
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา ปี C
พระวรสารของนักบุญลูกาสำหรับวันอาทิตย์นี้มีข้อคำสอนมากมายให้เรานำไปปฏิบัติตาม
“จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน… จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน… จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงเมตตากรุณาเถิด อย่าตัดสินเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน อย่ากล่าวโทษเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน จงให้อภัยเขา แล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน”
ข้อคำสอนหลายๆ ข้อของพระเยซูเจ้าทำให้เราระลึกถึงกฎของเสียงสะท้อนกลับ (law of the echo) กฎนี้กล่าวว่าถ้าเราตะโกนในห้องที่มีเสียงสะท้อนกลับ เสียงตะโกนนั้นก็จะกลับมาหาเรา ถ้าเราตะโกนด่าหรือกล่าวคำสาปแช่ง คำสาปแช่งนั้นก็จะกลับมาหาเรา ถ้าเราร้องเพลงออกไป บทเพลงนั้นก็จะกลับมาหาเรา
กฎของเสียงสะท้อนกลับสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตของคนเราได้ พูดง่ายๆ ว่า ในชีวิตของคนเรานั้น เราจะได้รับกลับมา ในสิ่งที่เราได้ให้ไป ซึ่งในพระวรสารของวันนี้ในหลายๆ ประโยคได้พูดให้เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น “จงให้อภัยเขา แล้วพระเจ้าจะทรงให้อภัยท่าน จงให้ แล้วพระเจ้าจะประทานแก่ท่าน”
หลายๆ คนเกลียดชังคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่เราถือว่าเป็นศัตรูของเรา ก็อาจจะรู้สึกว่าคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ให้รักศัตรูนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิบัติยากเหลือเกิน แต่การอยู่ในโลกแห่งความเกลียดชัง การไม่รู้จักให้อภัย ก็จะทำให้จิตใจของเรามีแต่ความร้อนรุ่มดังถูกไฟสุม ไม่มีวันที่จะพบกับความสุขในชีวิต เพราะจิตใจถูกครอบงำด้วยความรู้สึกนึกคิดในด้านลบ เสียงสะท้อนของคำว่า เกลียด เกลียด เกลียด เกลียด ก็จะวนเวียนอยู่ในชีวิตของเราและบดบังความสุขในชีวิตของเรา
แต่ถ้าเรารู้จักปลดปล่อยมันออกไป รู้จักตะโกนก้องร้องเพลงแห่งความรัก และการให้อภัยออกไป เราก็จะได้รับความรัก ความสงบ และสันติสุขในจิตใจกลับคืนมา และเราจะพบว่าพระเจ้าทรงอภัยความผิดต่างๆ ของเราด้วย และบันดาลความสุขให้เกิดขึ้นกับเราอย่างแท้จริง
ให้เราจบด้วยบทภาวนา ดังนี้
“พระเจ้าข้า เมื่อลูกต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง โปรดเตือนใจให้ลูกระลึกถึง “กฎของเสียงสะท้อนกลับ”
โปรดเตือนให้ลูกระลึกว่า อะไรก็ตามที่จะได้รับเข้ามาในชีวิตขึ้นอยู่กับสิ่งที่ลูกให้ไป ถ้าลูกรู้จักให้อภัย ก็จะได้รับการอภัย ถ้าลูกรู้จักรักผู้อื่น ก็จะได้รับความรักตอบแทน ถ้าลูกร้องเพลงให้ผู้อื่น ก็จะได้รับฟังเพลงจากผู้อื่นเช่นกัน โปรดให้ลูกตระหนักว่า อะไรที่ลูกหว่านลงไป ก็จะเก็บเกี่ยวได้ผลอย่างนั้น”
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา ปี C
หญิงคนหนึ่งทราบข่าวว่าสมาชิกในครอบครัวเธอหลายคนถูกฆาตกรรม เธอพูดกับลูกสาวคนที่รอดชีวิตพร้อมกับเธอว่า “เราจะยกโทษให้คนที่ฆ่าพวกเรา ใช่ไหมลูก” ลูกสาวตอบว่า “ใช่จ๊ะ เราจะยกโทษให้” สองอาทิตย์ต่อมามีคนพบเธอกับลูกสาว เขาพูดว่า “ฉันไม่เข้าใจเลยว่า คุณสามารถให้อภัยได้อย่างไร” ต่อมาลูกสาวของเธอพูดกับเธอว่า “แม่คะ ลูกไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาไม่สามารถเข้าใจว่าเราให้อภัยได้อย่างไร” จากคำพูดของลูกเช่นนี้ ทำให้ผู้เป็นแม่เข้าใจว่าคำสั่งสอนของพระคริสต์ได้เข้าไปอยู่ในส่วนลึกของลูกสาวเธอ นี่คือตัวอย่างคำพูดของสตรีคนหนึ่งที่ได้สอนเราด้วยบทเทศน์ที่มีพลังอำนาจเรื่องของ “การให้อภัย” ในประเทศอินเดีย เธอมีชื่อว่า Gladys Staines ส่วนลูกสาวชื่อว่า Ester Staines
นักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา ก็ได้ส่งสารที่น่าประทับใจเป็นเสมือนบทเทศน์ของการให้อภัย ในวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 เมื่อพระองค์ทรงวางหัวกระสุน 2 ลูกที่คนร้ายใช้ยิงพระองค์มอบให้แด่พระแม่แห่งฟาติมา ทรงกล่าวว่า “โปรดภาวนาสำหรับพี่น้องของฉัน อาลี อัคกา (Ali Agca = ผู้ลอบปลงพระชนม์พระองค์) ผู้ซึ่งฉันได้ให้อภัยต่อเขาอย่างจริงใจ”
นี่เป็นสองตัวอย่างของคนที่มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระวรสารประจำวันอาทิตย์นี้ที่ว่า “จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน… จงให้อภัยแก่เขา”
บทอ่านแรกเล่าเรื่องของดาวิดที่ได้ไว้ชีวิตของกษัตริย์ซาอูลทั้งๆที่มีโอกาสจะฆ่าได้ง่ายๆ และในเวลานั้นกษัตริย์ซาอูลก็กำลังตามไล่ล่าเพื่อจะฆ่าดาวิด เรื่องเหล่านี้ทำให้เราเห็นความใจกว้างของดาวิดในการให้อภัยต่อศัตรู ที่จริงในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมจะเน้นมากเรื่องความยุติธรรม การลงโทษตอบแทนให้สมกับความผิด แต่การกระทำของดาวิดต้องบอกว่าเหนือความธรรมดา เป็นความพิเศษ แต่…พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องมากกว่านั้น
พระเยซูเจ้าไม่เพียงทรงเทศน์สอนว่า “จงอดทน หรือ จงไว้ชีวิตศัตรู” แต่ “จงรักศัตรู” คำสอนนี้ไปไกลกว่าเรื่องความยุติธรรมเป็นอย่างมาก คำสั่งของพระเยซูเจ้าดูเหมือนให้เราเป็น “ยอดมนุษย์” ใช่แล้ว… พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้ “ความรัก” และ “ความเมตตากรุณา” ของเรายกจาก “ระดับธรรมชาติ” ให้สูงขึ้นไป เพื่อให้สะท้อนถึงความดีของพระเจ้า ดังที่ตรัสว่า “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด”
การให้อภัย มีรากฐานมาจากความจริงขั้นพื้นฐานที่ว่า พระเจ้าทรงรักเรามากจนกระทั่งทรงอภัยบาปทั้งหมดของเรา การให้อภัยนำมาซึ่งการเยียวยารักษา ถ้าเรามีบางสิ่งที่ต่อต้านหรือตรงข้ามกับคนอื่นและเราให้อภัยเขา ความขมขื่นก็จะหายไปจากเรา การให้อภัยจะทำให้ทั้งผู้ให้และรับการอภัยเป็นอิสระทั้งคู่
ในบทการให้สัมภาษณ์ Gladys Staines ได้อธิบายว่า “ฉันให้อภัยได้อย่างไรน่ะหรือ จากความจริงที่ว่าฉันเองก็เป็นคนบาป ฉันต้องการให้พระเยซูเจ้าทรงให้อภัยฉัน เพราะว่าฉันได้รับการให้อภัยในชีวิตฉันเอง ฉันจึงสามารถให้อภัยคนอื่นได้ด้วย” ในการสารภาพอย่างจริงใจเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าเธอเข้าใจวิถีของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และการที่เธอพยายามยกระดับให้มีความคล้ายคลึงใกล้ชิดพระเจ้ามากที่สุด เพราะว่าการทำผิดเป็นวิสัยของมนุษย์ ส่วนการให้อภัยเป็นวิสัยของพระเจ้า
(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2019,
Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds, เขียนโดย Francis Gonsalves, S.J.)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สาส์นจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสครบรอบ 58 ปี ของวันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียก
- สมเด็จพระสันตะปาปาในคืนคริสต์มาส: พระเยซูเจ้าทรงแสดงทางจากความเล็กน้อยไปสู่ความยิ่งใหญ่
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำบทเพลงขอบพระคุณพระเป็นเจ้า (Te Deum):
ขอให้คริสต์มาสนำไปสู่ความกตัญญูและความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน - สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”