Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์พระทรมาน แห่ใบลาน ปี A

ให้เรามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับพระทรมานของพระเยซูเจ้า

ในปี ค.ศ. 1633 ซึ่งอยู่ในช่วงสงคราม 30 ปี และหลังจากได้รับความทุกข์ร้อนและความตายอันเนื่องมาจากโรคระบาดเป็นเวลาหลายเดือน ชาวเมือง Oberammergau ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนีบนบานไว้ว่า พวกเขาจะจัดแสดงละครเกี่ยวกับพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า โดยจะจัดสิบปีครั้ง การแสดงครั้งแรกเริ่มในปี ค.ศ. 1634 จัดท่ามกลางหลุมศพของผู้เป็นเหยื่อของโรคระบาดที่มีเป็นร้อยๆหลุม ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านจะมีส่วนร่วมในการจัดแสดงนี้ จนมาถึงปี ค.ศ. 2000 การแสดงพระทรมานนับได้เป็นครั้งที่ 40 ซึ่งปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่มาก มีผู้เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2000 คน ประกอบด้วยบรรดานักแสดง นักร้อง นักดนตรี ช่างเทคนิคด้านต่างๆ กล่าวโดยสรุป ชาวเมืองทุกคนมีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ช่างเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องสำหรับประชาคมที่ทุกคนทำการระลึกถึงเหตุการณ์ไถ่ให้รอดของพระเยซูเจ้า

ในปี ค.ศ. 2004 ภาพยนตร์ของ Mel Gibson เรื่อง “The Passion of the Christ” สร้างกระแสโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คริสตชนที่เฉื่อยชาก็ได้รับการกระตุ้นเตือนใจขึ้นมา นักแสดงที่แสดงเป็นพระเยซูเจ้าชื่อว่า James Caviezel ได้เล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า “ผมต้องเตรียมตัวทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมาเล่นบทที่ต้องทุ่มเทมากที่สุดในอาชีพทางด้านนี้ของผม… ที่จริง ผมไม่สามารถจินตนาการได้ว่า คนๆหนึ่งจะสามารถถ่อมตนได้อย่างเหลือเชื่อ และยอมอดทนจนมุ่งไปสู่ความตายเพื่อผู้อื่นได้ถึงเพียงนี้” เขายังเสริมอีกว่า “ตลอดการถ่ายทำ ผมรู้สึกเหมือนกับมีบางคนกำลังจ้องมองผมอยู่” กล่าวโดยสรุป การแสดงเป็นพระเยซูเจ้าเป็นประสบการณ์การกลับใจอย่างลึกซึ้งสำหรับ James Caviezel

พระวาจาวันนี้เล่าเรื่องพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า และที่ตามติดมาคือพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ ซึ่งถือเป็นเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ได้เล่าต่อๆกันมา แต่พระทรมานของพระองค์ต้องไม่เป็นเพียงเรื่องที่เราได้ยินด้วยหู หรือไม่เพียงเข้าใจด้วยสติปัญญาเท่านั้น แต่ต้องสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยใจ ดังเช่นในบทอ่านที่สองของวันนี้กล่าวว่า “แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส” เราก็ต้องสละตัวตนของเราทิ้งทั้งหมด และให้พระองค์ทรงเข้ามาเติมเต็มในตัวเรา

อย่างไรก็ตามนักบุญมัทธิวได้เล่าเรื่องการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าไว้หลายตอนในเรื่องพระทรมานนี้ ตัวอย่างเช่น (1) การที่พระองค์ได้รับการต้อนรับแบบกษัตริย์เมื่อแห่เข้ากรุงเยรูซาเล็ม (2) ฉากการสอบสวนของปีลาตต่อพระเยซูเจ้า เขาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” (3) คำพูดเยาะเย้ยของบรรดาทหาร “ข้าแต่ท่านกษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญเทอญ” (4) ป้ายที่ติดเหนือพระเศียรของพระองค์ เขียนข้อกล่าวหาพระองค์ไว้ว่า “นี่คือเยซูกษัตริย์ของชาวยิว” (5) คำเยาะเย้ยของผู้คนที่ผ่านไปมาที่กล่าวว่า “เขาเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงลงมาจากกางเขนเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะเชื่อ”

