Skip to content
corn

เสียงสะท้อนจากพี่น้องปกาเกอะญอ
… ทำไมต้องปลูกข้าวโพด

การ มาเยือนหมู่บ้านเซโดซาของฉันครั้งนี้ก็เพื่อมาดูให้เห็นสถานการณ์จริงจากในพื้นที่ ได้คุยและรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวปกาเกอะญอที่หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันแทนการปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นๆ

เริ่มกันที่ครอบครัวแรกที่ฉันมีโอกาสได้คุยด้วย โดยมีพี่สุนทรช่วยเป็นล่ามแปลภาษา ปกาเกอะญอให้ฉันได้เข้าใจ  นายแรมู อายุ ๔๓ ปี และนางปูดี อายุ ๔๖ ปี  ครอบครัวนี้อยู่หมู่บ้านเซโดซา นายแรมูบอกว่า เขาเพิ่งเริ่มปลูกข้าวโพดในปีนี้เองเนื่องจากลูกมาบอกให้ปลูก  แต่เขายังปลูกไม่เยอะนัก ใช้พื้นที่ แค่ประมาณ ๓ ไร่ แล้วมาเจอว่าปีนี้ราคาไม่ดี จึงคิดจะหยุดไม่ทำแล้วเพราะไม่มีเวลาทำ และสู้พวกยากำจัดศัตรูพืชไม่ไหว กลิ่นแรงและทำให้ไม่สบาย เขาบอกว่าปลูกข้าวโพด ๓ ไร่ ต้องใช้ปุ๋ย ๒ ครั้ง ยาฆ่าหญ้า ๒ ครั้ง

เขาจึงกลัวเพราะเห็นคนที่ทำมาหลายปีต้องไปโรงพยาบาลบ่อยมาก เลยเห็นว่าถ้าทำต่อจะไม่คุ้ม ยิ่งอายุมากขึ้นแล้วสุขภาพร่างกายก็ไม่ไหว เขาจึงไม่คิดจะขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดอีกแล้ว

ครอบครัวนี้มีที่ดิน ๖ แปลงๆ ละ ๔ ไร่ รวม ๒๔ ไร่  นายแรมูบอกว่า ที่ดินเหล่านี้ใช้ทำไร่หมุนเวียนกันไป ที่ไกลสุดอยู่ไกลออกไปประมาณ ๒-๓ กิโล ต้องขึ้นลงดอย พวกเขาปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง ส่วนรายได้หลักมาจากการปลูกถั่วลิสง ถั่วแดง และถั่วดิน (ถั่วดินกับถัวลิสงเป็นอันเดียวกัน) ถั่วลิสงไม่ต้องใช้ปุ๋ย ใช้แค่ยาฆ่าหญ้าครั้งเดียว ถั่วแดงใช้ปุ๋ย ๒ ครั้ง ยาฆ่าหญ้า ๑ ครั้ง ส่วนถั่วลิสงไม่ต้องใช้ยา นอกจากนี้พวกเขายังเลี้ยงวัว ส่วนควายเคยเลี้ยงแต่ตอนนี้เลิกเลี้ยงแล้วเพราะเลี้ยงยาก เขาอธิบายให้ฟังถึงข้อดีของการเลี้ยงวัวว่า ควาย ๒ ปีออกลูก ๑ ตัว ส่วนวัว ๒ ปีได้ลูก ๓ ตัว  ในไร่ข้าวของพวกเขายังปลูกผักอีก ๒๐ กว่าชนิด ทั้งฟักทอง ฟักเขียว แตง ถั่ว หอม เผือก มัน ผักสวนครัวอื่นๆ อย่างเผือกและมันสามารถเก็บไว้กินในหน้าแล้งได้ โดยเก็บจากไร่แล้วขุดหลุมฝังดินเพราะยังมีความชื้นอยู่ เหมือนเก็บไว้ในตู้เย็น

