
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 18 เทศกาลธรรมดา ปี B
มานนาที่หล่นลงมาในทุกๆวัน (The Manna falls everyday)
Arthur Tonne ได้เล่าเรื่องเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Winston Churchill ว่าดังนี้ “ครั้งหนึ่งเชอร์ชิลล์ได้ไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งแถบย่านเวสต์ เอนด์ (West End) ของกรุงลอนดอนในตอนบ่ายที่ท่านจะต้องพูดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ท่านออกมาจากการพบเพื่อนค่อนข้างช้าไปหน่อย จึงรีบเรียกรถแท็กซี่และก่อนที่จะเข้าไปนั่ง ท่านบอกคนขับว่าให้ไปที่สถานีกระจายเสียงของ BBC แต่คนขับบอกว่า “ท่านต้องไปขึ้นแท็กซี่คันอื่นครับ เพราะผมไม่สามารถไปไกลถึงเพียงนั้นได้” ท่านนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์รู้สึกแปลกใจมาก จึงถามคนขับว่าทำไมเขาจึงจำกัดระยะทางสั้นๆ ไม่ยอมขับไปไกลๆ คนขับตอบว่า “ท่านเชอร์ชิลล์กำลังจะพูดออกอากาศภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงนี้ และผมต้องการกลับบ้านให้ทันเพื่อจะเปิดฟัง” คำตอบนี้ทำให้เชอร์ชิลล์มีความพอใจ และเขาก็ควักธนบัตรเงินปอนด์ออกมา คนขับรถแท็กซี่เหลือบมองธนบัตรใบนั้น และพูดว่า “เข้ามาในรถเถิดครับท่าน ผมไม่สนใจแล้วว่าเชอร์ชิลล์จะพูดอะไร”
คำชมเชยของคนขับรถแท็กซี่ที่มีต่อเชอร์ชิลล์อาจจะทำให้เขาพึงพอใจในคำป้อยอนั้น แต่อย่างไรก็ดี กลับกลายเป็นว่าเงินต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่ตัวเขาเป็นเสียอีก นี่เป็นไปในทำนองเดียวกันกับท่าทีของฝูงชนที่เฝ้าติดตามพระเยซูเจ้าในพระวรสารของวันนี้ พวกเขาอาจจะมีความพึงพอใจในพระเยซูเจ้าเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์มิทรงให้น้ำหนักต่อคำยกย่องเหล่านั้น เพราะรู้ดีว่าพวกเขาเป็นเพียงพวกวัตถุนิยม
ถ้าท่านอ่านบทละครต่างๆของเช็คสเปียร์ (Shakespear) ด้วยความพินิจพิเคราะห์ ท่านจะสังเกตวิธีการเขียนที่แสดงถึงบุคลิกลักษณะหลักๆ ของตัวละครที่จะค่อยๆเผยตัวเองออกมา โดยมากเขาหรือหล่อนจะกล่าวออกมาในตอนต้นประโยค เช่นว่า “ฉันเป็น…” ประโยคที่ขึ้นต้นว่า “ฉันเป็น…” จะทำให้เรารู้ว่าเขาหรือหล่อนเป็นใครกันแน่ ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าได้ทรงกล่าวประโยคที่ว่า “เราเป็นปังทรงชีวิต” ซึ่งเป็นการเผยถึงพระองค์เองอย่างชัดเจนว่า พระองค์มิได้ทรงเป็นเพียงผู้ทวีขนมปัง แต่ทรงเป็นขนมปังนั้นเอง
ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ หรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี สามารถสร้างระบบที่ทำให้ประชาชนถูกขับเคลื่อนให้ผลิตขนมปังขึ้นมาได้ แต่การทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นผู้ให้ขนมปัง แท้จริงขนมปังเป็นของประทานมาจากพระเจ้า จงดูในสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ทรงแก้ไขความเข้าใจของประชาชนให้ถูกต้องสิครับ “มิใช่โมเสสที่ให้ขนมปังจากสวรรค์แก่ท่าน แต่เป็นพระบิดาของเราที่ประทานขนมปังแท้จากสวรรค์แก่ท่าน” พระเจ้าทรงเป็นแหล่งที่มาของทุกสิ่ง ดังนั้น เราจึงควรระวังเมื่อเราพูดว่า เราเป็นนั่นเป็นนี่ หรือเรามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นต้น
