

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา ปี A
เด็กชายตัวน้อยกำลังเตะตุ๊กตาเล่น จริงๆ แล้วเป็นตุ๊กตาเก่าๆ ดำๆ มืดๆ มองดูเหมือนเป็นแค่เศษผ้า แต่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพยายามจะมายื้อแย่งเอาตุ๊กตานี้คืนไป เธอตะโกนว่า “อย่าเตะมัน มันเป็นตุ๊กตาของฉัน มันชื่อมะลิ มันชื่อมะลิ” แต่เด็กชายยังคงเตะต่อไป พร้อมตะโกนตอบว่า “มันไม่ใช่มะลิ มันเป็นของเน่าๆ ชิ้นหนึ่ง มันเป็นขยะ”
อีกเหตุการณ์หนึ่ง มีฝูงชนกำลังทำร้ายชายคนหนึ่งกลางถนน มีตำรวจเข้ามาช่วยไว้ได้ทันท่วงที คนที่ถูกทำร้ายเป็นขโมย เขาถูกทำร้ายสะบักสะบอม และถูกตัดนิ้วออกไปหนึ่งนิ้วก่อนที่ตำรวจจะมาช่วยชีวิตเขาได้ทัน
และมีเหตุการณ์ที่หญิงสาวคนหนึ่งกลับออกมาจากโรงแรมแต่ถูกจับตัวโดยคนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาปลดเปลื้องเสื้อผ้าเธอ จับตัวชูขึ้นเพื่อให้เธออับอาย กลายเป็นตัวอะไรที่น่าเกลียด น่าเหยียดหยาม ผู้หญิงที่สวยงามที่มีทั้งกายและจิตวิญญาณซึ่งถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า ถูกโยนขึ้นไปบนอากาศเหมือนกับลูกบอลที่ถูกผลักออกไปจากทุกๆ คน
เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้แหละที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงในพระวรสารของวันนี้
ตรัสว่าอย่าทำให้พี่น้องผู้ชายของท่านกลายเป็น “ไอ้โง่” อย่าทำให้พี่น้องหญิงของท่านเป็นเพียงแค่ “สิ่งของ”
ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ เคยเกิดเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และการปกครองตนเอง คนมากมายถูกทำทารุณกรรม กลายเป็นคนพิการ และถูกฆ่า ทำให้บรรดาแพทย์ นักจิตวิทยา และนักบำบัดทางจิตวิทยาเกิดความสงสัยว่า พฤติกรรมที่เป็นแบบอมนุษย์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
พวกเขาศึกษาและค้นพบว่า คนทั่วไปจะไม่ทำร้ายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อเหล่านั้นทันที ต้องมีกระบวนการที่มาก่อนหน้านั้น เช่นก่อนที่ทหาร ตำรวจ หรือฝูงชน จะเริ่มชกต่อย ตบตี ก่อนที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้พวกเขาต้องประกาศออกมาก่อนว่าเหยื่อของเขาไม่ใช่มนุษย์
เช่นพวกเขาจะตะโกนว่า “ไอ้หมูสกปรก” “ไอ้สุนัขรับใช้” “ไอ้หนอนหน้าจืด” “ไอ้ตัวแมลง” แล้วนั้นพวกเขาจึงสามารถต้มยำทำแกงและฆ่าเหยื่อได้
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า อย่าทำเช่นนั้น แต่จงเคารพผู้อื่น อย่าทำต่อผู้อื่นเหมือนเป็นเพียงสิ่งของ แต่จงเห็นเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่เหมือนๆ กับเรา
และต่อไปนี้เป็นคำสอนที่สมบูรณ์ครบครันของพระเยซูเจ้า ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า พระองค์ทรงมาทำให้บทบัญญัติเดิมสมบูรณ์ไป
“ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น”
เหมือนกับว่า ถ้าท่านจะมาถวายเครื่องบูชา แต่ยังปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องเป็นเพียงสิ่งของ ก็ควรจะต้องกลับไปทำการบ้านเสียก่อน คือยอมรับให้ได้เสียก่อนว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีภาพลักษณ์ของพระเจ้า และเป็นพี่เป็นน้องของเรานั่นเอง