โดยแท้จริงแล้วการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า คือการถ่อมพระองค์ลงจนหมดสิ้น และการครองราชย์ของพระองค์ก็คือไม้กางเขนนั่นเอง นักเทววิทยาผู้หนึ่งเรียกพระเยซูเจ้าว่า “The Crucified God” (=พระเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน)

ถ้าจะถามว่าในสัปดาห์แห่งพระทรมานเราควรทำเช่นไร ขอตอบว่าเราต้องมีส่วนร่วมในพระทรมานของพระองค์ ให้เรายอมทนทุกข์กับพระองค์ เหมือนชาวเมือง Oberammergau ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้า หรือเหมือนกับ James Caviezel ที่รับบทพระเยซูเจ้าอย่างเต็มที่ อย่าเป็นเพียงผู้ดูพระทรมานของพระองค์อย่างห่างๆไกลๆ แต่จงมีส่วนในทุกๆฉาก จงมองดูและจงเห็น จงได้ยินและตั้งใจฟัง จงร้องตะโกนและจงเงียบ จงสัมผัสไปที่มงกุฎหนาม ดมกลิ่นเลือด ชิมรสฟองน้ำจุ่มเหล้าองุ่นเปรี้ยว เดินตามรอยพระบาทของพระมารดา เดินตามรอยเท้าของนักบุญเปโตร และนักบุญยอห์น และของมารีย์ ชาวมักดาลาด้วย และท้ายที่สุด จงรู้สึกเหมือนพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกทอดทิ้ง ทรงเปลือยเปล่า ทรงถูกสวมมงกุฎหนาม และทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน ได้ทรงเปล่งเสียงร้องว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” ซึ่งเสียงร้องของการถูกทอดทิ้งของพระเยซูเจ้านี้ ตรงกับบทสดุดีที่ 22 ที่เกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าทุเรศที่สุดของมนุษย์ “ฉันเป็นแต่เพียงตัวหนอน ไม่ใช่มนุษย์” (วรรค 6) มันสะท้อนเสียงร้องของผู้ที่ไม่เป็นผู้เป็นคนแล้ว เราต้องตรึง “ความเห็นแก่ตัว” “ความบาป” “การเติมเต็มด้วยตัวของตัวเอง” เพราะพระเยซูเจ้าผู้ทรงตรึงเรียกร้องให้เรา “ไม่เห็นแก่ตัว” “มีชัยต่อบาป” และ “ทำตัวตนให้ว่างเปล่า เพื่อให้พระองค์ทรงเข้ามาแทนที่”

ตัวอย่างหญิงคนหนึ่งเป็นแม่ของลูกเล็กๆ สองคน เธอป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธอเขียนจดหมายถึงพระสงฆ์องค์หนึ่งว่า “ความสัมพันธ์ของฉันกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกทอดทิ้งบนไม้กางเขนกลับแข็งแกร่งและงดงามมากจริงๆ และครอบครัวของฉันก็สงบเงียบอย่างน่าประหลาดใจ”

อีกตัวอย่างหนึ่งที่งดงามมากของการเป็นพยานถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า คือเรื่องของพระสงฆ์องค์หนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1997 ท่านถูกเฆี่ยนตี และถูกจับแห่อย่างเปลือยเปล่าไปในเมือง Dumka คือท่านถูกใส่ร้ายว่าประกอบอาชญากรรม แต่จริงๆแล้วท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านได้เขียนพรรณนาความรู้สึกของท่านไว้ดังนี้ “ฉันแทบไม่สามารถทนการถูกใส่ร้ายและความเจ็บปวดได้ จนกระทั่งทันใดนั้นที่ฉันรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงยอมรับทนทรมานทุกอย่าง และมากกว่านั้น มากกว่าฉันมากนัก… และดังนั้น ฉันก็ยอมรับมันได้”

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เรียบเรียงใหม่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2020
Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds
By : Francis Gonsalves, S.J.)