การเลี้ยงประชากรอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารด้วยมานนาได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการเอาพระทัยใส่ของพระต่อประชากรของพระองค์ ประสบการณ์ในถิ่นทุรกันดารได้เปิดโอกาสให้ประชากรได้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น หมายถึงบทสอนให้พวกเขาพึ่งพิงในพระเจ้า ให้พวกเขาไว้วางใจในพระญาณสอดส่องต่อความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวัน ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับคำสั่งไม่ให้เก็บสะสมมานนาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะมีกินสำหรับวันพรุ่งนี้ พวกเขาต้องเก็บให้พอสำหรับความต้องการในวันนี้เท่านั้น พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมให้พวกเขาอีกในวันรุ่งขึ้น
พระเยซูเจ้าทรงสอนความจริงเดียวกันนี้ เมื่อทรงสอนให้เราภาวนา “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” คำสอนนี้ อาจฟังดูแปร่งหู และดูเหมือนงี่เง่าด้วยซ้ำสำหรับผู้ที่วางความไว้ใจทั้งหมดของตนในบัญชีเงินเก็บ ในระบบการประกันภัย หรือประกันทรัพย์สินต่างๆ เราอาจจะเป็นเหมือนอิสราเอลเก่า แทนที่จะภาวนาขอขนมปังประจำวัน เรากลับภาวนาขอขนมปังทั้งหมดของร้าน หรือทั้งหมดของโรงงานทำขนมปังเลยทีเดียว
บทสรุป และสาระสำคัญในที่นี้คือ ไม่ว่าชีวิตเราอาจจะลำบากแค่ไหนหรืออย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มอบความไว้วางใจในพระเจ้า และดำรงชีวิตในแต่ละวันอย่างเป็นปัจจุบัน มานนาจะหล่นลงมา(จากสวรรค์)ในทุกๆวัน
ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 18 เทศกาลธรรมดา ปี B
“เราเป็นปังแห่งชีวิต”
มีชายขี้เมาคนหนึ่ง เขาเป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย นิสัยชอบดื่มเมามายของเขาทำให้ภรรยาและลูกๆ ต้องทนทุกข์ทรมานมาก เขาใช้เงินทั้งหมดไปกับการดื่ม แต่มาวันหนึ่ง เขาได้ไปฟื้นฟูจิตใจ กลับใจมาเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า และเลิกดื่มอีกต่อไป
.
สองสามเดือนต่อมา ขณะที่เดินไปตามถนน เขาพบเพื่อนที่เคยร่วมวงดื่มกันมาก่อน เพื่อนถามว่า “ทำไมเดี๋ยวนี้ไม่เห็นมาดื่มด้วยกันเลย ไปทำอะไรมา” คนเคยเมาตอบว่า “ฉันได้รู้จักพระเยซูเจ้า และมีความเชื่อในพระองค์ ฉันเลิกดื่มเหล้าแล้ว” เพื่อนหัวเราะเยาะเขากล่าวว่า “อ๋อ…เดี๋ยวนี้มีความเชื่อในพระเยซูแล้วหรือ รวมทั้งเรื่องไร้สาระที่พระองค์เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่เมืองคานาด้วยใช่ไหม” เขาตอบกลับว่า “ฉันไม่เคยเห็นพระเยซูเจ้าเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่เมืองคานา แต่ที่นี่ฉันเห็นพระองค์ทรงเปลี่ยนเบียร์และเหล้าให้กลายเป็นขนมปังและเสื้อผ้าสำหรับภรรยาและลูกๆ ของฉัน”
.
หลังจากที่พระองค์ทรงทวีขนมปังเลี้ยงคนเป็นจำนวนมาก ผู้คนมากมายพากันแสวงหาพระองค์ พวกเขาอยากรู้จักพระองค์มากขึ้น อาจจะแอบหวังลึกๆ ในใจให้พระองค์ทรงเป็นตามแบบที่เขาต้องการให้เป็น
.
แต่พระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมาย (=อัศจรรย์)นี้เพื่อจะนำพาสติปัญญาและจิตใจของพวกเขาให้ไปสู่ของประทานที่แท้จริงที่พระเจ้าทรงมอบให้กับประชากรของพระองค์ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจถึง ปัสกาใหม่ การอพยพใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเขา โดยมีพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นำพวกเขาไป พระองค์ทรงเป็นโมเสสคนใหม่ที่จะมาช่วยปลดปล่อยให้พวกเขาเป็นไท และจะประทานพระองค์เองเป็นอาหารที่จะนำชีวิตนิรันดรมาให้แก่พวกเขา อย่าลืมภูมิหลังของเหตุการณ์นี้ว่าพาดพิงกับเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสืออพยพบทที่ 16 เสมอ
.
