
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา ปี C
ชายชราที่ยึดมั่นในตนเองคนหนึ่งได้บอกกับเพื่อนๆของเขาหลังจากสงครามสิ้นสุดลงแล้วว่า “พระเจ้าทรงดีต่อฉันเป็นอย่างยิ่ง ฉันได้ภาวนาเป็นอย่างมากขอให้ลูกระเบิดทั้งหลายไปตกทางด้านอื่นของเมือง” หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งโกรธมากเมื่อรู้ว่าญาติๆของเธอลืมเชิญเธอไปร่วมงานปิกนิกของครอบครัว แต่พอถึงเช้าวันนั้นจริงๆ พวกเขาก็นึกขึ้นมาได้ และเชิญเธอเดี๋ยวนั้นเลย เธอตอบว่า “สายไปแล้วที่จะมาเชิญตอนนี้ เพราะฉันได้ภาวนาตลอดเวลาให้ฝนตกลงมา” พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ในพระวรสารของวันอาทิตย์นี้ว่า “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย”
.
ในการภาวนาที่มีแบบหลายหลากนั้น ที่เรานิยมทำกันมากที่สุด คือ คำภาวนาวอนขอ หรือ คำภาวนาแบบขอร้อง คือเราขอพระเจ้าประทานบางสิ่งให้กับบางคน เช่น เราสวดขอให้เพื่อนๆของเรามีงานดีๆทำ หรือขอพระประทานกำลังที่เข้มแข็งให้กับกับพ่อแม่ที่ชราภาพ หรือสวดให้ลูกๆหลานๆพบคู่ครองที่ดี ฯลฯ ถ้าเราแต่ละคนลองพิจารณาย้อนกลับไปว่าเราสวดอย่างไร อาจจะพบว่าการภาวนาของเราเป็นแบบคิดถึงแต่ตัวเอง และจุดหมายอยู่ในกรอบแค่ตัวเอง หรือความสุขของครอบครัว เพื่อนๆ และกลุ่มคณะของเรา พูดอีกนัยหนึ่ง ไม่ดีไปกว่าเด็กตัวน้อยๆที่แสวงหาแต่ความสบายเข้าตัว และต้องการให้ทุกๆคนทำตามใจของเขา สรุปว่า ในการภาวนาของเราแทนที่จะให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า กลับเป็นไปในทำนองที่ว่า “พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงทำตามใจข้าพเจ้าจะดีกว่า”
.
ในบทอ่านที่หนึ่ง เราเห็นภาพของโมเสสยกมือขึ้น (= การภาวนา) วอนขอพระเจ้าให้ชาวอิสราเอลมีชัยชนะเหนือชาวอามาเลข เนื่องจากเส้นทางการเดินทางของชาวอิสราเอลจากอียิปต์ไปสู่ดินแดนแห่งพระสัญญานั้น จะต้องผ่านเขตแดนของกลุ่มชนเจ้าของท้องถิ่นต่างๆมากมาย ชาวอามาเลขก็เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมให้ชาวอิสราเอลเดินผ่านไปถึงดินแดนแห่งพระสัญญา ดังนั้น ดุจดังเช่นในครั้งก่อนที่โมเสสยกมือขึ้นเพื่อทำให้น้ำในทะเลแดงแยกออกเป็นทางเดินให้ชาวอิสราเอลก้าวข้ามไป (เทียบ อพย 14:16, 21, 26) และอีกครั้งที่ยกไม้เท้าตีก้อนหินให้มีน้ำไหลออกมาในถิ่นทุรกันดาร (เทียบ อพย 17:5-6) ครั้งนี้โมเสสก็ได้ยกมือขึ้นเพื่อภาวนา และอัศจรรย์ยิ่งนัก แขนที่ยกขึ้นของโมเสส ส่งผลให้ชาวอามาเลขพ่ายแพ้
.