ฉันลองถามความคิดเห็นเรื่องการปลูกข้าวโพดของชาวบ้านที่นี่ นายแรมูบอกว่าคนที่ทำไร่ข้าวโพดส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคน มีลูก ๒-๓ คนที่กำลังเรียน พ่อแม่จึงต้องทำเพื่อหาเงินส่งลูกเรียน คนที่อายุเกิน ๔๕ ปีขึ้นไปไม่ทำไร่ข้าวโพด ส่วนวัยรุ่นจะไปหางานทำในเมือง เมื่อฉันถามว่า เขาคิดอย่างไรกับคนที่หันไปปลูกข้าวโพดเยอะๆ เขาตอบว่า คนอื่นจะคิดอย่างไรเขาไม่รู้ แต่เขาคิดว่าไม่คุ้มเพราะลงทุนเยอะ แล้วก็ทำให้ดินเสีย เขาเห็นตัวอย่างคนที่ทำแล้วมีหนี้สิน เขาเองทดลองปลูกข้าวโพดปีแรกเจอเรื่องราคาไม่ดี แล้วยังมีเรื่องประท้วงกันอีก เลยคิดว่าไม่ทำแล้ว ไม่ว่าราคาจะดีขึ้นกิโลละ ๑๐ หรือ ๒๐ บาท พอปลูกกันเยอะๆ ก็ราคาตก

ฉันถามต่อว่า เขาคิดอย่างไรที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของบริเวณหมู่บ้านที่กลายเป็นทุ่งข้าวโพดแทนที่ไร่ข้าวและไร่หมุนเวียน  เขาตอบว่า ได้คุยกันในชุมชนแล้วว่าจะไม่ขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด จะคุมให้ปลูกในพื้นที่ๆ เป็นป่าหญ้าคาที่ปลูกข้าวปลูกอะไรไม่ดี แต่ฝั่งแม่แจ่มเขาจะมีหลายกลุ่มหลายเผ่า ทั้งคนพื้นเมือง ทั้งม้ง รวมถึงเผ่าอื่นๆ และคนจากที่อื่นเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้จัดการและควบคุมเรื่องกฎระเบียบได้ยาก แต่ที่นี่ (เซโดซา) เป็นชุมชนเล็กๆ มีแค่เผ่าเดียว ทำให้การคุยกัน การจัดระเบียบต่างๆ ทำได้ง่ายกว่า สำหรับเขาคิดว่า การทำไร่ข้าวโพดไม่ยั่งยืนเพราะป่าต้นน้ำกลายเป็นป่าข้าวโพดหมดแล้ว

ฉันถามว่า การที่เป็นคาทอลิกมีความเชื่อเรื่องสิ่งสร้างและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ มีความหมายต่อเขาอย่างไร  นายแรมูตอบว่า บทสอนของปู่ย่าตายายของบรรพบุรุษก็คือ เราได้กินจากป่าได้กินจากน้ำ เราก็ต้องรักษาป่ารักษาน้ำ เพราะป่าและน้ำเป็นธรรมชาติซึ่งพระเป็นเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเขาสร้างให้เรา ซึ่งสอดคล้องกับบทสอนที่ว่าพระเป็นเจ้าเป็นเจ้าของสิ่งสร้าง เราใช้เราก็ต้องรักษา ป่าตรงนี้เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าตรงนี้เป็นป่าต้นน้ำ เป็นป่าชุมชน มีกฎระเบียบของชุมชน บทสอนของบรรพบุรษ บทสอนของศาสนาก็ต้องมาเชื่อมโยงมาผสมผสานให้เกิดการเคารพ การยอมรับ เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืน บริเวณรอบๆ หมู่บ้านที่อยู่มาได้ก็เพราะบทสอนของบรรพบุรุษที่บอกว่า ตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์นะ ห้ามไปทำอะไร ตรงนี้มีเจ้าที่เจ้าทางแรงนะ ทำให้เกิดความเกรงกลัว เกิดความยำเกรง ทำให้อยู่มาได้

ระหว่างที่เราคุยกันอยู่นั้น มีผู้อาวุโสท่านหนึ่ง คือ พะตีสะปุ อายุ ๗๐ ปี   นั่งฟังอยู่ด้วยอย่างสนใจ และได้เสริมความคิดของท่านเรื่องการปลูกข้าวไร่ของชาวปกาเกอะญอให้เราฟังว่า

”ข้าวยังไงก็ทิ้งไม่ได้เพราะถ้าไม่มีข้าวกินก็ต้องเข้าป่าแล้วนะ ถ้าไม่มีข้าวก็อยู่ไม่ได้ เรากินข้าวเราก็ต้องปลูกข้าว ไม่ใช่กินข้าวแล้วไม่ปลูกข้าว ไม่ได้ ต้องปลูกในสิ่งที่เรากิน ข้าวแทนเงินไม่ได้ แทนอย่างอื่นไม่ได้”

 

คนต่อไปคือ (ผู้ช่วยสุภาแฮ) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเซโดซา เขาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาเป็นสมัยที่ ๒ แล้ว (หมู่บ้านเซโดซามี ๖๗ ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นคริสต์ มีพุทธแค่ ๕ ครอบครัว)

 

ฉัน “เป็นอย่างไรบ้างคะกับการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาถึง ๒ สมัยแล้ว”

 

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  “ปวดหัว ทำงานกับชุมชน มีปัญหากับครอบครัวบ้าง กับชุมชนบ้าง ปัญหาภาระครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวต้องส่งลูกเรียน เรื่องทำมาหากิน เป็นห่วงว่าลูกเรียนจบแล้วจะทำให้ลูกมีความสุขอย่างไร กลัวลูกไม่มีงานทำ ไปทะเลาะวิวาทกับเพื่อนฝูงไหม”

ฉัน “ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เขามีปัญหาอะไรกันคะ”

 

“ก็เรื่องทำมาหากิน ทุกวันนี้ก็พออยู่ได้ ทำไร่ทำสวน แต่หนี้สินเยอะ เช่น ไปดาวน์รถยนต์ กู้เงินซื้อรถยนต์ เพราะลูกเรียนจนไม่มีงานทำ กลับมาอยู่บ้าน ไม่มีรถก็เดินทางลำบาก อาศัยใครไม่ได้ ไปส่งผลผลิตลำบาก แล้วเมื่อซื้อรถมือสอง รถก็มีปัญหา นอกจากนี้ก็ต้องไปหาหมอ”  ผู้ช่วยฯ

 

“ผู้ช่วยฯ ทำไร่ข้าวโพดกับเขาด้วยหรือเปล่าคะ”

 

“ลูกชายปลูกข้าวโพดประมาณ ๑๐ ไร่ ทำมาได้ ๒ ปีแล้ว ลงทุนไปประมาณ ๒ หมื่น ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ที่ปลูกไปได้ผลผลิต ๑ ครั้ง ปีนี้ปีที่สอง ยังไม่ถึงเวลาขายผลผลิต ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ที่ทำไปกำไรพออยู่ได้ ปีที่แล้วลงทุนหมื่นห้า ได้เงินมา ๓ หมื่น (คือกำไร ๑๕,๐๐๐ บาท) ลูกชายทำคนเดียว แล้วก็ยังมีการให้เพื่อนบ้านช่วยเอาแรงกัน อย่างเช่น วันนี้ลุงไปเกี่ยวข้าว เขาก็ไปช่วยกันหมด เขาไม่คิดสตางค์ ยังช่วยเอามื้อเอาแรงกันได้อยู่”

สำหรับหมู่บ้านเซโดซา การเอามื้อเอาแรง [2] นั้นชาวบ้านที่นี่ยังคงมีวัฒนธรรมนี้อยู่ แต่ชาวปกาเกอะญอในอีกหลายๆ หมู่บ้านต้องจ้างแรงงานกันเป็นรายวันแล้ว ดังนั้นการทำไร่ข้าวโพดของลูกชายผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงยังไม่ได้รวมค่าจ้างแรงงานเข้ามาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วย