แต่ประชาชนยังเข้าใจไม่ถูกต้อง “ท่านแสวงหาเรามิใช่เพราะเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ แต่เพราะได้กินขนมปังจนอิ่ม”พวกเขาติดอยู่กับความคิดแค่ตามประสาโลกเท่านั้น แถมยังอยากตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ หวังจะให้พระองค์ทรงนำความมั่นคงและมั่งคั่งมาให้ จะได้ไม่อดอยากต่อไป แต่รูปแบบการเป็นกษัตริย์ในมุมมองของพระเยซูเจ้าแตกต่างไปจากของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง เราจะเห็นได้ชัดในยอห์น บทที่ 19 (ที่ทรงมงกุฎหนามบนพระเศียร ทรงถูกตัดสินประหารชีวิต และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน)
.
พระวรสารของอาทิตย์นี้ พระองค์ทรงต้องการปรับความเข้าใจของประชาชนให้ถูกต้อง ทรงต้องการนำเขาไปสู่อาหารที่แท้จริง อาหารที่บุตรแห่งมนุษย์จะประทานให้ อาหารนั้นคือ องค์พระเยซูเจ้าเอง ซึ่งจะให้ชีวิตนิรันดร เพราะพระบิดาทรงประทานตรารับรองบุตรแห่งมนุษย์ไว้แล้ว
.
การจะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความเชื่อในพระเยซูเจ้าซึ่งพระเจ้าทรงส่งมา น่าแปลกใจที่ประชาชนขอเครื่องหมายเพิ่มอีก เพื่อจะได้เชื่อทั้งๆที่เขาเห็นการทวีขนมปังแล้ว บางทีคำขอของเขาอาจจะแอบหวังผลเรื่องการเมืองและกำลังพลด้วย บางทีเขาอาจจะต้องการให้พระเยซูเจ้าทรงนำทัพเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม และทรงทำให้กำแพงพังลงมา เหมือนที่โยชูวาได้ทำกับเมืองเยรีโคในภาคสรุปของหนังสืออพยพ แต่พระเยซูเจ้ามิได้ทรงตอบสนองต่อคำขอของพวกเขา ทรงยืนยันว่าคำตอบสุดท้ายต่อคำขอของเขาคือพระองค์เองซึ่งทรงยืนอยู่ต่อหน้าพวกเขา
.
และมาถึงประโยคที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ “เราเป็นปังแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิว และผู้ที่เชื่อในเราจะไม่กระหายอีกเลย”
.
คำว่า “เราเป็น” เป็นคำที่มีความหมายอย่างยิ่งในพระวรสารของนักบุญยอห์น ซึ่งโยงไปถึงบทแรกของท่านที่ว่า พระเยซูเจ้าคือพระวจนะ คือผู้ที่พระบิดาทรงส่งมาเพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จไป และในที่นี้เน้นเป็นพิเศษเรื่องการหล่อเลี้ยง ดังนั้น ถ้าประชาชนยังไม่ตระหนักว่าพระเยซูเจ้าคือใคร เขาก็อาจจะได้รับการเลี้ยงดูด้วยขนมปังและปลา แต่ความหิวที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกจะไม่มีวันถูกเติมเต็ม แต่เมื่อไรที่เขายอมรับพระองค์ในฐานะที่เป็นปังแห่งชีวิตและเชื่อในพระองค์อย่างแท้จริง เขาจะไม่มีวันหิวกระหายอีกเลย เช่นชายที่เคยเป็นขี้เมามาก่อนในตอนเริ่มเรื่อง เมื่อเขามามีความเชื่อในพระเยซูเจ้าแล้ว เขาก็เปลี่ยนชีวิตโดยสิ้นเชิง กลายมาเป็นคนที่มีชีวิตใหม่ในพระองค์
( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2012
Based on : John for Everyone, by Tom Wright)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สาส์นจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสครบรอบ 58 ปี ของวันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียก
- สมเด็จพระสันตะปาปาในคืนคริสต์มาส: พระเยซูเจ้าทรงแสดงทางจากความเล็กน้อยไปสู่ความยิ่งใหญ่
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม