางาซากิ ท่านได้ร่วมมือกับสงฆ์ฟรังซิสกันอีกคนที่ถูกจับประกาศเทศน์สอนความเชื่อให้กับฝูงชนที่พากันมาเยาะเย้ยพวกนักโทษระหว่างการเดินทางไปแดนประหาร ท่านเป็นลูกของนายทหารชั้นหัวหน้าที่มั่งคั่ง ท่านเกิดมาเมื่อปี ค.ศ.1562 และได้เข้ามาในพระศาสนจักรทั้งครอบครัว ท่านได้เข้าคณะเยสุอิตตั้งแต่ยังหนุ่ม และช่วยให้ชาวพุทธมากมายหันมานับถือคริสต์ ภารกิจสุดท้ายในการประกาศพระวรสารของท่านเกิดขึ้นตอนที่ท่านถูกแขวนไว้บนไม้กางเขน ท่านเทศน์สอนว่า

“เหตุผลประการเดียวที่ฉันจะถูกฆ่าก็เพราะฉันได้สอนข้อคำสอนของพระคริสต์ ขอขอบคุณพระเจ้าสำหรับเหตุผลนี้ที่ฉันจะต้องตาย ฉันเชื่อว่าฉันกำลังบอกข้อความจริงแก่พวกท่านก่อนที่ฉันจะตาย” และ “ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า ฉันให้อภัยผู้ที่ฆ่าฉัน ฉันไม่เกลียดพวกเขา ฉันขอพระเจ้าให้ทรงเมตตาต่อทุกคน และฉันหวังว่าเลือดของฉันจะตกลงบนเพื่อนพี่น้องของฉันประดุจฝนที่ก่อให้เกิดผล”

นักบุญเปาโล มีกิ และเพื่อนมรณสักขีอีก 25 คน ถูกแทงด้วยหอกหรือแหลนจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1597 ณ สถานที่ที่ทุกวันนี้เรียกว่า “เนินเขามรณสักขี” พระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งบรรดามรณสักขีของเมืองนางาซากิเหล่านี้ให้เป็นนักบุญ ในปี ค.ศ. 1862

(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จาก catholicnewsagency)

วันที่ 5 กุมภาพันธ์
ระลึกถึงนักบุญอากาทา พรหมจารีและมรณสักขี

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ระลึกถึงนักบุญอากาทา พรหมจารีและมรณสักขี

(St. Agatha, Virgin & Martyr, memorial)

นักบุญอากาทามาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงของเมืองคาตาเนีย (อิตาลี) เธอได้มอบถวายตนแด่พระเจ้าตั้งแต่ในช่วงวัยต้นของชีวิตเธอ ควินเตน (Quintain)ซึ่งเป็นกงสุล แต่เป็นคนที่มีจุดประสงค์ร้าย ได้หลงรักเธอและปรารถนาจะแต่งงานกับเธอ เมื่อเธอตอบปฏิเสธ ควินเตนได้สั่งให้คนไปพาเธอมาต่อหน้าเขาโดยอ้างคำสั่งของจักรพรรดิที่ต่อต้านผู้ที่เป็นคริสตชน เขาได้สั่งให้นำตัวเธอไปที่ซ่องโสเภณี ซึ่งทำให้เธอต้องทนทุกข์ต่อการถูกว่าร้าย และวางแผนลวงทำให้เสื่อมเสียเกียรติ ซึ่งน่ากลัวกว่าจับเธอทรมานและฆ่าให้ตายเสียอีก

แต่โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เธอกล้าหาญที่จะประกาศว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างและความรอดพ้นของเธอ ผลก็คือ เธอถูกเฆี่ยน เนื้อของเธอเป็นรอยแตกด้วยตะขอเหล็ก ถูกตอกอกด้วยสิ่ว ด้านข้างเธอถูกกรีดและถูกทำให้ไหม้เกรียมด้วยเหล็กร้อนๆ มากกว่านั้น เขานำเธอไปไว้ในคุกใต้ดิน ไม่ให้นำอาหารและยาไปให้เธอ แต่พระเจ้าทรงพระกรุณาต่อเธอ – นักบุญเปโตรปรากฏแก่เธอในภาพนิมิต ท่านปลอบและช่วยเยียวยาเธอ

