Skip to content

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา ปี C

"การสนทนาย่อมพิสูจน์นิสัยของมนุษย์ฉันนั้น" (บุตรสิรา)

เพื่อนคนหนึ่งของโซเครตีส (Socrates นักปราชญ์กรีกโบราณ ช่วงปี 469-399 ก่อนคริสต์กาล) วิ่งไปหาเขา และพูดว่า “ท่านโซเครตีส เคยได้ยินไหมว่า…” โซเครตีสตัดบทโดยถามสวนขึ้นว่า “เจ้าแน่ใจนะว่าสิ่งที่กำลังจะบอกฉันเป็นเรื่องจริง” เพื่อนตอบว่า “ไม่รู้สิ ฉันเพียงได้ยินมาจากคนอื่นๆ” โซเครตีสถามต่อว่า “มันเป็นเรื่องดีๆ ที่มาจากคนอื่นๆ หรือไม่” เพื่อนตอบว่า “ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ” เขาถามต่อไปว่า “ถ้างั้น สิ่งที่เจ้าจะบอกจะช่วยให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นใช่ไหม” เพื่อนตอบว่า “ไม่ใช่” โซเครตีสจึงกล่าวสรุปว่า “เพื่อนเอ๋ย เราอย่าไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องดี และไม่ทำให้เราดีขึ้นเลย”
.
บทอ่านแรกมาจากหนังสือบุตรสิรา (Book of Sirach = Ecclesiasticus) เตือนเราให้ระวังในการใช้คำพูด Ben Sira เป็นนักปราชญ์ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของโมเสส หนังสือของท่านถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการดำเนินชีวิตที่มีคุณธรรม มนุษย์เป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าสัตว์มาก เพราะพรสวรรค์ที่พระเจ้าทรงมอบให้ในการใช้คำพูด ซึ่งช่วยให้เราแสดงตัวตนของเราออกมาอย่างมีคุณค่าความหมาย ถึงอย่างนั้นก็ตาม พรสวรรค์ประการนี้บ่อยๆถูกใช้ในทางที่ผิดเพราะขาดการยับยั้งชั่งใจของเรา ข้อคำสอนต่างๆ ของ Ben Sira เช่น “การสนทนาย่อมพิสูจน์นิสัยของมนุษย์” “เมื่อคนหนึ่งพูด ความบกพร่องของเขาก็ย่อมปรากฏออกมา” และ “อย่าชมผู้ใดก่อนที่เขาจะพูด เพราะการพูดส่อนิสัยของมนุษย์” ล้วนเตือนเราเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาจากคำพูดของเรานั่นเอง เฉกเช่นเดียวกับการตัดสินต้นไม้ด้วยผลของมัน คนเราก็ถูกตัดสินด้วยคำพูดที่กล่าวออกมาฉันนั้น
.
เราจะพบคำเปรียบเทียบว่าต้นไม้ดีย่อมบังเกิดผลดีอีกครั้งในบทเพลงสดุดีที่ 92 เป็นบทเพลงสรรเสริญพระภารกิจอันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทรงมอบรางวัลให้แก่ผู้ชอบธรรมด้วยชีวิตที่ยาวนานและผลิดอกออกผล เหมือนดั่งต้นอินทผลัม หรือต้นสนสีดาแห่งเลบานอน
.
คำเปรียบเทียบที่ว่า “เราจะรู้จักต้นไม้แต่ละต้นได้จากผลของต้นไม้นั้น” ปรากฏอีกครั้งในภาคที่สองของพระวรสารประจำอาทิตย์นี้ นี่เป็นตอนต่อเนื่องจากพระวรสารโดยนักบุญลูกาตอน “บทเทศน์บนทุ่งราบ” ของพระเยซูเจ้า เป็นตอนต่อจากก่อนหน้านี้ที่พระองค์ทรงเตือนบรรดาศิษย์ว่า “คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดได้หรือ ทั้งคู่จะตกลงไปในคูไม่ใช่หรือ” คำเตือนนี้มุ่งไปยังบรรดาผู้นำกลุ่มคนโดยตรง ผู้ซึ่งคอยแต่จะหาความผิดของผู้อื่น แทนที่จะตระหนักถึงความผิดและความล้มเหลวของตนเอง เราอาจสรุปว่าพระวรสารวันนี้เน้นเป็นพิเศษถึงบรรดาผู้นำคริสตชนให้เฝ้าระมัดระวังคำพูด เพื่อว่าพวกเขาจะได้ก้าวเดินพร้อมกับคำพูดที่มีประสิทธิผล
.
บทอ่านที่สองมาจากจดหมายฉบับแรกของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเตือนใจชั้นยอด “จงออกแรกทำงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้มากยิ่งขึ้นเสมอ ท่านรู้อยู่แล้วว่า งานหนักของท่านไม่สูญเปล่า” เราทุกคน และโดยเฉพาะบรรดาสมณะ ถูกเรียกให้มาทำงานกับพระองค์ในการเผยแผ่พระอาณาจักรของพระเจ้า กล่าวคือ การถูกเรียกให้มา “เทศน์สอนพระวาจา” พร้อมทั้ง “เป็นดังเช่นพระวาจา” นั้นด้วย
.
ดังนั้น ก่อนทำการเทศน์สอน พระสงฆ์ทุกองค์ต้องอ่านพระวาจานั้นก่อนเป็นอย่างดี ต่อจากนั้น ให้รำพึงพระวาจาของพระในรูปแบบการภาวนาแบบเงียบๆ การใช้เวลาเงียบๆ จำเป็นสำหรับพวกเขาที่จะทำให้รับรู้พระวาจาของพระ และจะได้รับเปลี่ยนแปลงโดยพระวาจานั้น ประการต่อมา เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ทุกองค์ และคริสตชนทุกคนด้วยที่จะประกาศพระวาจา และเป็นพยานยืนยันถึงพระวาจา โดยการเป็นหนึ่งเดียวกับพระวาจานั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะผลิตผลที่งดงามของการเป็นศาสนบริการของพระวาจา
.
เนื่องจากเราเริ่มต้นกับโซเครตีส เราจะจบโดยประยุกต์คำของท่านมาเป็นบทสรุปจากสิ่งที่เราพูดกันมาดังนี้ “ธรรมชาติได้ให้เรามีสองหู สองตา แต่หนึ่งลิ้นเท่านั้น ดังนั้น เราควรฟังและมองดูมากกว่าพูด” ขอให้ถ้อยคำของเราเต็มไปด้วยความจริง ความดี และให้ชีวิต อันจะก่อให้บังเกิดผลอุดมที่คงอยู่เสมอไป
.

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2019
Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds, เขียนโดย Francis Gonsalves, S.J.)