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บอกให้ฉันรู้ว่า ลูกชายของเขาเรียนจบปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ ม.ราชภัฏฯ ลำปาง เมื่อเรียนจบแล้วได้ไปทำงานตำแหน่งผู้จัดการฟาร์มอยู่ที่ราชบุรี ๑ ปี แต่เขาไม่ชอบการอยู่ไกลบ้าน ประกอบกับความเป็นคนรักสันโดษ จึงลาออกจากงานแล้วกลับมาอยู่บ้าน หลังจากนั้นจึงเริ่มคิดเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพโดยเริ่มปลูกข้าวโพดตามที่เห็นคนอื่นเขาปลูกกัน ฉันจึงถามผู้ช่วยฯ ว่า ลูกชายได้รับการศึกษาสูง เขาย่อมรู้ว่าการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีเยอะๆ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายซิ แล้วอย่างการทำเกษตรอินทรีย์ไม่อยู่ในความคิดของเขาบ้างเลยหรือ


[2] การเอามื้อเอาแรง หรือที่เราเรียกกันว่า การลงแขก หมายถึง การแลกเปลี่ยนแรงงานช่วยเหลือในการผลิต หรือการมาช่วยกันทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน

“คิดว่าปลูกข้าวโพด ใช้ยาก็มีผลกระทบ เคยบอกเขาว่าปลูกข้าวโพดใช้สารเคมีเยอะนะ แต่เขาก็ไม่สนใจไม่ได้คิดอะไร แค่ไม่ขาดทุนพออยู่ได้ก็พอ อย่างปลูกกะหล่ำ ถ้าไม่ได้ก็ขาดทุนไปเลย กะหล่ำใช้ยาฆ่าแมลงหลายชนิด ต้องมีฮอร์โมนพ่นอีก กะหล่ำใช้เวลา ๓ เดือน ข้าวโพดใช้แค่ยาฆ่าหญ้าครั้งเดียว”  ผู้ช่วยฯ ตอบ

 

“ทีนี้เมื่อเจอปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำแล้ว ลูกชายจะยังปลูกข้าวโพดต่อไปหรือเปล่าคะ”
“เขาคิดจะปลูกถั่วดิน พอปลูกข้าวโพดเสร็จ ก็ปลูกถั่วดิน ถั่วดินต้องใช้พื้นที่ใหม่”
“แล้วที่ดินของผู้ช่วยฯ มีทั้งหมดกี่แปลงกี่ไร่กันคะ”
“ที่ดินมี ๕ แปลง ๒ แปลงใช้ปลูกข้าวโพด อีก ๓ แปลงปลูกข้าว”

ความคิดของผู้ช่วยเห็นว่า อย่างไรก็ตาม “ต้องให้มีข้าวไร่พอก่อน จะมารุกรานพื้นที่ข้าวไร่ไม่ได้ แต่ถ้าปลูกถั่วดินเสร็จ ปลูกถั่วแดงต่อได้ เพราะปลูกถั่วดินไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา แต่ถ้าปลูกข้าวต่อข้าวจะไม่งามแล้ว”  ในความคิดของผู้ช่วยฯ มองเห็นผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้นเรื่อยๆ ในถิ่นฐานบ้านเกิดของแก

 

ไร่ข้าวโพดไม่ยั่งยืน แต่หลายคนอยากลอง เขาบอกว่า ทำไร่หมุนเวียนไม่รวยไม่จน พออยู่ได้ แต่ตอนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่กระทบวิถีชีวิตหลายอย่าง สิ่งที่หายไปหลายอย่าง

 “ข้าวโพดถ้าปลูกไปเรื่อยๆ บ้านเราจะไม่มีป่า ทุกวันนี้ก็เป็นห่วง แต่ดูเหมือนจะยังขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่หยุดเลยน่ะ คนที่ไม่เคยทำก็ทำ ปลูกข้าวโพดเห็นว่าข้อเสียมีหลายอย่าง เห็นว่าดินบนภูเขาถล่มลงไปที่ถนนเต็มไปหมด”

 

สำหรับผู้ช่วยฯ แล้ว เขาคิดว่าการเป็นผู้นำโดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้นำของชาวบ้านแล้ว ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกบ้าน ต้องนำพาชุมชนของตนไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร ซึ่งขัดกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับหลายๆ หมู่บ้านในขณะนี้

 