ต่อมาเธอถูกนำตัวมาอยู่ต่อหน้าควินเตนเป็นครั้งที่สอง เธอยังคงยึดมั่นอย่างมั่นคงในความเชื่อและสิ่งที่เธอปฏิญาณไว้ เขาจึงสั่งให้ลากเธอโดยปราศจากเสื้อผ้าไปอยู่บนถ่านที่กำลังลุกไหม้ แต่เกิดแผ่นดินไหวตอนที่จะทรมานเธอในครั้งที่สองนี้ ควินเตนเองต้องวิ่งหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว ในคืนต่อมา คือ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.251 ก่อนที่อากาทากำลังจะสิ้นชีพ เธอได้เปล่งเสียงดังว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้สร้างของข้าพเจ้า พระองค์ทรงปกป้องข้าพเจ้าเสมอตั้งแต่เกิดมา ทรงนำข้าพเจ้าออกไปจากความรักของโลก และทรงทำให้ข้าพเจ้ามีความอดทนต่อการทนทุกข์ทรมาน โปรดรับดวงวิญญาณของข้าพเจ้าด้วยเทอญ”

นักบุญอากาทาได้มอบตนเองโดยสิ้นเชิงแด่พระเยซูคริสตเจ้า เธอได้ดำเนินตามพระองค์ในด้านความบริสุทธิ์ถือพรหมจรรย์ และคอยพึ่งพาการปกป้องของพระองค์ ดังนั้น ตราบจนถึงทุกวันนี้ พระคริสต์ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงการที่พระองค์ทรงจดจำถึงเธอด้วยความรักอ่อนโยน เช่น ด้วยพระธาตุของเธอ เมื่อเกิดการปะทุของภูเขาไฟเอ็ทนา (Mount Etna) ไม่ว่าจะกี่ครั้ง ประชาชนชาวคาตาเนียได้นำผ้าคลุมหน้าของเธอออกมาต่อสาธารณชนเพื่อเทิดเกียรติ และพวกเขาก็มักจะปลอดภัยเสมอ ในสมัยปัจจุบัน ในการเปิดหลุมฝังศพของท่านนักบุญ ได้พบว่าผิวหนังของเธอยังอยู่ครบสมบูรณ์ และมีกลิ่นหอมมาจากพระวิหารที่ประทับของพระจิตเจ้านี้

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

วันที่ 28 มกราคม
ระลึกถึงนักบุญโทมัส อาไควนัส พระสงฆ์และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

วันที่ 28 มกราคม ระลึกถึงนักบุญโทมัส อาไควนัส พระสงฆ์และนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

(St Thomas Aquinas, Priest & Doctor, memorial)

ท่านเป็นบุตรคนเล็กของ Landolfo of Aquino และ Teodora of Chieti เกิดเมื่อปี ค.ศ.1225 ได้รับการศึกษาจากฤาษีเบเนดิกตินที่มอนเตคาสสิโนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ท่านได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เมืองเนเปิลส์ เมื่ออายุ 11 และต้องการเข้าคณะดอมินิกันเมื่ออายุ 18 แต่ครอบครัวของท่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด เนื่องด้วยเป็นญาติกับจักรพรรดิเฟรเดริกที่ 2 ขัดขวางอย่างเต็มที่ไม่ยอมให้ท่านเข้าคณะฤาษีภิกขาจารนั้น โดยจับท่านขังไว้ในหอคอยปราสาทที่บ้านของท่านเป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ถูกกักขังตัว พี่สาวของท่านได้นำหนังสือพระคัมภีร์และหนังสือปรัชญาต่างๆ ให้ท่านศึกษา ภายหลังท่านหนีออกมาได้โดยความช่วยเหลือของพวกภราดาคณะดอมินิกันด้วยการให้ท่านนั่งในตะกร้าแล้วหย่อนลงมาเหมือนนักบุญเปาโลเคยทำ และเนื่องจากท่านมีความรู้จากหนังสือต่างๆ ที่ท่านอ่านเป็นอย่างดี จึงถูกส่งตัวไปเรียนที่เมืองโคโลญ และปารีส และอยู่ภายใต้การดูแลของนักบุญอัลเบิร์ตผู้ยิ่งใหญ่ หลังจากได้รับศีลบวชและได้ปริญญาเอกทางเทววิทยาแล้ว ท่านเริ่มงานสอนด้วยความชัดเจน เที่ยงตรง และสร้างแรงบันดาลใจ จนว่าเป็นที่ติดใจของบรรดานักศึกษาซึ่งมีจำนวนเป็นพันๆคน มหาวิทยาลัยปารีสในขณะนั้นมีนักศึกษามากถึง 30,000 คน

ท่านได้ชื่อว่า “นักปราชญ์เทวดา” (Angelic Doctor) และ “เจ้าชายแห่งนักเทววิทยาของคาทอลิก” (Prince of Catholic Theologians) โดยหลักใหญ่แล้วท่านสนับสนุนทฤษฎีที่ใช้หลักปรัชญาตามแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาอธิบายในแสงสว่างของข้อคำสอนแบบคริสตชนนั่นเอง