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011)
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011)
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา ปี A
"เรามิได้มาเพื่อลบล้าง แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์"
พระวรสารของนักบุญมัทธิวประจำวันอาทิตย์นี้ เนื้อความก็ต่อเนื่องมาจากพระวรสารที่เราได้ฟังมาสองอาทิตย์แล้ว ยังอยู่ในหมวดคำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูเจ้านั่นเอง ในอาทิตย์นี้พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า พระองค์มิได้มาเพื่อลบล้างบทบัญญัติต่างๆ ที่ถือกันมาในพันธสัญญาเดิม ที่ยอมรับกันว่าเป็นกฎของโมเสส แต่พระองค์จะทรงปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ไม่ถือตามตัวอักษร แต่ถือโดยจิตตารมณ์เพื่อความครบสมบูรณ์มากขึ้น นักบุญมัทธิวต้องการชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นโมเสสคนใหม่ ที่มีอำนาจเหนือกว่าโมเสสในพันธสัญญาเดิม
มีเรื่องน่าสนใจว่า นักบุญมัทธิวผู้นิพนธ์พระวรสารนี้อาจจะเป็นธรรมาจารย์มาก่อน เราลองมาพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับท่านดีกว่า เพราะจะทำให้เราเข้าใจพระวรสารที่ท่านนิพนธ์ขึ้นมามากขึ้น
นักบุญมัทธิว เป็นชาวยิวที่กลับใจมาเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า ท่านเขียนพระวรสารราวปี ค.ศ. 80 ขณะที่กำลังอาศัยอยู่ในเขตดินแดนซีเรีย จุดประสงค์ในการเขียนพระวรสารคือเขียนเพื่อชาวยิวที่กลับใจมาเป็นคริสตชน ท่านจึงมักอ้างข้อความจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เพราะชาวยิวจะรู้จักเป็นอย่างดี และจะบอกต่อไปว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่ทำให้คำพยากรณ์ หรือคำทำนายต่างๆ เหล่านั้นสำเร็จไป
แต่ในขณะที่เขียนพระวรสาร ก็มีผู้ที่กลับใจมาเป็นคริสตชนไม่เพียงเฉพาะชาวยิว แต่ยังมีคนต่างศาสนาอีกด้วย นั่นหมายความว่า พวกที่เป็นชาวยิวก็จะเคารพกฎหมายของโมเสส ส่วนพวกที่เป็นคนต่างศาสนาก็จะถือธรรมประเพณีของตน ท่านก็พยายามให้ทั้งสองกลุ่มรวมตัวกัน ในห้วงเวลานั้นใครก็ตามที่เป็นคริสตชน ต้องเผชิญหน้ากับการถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากหัวหน้าพวกยิว พวกเขากล่าวหาว่า คำสอนของพระเยซูเจ้าทำลายสิ่งที่รุ่งเรืองในกฎของศาสนายิว
ในปี ค.ศ. 85 มีบทสวดหนึ่งในศาลาธรรมเป็นการสาปแช่งอย่างเป็นทางการถึงทุกคน(โดยเฉพาะชาวยิว)ที่เป็นคริสตชน ที่ไปเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์ และพวกยิวที่ไปเป็นคริสตชนจะถูกขับไล่ออกจากศาลาธรรม และเบื้องหลังของการขับไล่นี้ เกิดจากการยุยงของพวกฟาริสี
มีข้อสันนิษฐานว่านักบุญมัทธิวอาจจะเป็นธรรมาจารย์มาก่อน เพราะท่านค่อนข้างให้ความเคารพต่อกฎหมาย และให้ความเคารพต่ออำนาจของพวกธรรมาจารย์และฟาริสีอีกด้วย ลองสังเกตข้อความที่ท่านเขียนในพระวรสารบางตอน ดังนี้
“พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด” (มธ 23 : 2-3)
แต่ท่านก็เป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับพวกที่ต่อต้านพระเยซูเจ้า
“วิบัติจงเกิดแก่ท่านธรรมาจารย์และฟาริสีหน้าซื่อใจคด ท่านเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อทำให้คนเพียงคนเดียวกลับใจ เมื่อเขากลับใจแล้ว ท่านก็ทำให้เขาสมควรจะไปนรกมากกว่าท่านสองเท่า” (มธ 23 : 15 ff)
และนักบุญมัทธิวอาจจะเขียนถึงตนเองในพระวรสารตอนหนึ่งของท่านที่บอกว่า
“พระองค์ตรัสว่า ดังนั้น ธรรมาจารย์ทุกคนที่มาเป็นศิษย์แห่งอาณาจักรสวรรค์ ก็เหมือนกับเจ้าบ้านที่นำทั้งของใหม่และของเก่าออกจากคลังของตน” (มธ 13:52)
ดังนั้น จะเห็นได้ชัดเจนในพระวรสารของนักบุญมัทธิว ท่านต้องการแสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้ามิได้เสด็จมาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก แต่ทรงมาทำให้ครบสมบูรณ์ต่างหาก นักบุญมัทธิวแสดงให้เราเห็นความต่อเนื่องกับธรรมเนียมโบราณ โดยใช้สำนวนโวหารว่า
“ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล…”
“ท่านได้ยินคำกล่าวที่ว่า อย่าล่วงประเวณี แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงด้วยความใคร่ ก็ได้ล่วงประเวณีกับนางในใจแล้ว…”
ฯลฯ
กล่าวคือ นอกจากพระเยซูเจ้าได้ทรงสอนให้เคารพกฎหมาย แต่ทรงเพิ่มความหมายให้กว้างไกลไปกว่านั้น โดยสรุปแล้วนักบุญมัทธิวต้องการยืนยันว่า อำนาจของพระเยซูเจ้า ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจของโมเสส
ขอแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของโมเสสที่บันทึกไว้ในศตวรรษที่ 3 พวกรับบีบอกว่า โมเสสได้ให้ข้อห้ามไว้ 365 ข้อ และบอกให้ทำอีก 248 ข้อ จะเห็นว่ามีข้อห้ามมากมายก่ายกอง ยากที่จะถือตามได้หมด ลองดูตัวอย่างเรื่องนี้นะครับ
เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่คุณพ่อมิชชันนารีคนหนึ่งกำลังอธิบายคำสอนคริสตังจากง่ายไปหายากให้หัวหน้าชนเผ่าคนหนึ่งฟัง มิชชันนารีเน้นเรื่อง “ห้ามทำโน่น นี่ นั่น” มากกว่าจะบอกว่า อะไรทำได้บ้าง หัวหน้าชนเผ่าผู้นั้นสงสัยหลายเรื่อง จึงถามคุณพ่อมิชชันนารีผู้นั้นว่า – “คุณพ่อหมายความว่า ผมต้องไม่รับเอาภรรยาของเพื่อนบ้าน มาเป็นภรรยาของผมใช่ไหม” – “ถูกต้อง”
– “และต้องไม่ไปลักขโมยแกะ หรือฝูงสัตว์ของคนอื่นใช่ไหม” – “ใช่แล้ว”
– “และต้องไม่ฆ่าฟันคู่แข่งหรือหัวหน้าเผ่าอื่นๆ” – มิชชันนารีพยักหน้า
– “ถ้าอย่างนั้น…(หัวหน้าเผ่านิ่งคิดอยู่ชั่วครู่) ผมคงจะเป็นคริสตชนที่ดีได้เลย เพราะผมแก่มากแล้ว แก่เกินที่จะไปทำสิ่งต่างๆเหล่านี้”
เรื่องนี้สอนว่า บ่อยๆที่เราลดคุณค่าของการเป็นคริสตชนด้วยการร่ายยาวรายชื่อสิ่งที่ห้ามกระทำ จนลืมว่าแก่นแท้ของความเป็นคริสตชนอยู่ที่จิตตารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังของกฎหมายต่างหาก
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เรียบเรียงใหม่ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020
Based on : Seasons of the Word ; by : Denis McBride)