เราต้องเข้าใจเรื่องการยกมือขึ้นของโมเสสในบริบทที่ว่า เป็นการกระทำของพระเจ้าเพื่อปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระ พวกเขาเคยเป็นทาสและได้รับความอยุติธรรมอย่างมาก ดังนั้น พระเจ้าได้ทรงเดินพร้อมกับพวกเขาไปสู่อิสรภาพ มากกว่านั้นด้วยความร่วมมือของอาโรนและเฮอร์ ที่ช่วยประคองมือของโมเสสไว้คนละข้าง ผนวกกับพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า ทำให้เหมือนมีกำลังอาวุธครบครันให้ชาวอิสราเอลสู้รบต่อต้านชาวอามาเลข จนได้รับชัยชนะในที่สุด
.
ในขณะที่บทอ่านแรกพูดในมิติของการภาวนาที่เป็นแบบกลุ่มคณะ ในพระวรสารเล่าเรื่อง “ผู้พิพากษาอธรรม” ผู้ที่ในที่สุดก็ได้ให้ความยุติธรรมแก่หญิงม่าย เพียงเพราะว่าเธอรบเร้าอยู่ตลอดเวลา การเป็นหญิงม่าย หมายถึงเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงรักมากเป็นพิเศษ เราจะพบในพระคัมภีร์ว่าพระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ต่อพวกที่กำพร้า หญิงม่าย และคนต่างด้าว คำถามในตอนสุดท้ายของพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงฟังผู้พิพากษาอธรรมคนนั้นพูดสิ (= ฉันจะให้นางได้รับความยุติธรรมเสียที) แล้วพระเจ้าจะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ”
.
เราได้ยกมือขึ้นภาวนาต่อพระเจ้า เพื่อขอให้ทรงโปรดปรานเรา หรือเพื่อสรรเสริญพระองค์ หรือเพื่อยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์ การภาวนาที่แท้จริงเรียกร้องให้เรายกมือขึ้น ขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงรู้ว่าอะไรจำเป็นต่อเราก่อนที่จะวอนขอเสียอีก โดยแท้จริงแล้ว มากกว่าการที่โมเสสยกมือขึ้นภาวนา เรามีพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงกางพระหัตถ์ภาวนาไม่เฉพาะขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เท่านั้น แต่ในขณะที่ทรงยอมถูกแขวนไว้บนไม้กางเขนของพระองค์ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะไม่ล้มเหลว ถ้าเรายกมือขึ้นภาวนาด้วยการยอมจำนนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความไว้วางใจในพระองค์
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา ปี C
“จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย”
มีเรื่องเล่าว่า คุณครูสตรีผู้หนึ่งเพิ่งจะเข้าทำการสอนได้ไม่นาน เธอตั้งใจอย่างมากในการสอน และหวังจะให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการสอน
แต่เธอพบว่า มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งเกเร คอยขัดคำสั่งของเธอ ทำให้เธอไม่ค่อยสบายใจนัก ที่เขาทำตัวเป็นอุปสรรคและอาจจะมีผลต่อความสำเร็จในการสอนของเธอ
เช้าวันเรียนวันหนึ่ง คุณครูคนนั้นกำลังนั่งเขียนอะไรบางอย่างที่โต๊ะครูในห้องเรียน ก่อนเวลาเข้าเรียน เด็กเกเรคนนั้นก็เข้ามาป่วนคุณครูถามว่า “คุณครูกำลังเขียนอะไรครับ” ครูตอบว่า “กำลังเขียนบทภาวนาขอพระเจ้า” แต่เนื่องจากเธอเขียนแบบย่อๆ หรือแบบชวเลข เด็กจึงถามต่อว่า “พระเจ้าจะอ่านเข้าใจภาษาชวเลขหรือ” ครูตอบว่า “พระเจ้าทรงทำได้ทุกสิ่ง แม้แต่จะตอบสนองตามที่ครูขอไป” แล้วก็เก็บบทสวดนั้นไว้ในหนังสือพระคัมภีร์ของเธอ