ในช่วงชีวิตที่ค่อนข้างสั้นแค่ 49 ปี ท่านได้เขียนหนังสือไว้ถึง 60 ผลงานด้วยกัน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่ยากจะเทียบเทียมได้คือ Summa Theologica ซึ่งเป็นบทสรุปของหลักปรัชญาและหลักเทววิทยาแบบคริสตชน “เหตุว่าเป้าหมายหลักของวิทยาการศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็คือให้ความรู้ถึงพระเจ้า – ไม่เพียงว่ารู้เกี่ยวกับพระองค์เอง แต่รู้ด้วยว่าทรงเป็นต้นกำเนิดและจุดสิ้นสุดของทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งของสิ่งสร้างที่รู้เหตุผล – เราควรปฏิบัติต่อพระเจ้าเป็นประการแรก ประการที่สองคือ การเข้าถึงพระเจ้าของสิ่งสร้างที่รู้เหตุผล และประการที่สามต่อพระคริสต์ ผู้ทรงเป็นมนุษย์ ทรงเป็นหนทางที่พาเราไปหาพระเจ้า” ท่านมักกล่าวเช่นนี้

ก่อนที่ท่านจะศึกษาเรื่องใดก็ตาม ท่านจะต้องวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยการรำพึงและภาวนาเสียก่อน และเมื่อเริ่มทำงานท่านก็จะทุ่มเทจนต้องตั้งภราดาคนหนึ่งคอยดูแลไม่ให้ท่านลืมไปรับประทานอาหาร หรือ ลืมการพักผ่อนนอนหลับ เมื่อท่านต้องตีความพระคัมภีร์ตอนที่คลุมเคลือ ท่านจะทำการอดอาหารเป็นพิเศษ แล้วสวรรค์ก็จะช่วยท่านในการให้คำนิยามที่เป็นแบบเหนือธรรมชาติ นี่เป็นเหตุผลเพียงประการเดียวที่จะอธิบายว่าทำไมท่านถึงมีพลังและความศรัทธาทางสติปัญญาที่ไม่ธรรมดา บทสวดทำวัตรและบทมิสซาวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า (Corpus Christi) โดยเฉพาะบทสดุดีอันเป็นที่รักมากคือบท “ตามตุม แอร์โก” (Tantum Ergo) และบท “โอ ซาลูตารีส ออสตีอา” (O Salutaris Hostia) นั้นท่านได้ประพันธ์ขึ้นตามคำสั่งของพระสันตะปาปา

นักบุญโทมัสสิ้นชีพเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1274 ขณะเดินทางไปร่วมประชุมสภาที่เมือง Lyons ที่พระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 10 ทรงเรียกประชุมเพื่อต้องการจะรวมศาสนจักรต่างๆ ของจารีตกรีกและลาตินให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันใหม่ ท่านได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 22 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1323 ได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1567 นักบุญโทมัสยังได้รับการประกาศว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิก และสถาบันทางการศึกษาทั้งหลาย

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)

ที่ ชม. 007/2025

ที่ ชม. 007/2025

ถึงบรรดาพระสงฆ์ นักบวชและสัตบุรุษเชียงใหม่ทุกท่าน
.
เนื่องจากมีประกาศจากสันตะสํานักวาติกันแจ้งให้พี่น้องทราบว่าพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้งให้พ่อเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2025 ดังที่ทุกท่านได้ทราบแล้ว
เพื่อให้งานและพันธกิจของสังฆมณฑลเชียงใหม่ยังคงดําเนินต่อไปตามเวลาที่กฎหมายพระศาสนจักรกําหนดไว้ และการทําหน้าที่ในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ทางสันตะสํานักเห็นชอบให้พ่อเข้ารับทําหน้าที่ใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม ค.ศ.2025 โดยจะประกอบมิสซากระทําการเข้ารับตําแหน่งใหม่ เวลา 17:00 น. ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ซึ่งพ่อตอบรับคําแนะนําแล้วเห็นว่าเหมาะสม
.
อนึ่ง การถวายมิสซาประจําวันในสังฆมณฑลเชียงใหม่ ยังเอ่ยนามพระสังฆราช “ฟรังซิสเซเวียร์วีระ อาภรณ์รัตน์” จนถึงวันที่พ่อเข้ารับตําแหน่งใหม่ ในวันดังกล่าวข้างต้น หลังจากนั้นแล้วทางสังฆมณฑลเชียงใหม่จะมีประกาศต่อไป เมื่อทางสันตะสํานักแจ้งเรื่องให้ทราบ
.
จึงเรียนมาเพื่อให้ทุกท่านทราบและโปรดภาวนาเพื่อพ่อด้วย
.
ขอพระเจ้าอวยพร
(ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์)
พระสังฆราชสังฆมณฑลเชียงใหม่
.
(คุณพ่อ ศศิน โหมโพ)
เลขาธิการสังฆมณฑลเชียงใหม่
15 มกราคม 2025