“พ่อหลวงบางคนอย่าง อ.แม่แจ่ม เขาก็ไปร่วมประท้วงที่ศาลากลางด้วย ถ้าผู้นำไม่นำไปในทิศทางที่ดีก็น่าห่วง พ่อหลวงบางคนมีทุนมาก ก็ปลูกมากกว่าชาวบ้านอีก อย่างลูกบ้านปลูก ๑๐ กิโล พ่อหลวงปลูก ๒๐-๕๐ กิโล พ่อหลวงบางคนลงทุนให้ลูกบ้านปลูกข้าวโพด ซื้อปุ๋ย ซื้อยา พอขายได้ก็แบ่งครึ่งกันเลย”

 

“แล้วที่เซโดซาล่ะคะ จะมีแนวทางหรือมาตรการอะไรควบคุมไม่ให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้บ้าง”

 

“ที่นี่ ยังมีกฎระเบียบของชุมชน ได้ตัดสินใจกันแล้วว่า แบ่งเขตปลูก พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ พื้นที่ไหนปลูกข้าวโพด จะไม่ให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด ถ้าทำทั้งหมดวัวควายก็ไม่มีหญ้ากิน”

 

ท้ายสุด ฉันถามผู้ช่วยฯ ว่า “ภูมิใจอะไรในความเป็นเซโดซาคะ”

“เราอยู่เซโดซา ภูมิใจที่ทำไร่ทำสวน คุณค่าของเซโดซาคือทุกอย่าง เราพัฒนาบ้านเรา บ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ถึงแม้ประสบการณ์ไม่มาก แต่ก็อยากดูแลหมู่บ้าน ทำเพื่อส่วนรวม ก็รู้สึกภูมิใจ เพื่อลูกหลาน ศาสนาก็สอนสิ่งที่ดี ถ้าศาสนาหายไป ปกาเกอะญอไม่ค่อยมีความสุขแล้ว เราเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านยกให้เป็น ก็รู้สึกภูมิใจ อยากให้เซโดซาเป็นตัวอย่างในเรื่องการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย การทำไร่อย่างยั่งยืน”

นอกจากชาวบ้านเซโดซาแล้ว ฉันยังได้คุยกับชาวปกาเกอะญอที่อยู่ต่างหมู่บ้านแต่ยังอยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่มด้วยกัน

นายดีกาทู อายุ ๔๑ ปี หมู่บ้านแม่แฮใน (หมู่บ้านแม่แฮใน มี ๖๕ ครัวเรือน จำนวน ๖๐ ครอบครัวปลูกข้าวโพด สามารถให้รายละเอียดได้ว่า มีประมาณ ๔๐ ครอบครัวที่ปลูกข้าวโพดใช้พื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ มีประมาณ ๒๐ ครอบครัวที่ใช้พื้นที่น้อยสุดประมาณ ๒ ไร่ นอกนั้นก็ใช้พื้นที่ประมาณ ๓-๔ ไร่ )

เริ่มปลูกข้าวโพดเพราะมีนายทุนมาแนะนำ และเห็นคนอื่นปลูกกัน ข้าวโพดปลูกช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม อาศัยน้ำฝน บนดอยอากาศเย็นทำให้ใช้เวลามากกว่าพื้นที่ข้างล่าง ตัวเขาเอง ๓ ปีที่แล้ว เขาเคยปลูกข้าวโพดใช้เงินลงทุนไป ๑๒,๐๐๐ บาท ขายแล้วได้เท่าทุนเลยเลิกไป  เพิ่งมาเริ่มปลูกใหม่อีกครั้งในปีนี้จำนวน ๓ ไร่ เพราะทุนน้อย และยังต้องปลูกข้าวไร่ ๓ ไร่ ปลูกถั่วแดงและถั่วดินอีก ๑ ไร่

นายดีกาทูบอกว่า สำหรับผลผลิตข้าวโพดของเขาในปีนี้ ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว เขาเปรยว่า ข้าวโพดราคาตกต่ำอย่างนี้ ไม่รู้ขายแล้วจะได้เงินเท่าไร เมื่อ ๓ ปีที่แล้วราคาดีกว่าปีนี้  เขาคิดว่าปลูกกันเยอะแล้วราคาจะดีก็เลยกลับมาปลูกอีก  เราลองให้เขาช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดของเขา ซึ่งเขาก็ได้แจกแจงรายละเอียดให้เราฟังว่า ค่าใช้จ่ายมี เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ๒ กระสอบๆ ละ ๖๐๐ บาท ค่าปุ๋ยกระสอบละ ๙๐๐ บาท  ปลูกข้าวโพด ๓ ไร่ ใช้ปุ๋ย ๘ ถุง (สำหรับพื้นที่ใหม่) ต้องใส่ปุ๋ย ๒ ครั้ง เฉพาะค่าปุ๋ย ๗,๒๐๐ บาท ยาฆ่าหญ้า ๔ แกลลอนๆ ละ ๔๕๐ บาท ยาคลุมหญ้า ๖ ถุงๆ ละ ๒๒๐ บาท รวมต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณหมื่นกว่าบาท แต่ถ้าเป็นพื้นที่เก่าแล้วก็ต้องเพิ่มปุ๋ยเพิ่มยาลงไปอีก ปลูกแล้วก็ต้องเอาลงมาขายเอง คนไม่มีรถก็ต้องจ้างรถ ก็จะมีค่าขนส่งเพิ่มมาอีก เขาคิดกิโลละ .๗๐ บาท หลังจากนั้น ช่วงเก็บข้าวโพดก็มีค่าโม่ กิโลละ ๒๐ สตางค์ ค่าแรงไม่ได้คิดเพราะใช้วิธีลงแขกทั้งช่วงเตรียมดิน หยอดเมล็ด กระทั่งเก็บเกี่ยว

“เห็นว่าคนปลูกเยอะๆ แล้วความเป็นอยู่ดีขึ้นไหม” “เท่าที่รู้คนปลูกมีแต่หนี้สิน ส่วนคนกลางฐานะดีขึ้น” นายดีกาทูบอกว่า ในหมู่บ้านเขา มีคนที่ปลูกข้าวโพดลดลงเพราะราคาตกต่ำ บางคนหยุดไปปลูกถั่วดินถั่วแดงเพราะราคาคงที่กว่า และเมล็ดสามารถเก็บไว้ปลูกต่อได้อีก ส่วนตัวเขาเองมีทางเลือกคือ ปลูกถั่วแดงและถั่วลิสง เขาบอกว่าเรื่องถั่วแดง ถั่วลิสง ทางโครงการหลวงมาสนับสนุนให้ปลูก และโครงการหลวงรับซื้อเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนสมาชิก แต่เขาไม่ได้ลงทะเบียน เลยต้องไปขายเอง ส่วนคนที่ปลูกข้าวโพดอยู่ก็ยังต้องปลูกต่อไปเพราะมีภาระต้องใช้จ่าย แต่จะไม่ขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดแล้วเพราะไปกินพื้นที่ของไร่หมุนเวียนเยอะเกินไป  และทุกครอบครัวต้องกันพื้นที่ไว้ปลูกข้าวไร่

และคนสุดท้ายที่ฉันมีโอกาสได้คุยด้วยก็คือ นายคุรุ อายุ ๔๖ ปี อยู่หมู่บ้านห้วยวอก ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  (บ้านห้วยวอก มี ๘๒ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวไร่ ทำนา และมีชาวบ้านประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)

นายคุรุเล่าว่า “เริ่มปลูกข้าวโพดเพราะเห็นคนอื่นปลูกกัน และจากการแนะนำของแหล่งเงินกู้ด้วย ปลูกแล้วไม่ค่อยมีปัญหา ๓-๔ เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ปลูกข้าวโพดมา ๗ ปีแล้ว ใช้พื้นที่ ๑๐ ไร่ ได้เมล็ดข้าวโพดประมาณหมื่นกิโลกรัม ถ้าช่วงที่ดีๆ ก็ได้เยอะกว่านี้ประมาณ ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐กิโล ช่วง ๒-๓ ปีแรก ลงทุนน้อยราคาดี พอมาปีที่ ๔ ปีที่ ๕ ราคาเริ่มลดลง ราคาเพิ่งมาดีอีกเมื่อปีที่แล้ว (๒๕๕๕) พอมาปีนี้ราคาไม่ดีอีกแล้ว

ปีที่แล้วขายได้ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ – ๑๒๐,๐๐๐ บาท (กิโลกรัมละประมาณ ๗.๕๐ บาท) หักต้นทุน (ค่าไถที่ ค่าเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า ยาคุมหญ้า ปุ๋ย ค่าโม่ ค่าขนส่ง) แล้วเหลือประมาณ ๓๐,๐๐๐  บาท ปีที่แล้วบริษัทรับซื้อหมด ไม่ว่าข้าวโพดจะเล็กหรือใหญ่ เขาซื้อเหมาหมด ให้ราคาดีด้วย ที่ผ่านมามีพ่อเลี้ยงรับซื้อทั้งหมด เราเอาปุ๋ยเอายาจากพ่อเลี้ยงคนไหน ก็ต้องขายให้พ่อเลี้ยงคนนั้น แต่ปีนี้ไม่เห็นเข้ามาเลย ต้องขายให้ซีพีขายข้าวโพดช่วงที่ได้เงินดีๆ ก็เอาไปใช้หนี้ สร้างบ้าน เป็นทุนการศึกษาลูก ส่งลูกเรียน เอาไปลงทุนต่อ (ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เครื่องมือเกษตร) และใช้จ่ายจิปาถะ มีเยอะก็ใช้เยอะ

พอได้กำไรมาบ้างจึงตัดสินใจปลูกมากขึ้น มาปีนี้ราคาตกต่ำคิดว่าเพราะปริมาณข้าวโพดออกมาเยอะ ขาดทุนอยู่ไม่ได้ เลยไปร่วมชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วยทุกครั้ง คนในหมู่บ้านไปกันทุกหลังคาเรือน บ้านละ ๒-๓ คน ผลล่าสุดพอใจกับราคาที่รัฐบาลให้ คือได้ ๗ บาทที่ความชื้น ๓๐%  ราคา ๙ บาทที่ความชื้น ๑๔.๕%  ในราคานี้ถ้าขายก็ได้สัก ๓ หมื่นกว่าบาท แต่ตอนนี้เป็นหนี้ ธกส. สหกรณ์ฯ และกู้นอกระบบด้วย ดอกเบี้ยมันก็ขึ้นทบไปด้วย ถ้าจะปลูกข้าวโพดรอบใหม่ก็ต้องกู้เงินเพิ่มเพราะที่เหลือจากขายอยู่ก็คงไม่พอ”

“ผมคิดว่าปีหน้า คนปลูกข้าวโพดจะน้อยลงเพราะราคาไม่ดี บางคนไม่มีทุนจะไปปลูกต่อ ราคาข้าวโพดตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะว่าสภาพดินเริ่มเสื่อม ผลผลิตข้าวโพดเริ่มไม่ค่อยดี จะต้องลงทุนมากขึ้น (พื้นที่ยิ่งเก่า ยิ่งต้องลงทุนมากขึ้น)”

เมื่อฉันถามถึงเรื่องสุขภาพของแก นายคุรุบอกว่า “ใช้ปุ๋ยเคมีใช้ยาฆ่าแมลงเยอะ มีผลต่อสุขภาพ ไปหาหมอบ่อย ตาก็เริ่มมัวแล้ว มองเห็นไม่ชัด หมอบอกว่าพิษจากสารเคมีเข้าตา บางครั้งพ่นยาก็สูบบุหรี่และอมเมี่ยงด้วย กลัว แต่ไม่มีทางเลือก แหล่งรายได้อื่นไม่มี ความจริงไม่อยากปลูกแล้ว แต่เราต้องกินต้องใช้ ก็ต้องทำจนชินแล้ว เคยปลูกถั่วลิสง ถั่วแดง แครอท หอมแดง แต่ราคาขึ้นลงก็เลิกไป  แต่อะไรก็ไม่ดีเท่าปลูกข้าวโพด ข้าวโพดสู้ได้ทุกดอย เคยปลูกผักที่ไม่ใช้สารเคมีประมาณ ๒ ไร่ แต่ก็เสียหายหมด”