ในขณะที่ครูหันไปเขียนบนกระดานเพื่อเตรียมการสอน เด็กคนนั้นก็แอบเอากระดาษที่ครูเขียนบทภาวนานั้นซ่อนไว้ในกระเป๋าของเขาเอง
เวลาผ่านเลยไป 20 ปี เด็กนั้นซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ค้นพบกระดาษแผ่นนั้นโดยบังเอิญ มันถูกเก็บอยู่ในกล่องของใช้ของเขาซึ่งแม่เขาเก็บไว้ให้ เขาพบว่ากระดาษนั้นเก่า สีซีด แต่ยังมีตัวหนังสือแบบชวเลขอยู่ วันรุ่งขึ้น เขานำไปให้เลขาฯ ของเขาช่วยแปลความว่าคืออะไร เลขาฯ แปลเสร็จแล้วบอกว่า “มันเป็นเรื่องค่อนข้างส่วนตัว ไม่อยากพูดออกมา แต่จะพิมพ์ให้ไปอ่านดูแล้วกันว่าเป็นอย่างไร” ข้อความมีดังนี้
“ข้าแต่พระเจ้า โปรดอย่าให้ดิฉันล้มเหลวกับงานสอนครั้งนี้
ดิฉันไม่อาจควบคุมห้องเรียนนี้ได้ดี เพราะมีเด็กคนหนึ่งคอยขัดขวาง
โปรดสัมผัสใจของเขา เพราะเขาเป็นคนที่อาจจะเป็นคนดีมาก หรือเลวมากก็ได้เท่าๆ กัน”
ประโยคสุดท้ายกระทบใจเขาอย่างจัง เพราะไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้เขาถูกประจญให้ตัดสินใจทำในสิ่งที่จะนำความชั่วร้ายมาสู่ชีวิต เขาจึงเก็บบทสวดนั้นไว้ในกระเป๋า และนำออกมาอ่านอีกหลายๆ ครั้ง กล่าวโดยสรุป บทสวดนั้นช่วยให้เขาไม่แพ้การประจญ ช่วยให้เขาไม่ก้าวไปสู่วังวนของความชั่วร้าย ต่อมาเขาแสวงหาครูคนนั้น เพื่อบอกเธอว่าคำภาวนาของเธอในครั้งนั้น พระเจ้าทรงสดับฟังแล้ว
เรื่องนี้ เป็นเรื่องเล่าสมัยใหม่ ถ้าจะเปรียบกับเรื่องอุปมาของพระเยซูเจ้า เรื่องหญิงม่ายที่ไปรบเร้าผู้พิพากษาเพื่อให้ความยุติธรรมแก่เธอสู้กับคู่ความนั้น เปรียบกันไม่ได้เลย เรื่องของพระเยซูเจ้าคลาสสิกกว่าเยอะ แต่ก็มีบทสอนหลายมุมที่เหมือนๆ กัน
ประการแรกสอนเราว่า คำภาวนามีฤทธิ์อำนาจที่ยิ่งใหญ่ ผู้พิพากษาคนนั้น ตอนแรกๆ ไม่ฟังหญิงม่าย และไม่ยอมตัดสินความให้ด้วย แต่เพราะถูกลูกตื้อของหญิงม่ายที่มาทุกวัน มาร้องขอถี่มากขึ้นๆ จนผู้พิพากษาทนไม่ไหว จึงยอมตัดสินความให้ แต่พระเจ้าของเราพระทัยดียิ่งนัก จะทรงสดับฟังคำภาวนาของเราอย่างแน่นอน
ประการที่สองสอนเราให้ภาวนาอยู่เสมอ ให้เราเป็นมนุษย์ภาวนา เลียนแบบอย่างพระเยซูเจ้า การภาวนาอย่างถูกต้องและภาวนาอย่างสม่ำเสมอนั้น พระเจ้าจะทรงตอบสนองอย่างแน่นอน แต่ในข้อนี้ ต้องระวังไว้นิดหนึ่ง คือ อย่าเป็นคนใจร้อนต่อผลตอบรับ คนสมัยปัจจุบันมักจะคิดแบบรวบรัดเบ็ดเสร็จ เช่น ถ้าทำเช่นนี้ ต้องได้ผลเช่นนั้นในเวลาที่ทันท่วงที แต่นี่เป็นกิจกรรมของพระ นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ พระเจ้าจะทรงตอบสนอง คำภาวนาของเราตามเวลาของพระองค์ และในวิถีทางของพระองค์
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2010
Based on : Illustrated Sunday Homilies – Year C
by : Mark Link, SJ)