
คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ประทานแก่ผู้เข้าร่วมสมัชชาสากล เรื่อง “การบริจาค-ปลูกถ่ายอวัยวะ”
เจริญพรมายัง พี่น้องในสมณศักดิ์ สุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติ
การบริจาคอวัยวะเป็นรูปแบบพิเศษของการเป็นประจักษ์พยานชีวิตในความรักเมตตา ในยุคสมัยของพวกเราที่บ่อย ๆ ครั้งสังคมเต็มไปด้วยการเห็นแก่ตัว นี่ยิ่งจะมีความเร่งด่วนยิ่งขึ้นไปอีกที่จะต้องเข้าใจว่าตรรกะแห่งการให้โดยอิสระเสรีเป็นสิ่งสำคัญในความเข้าใจเรื่องชีวิตอย่างถูกต้อง อันที่จริงความรับผิดชอบและความเมตตาที่มีอยู่ชีวิตผลักดันให้พวกเราต้องทำให้ตัวตนของพวกเรากลายเป็นของขวัญสำหรับผู้อื่น หากพวกเราปรารถนาที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราสมบูรณ์ ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนพวกเราว่า ผู้ที่มอบชีวิตให้กับผู้อื่นเท่านั้นที่จะรอด (เทียบ ลก. 9: 24) ในการกล่าวทักทายผู้ที่เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะจากท่านเมาริซซีโอ ซัคโคนี่ (Maurizio Sacconi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สาธารณสุขและนโยบายสังคม ข้าพเจ้าขอขอบคุณอาร์ชบิชอปริโน ฟิสิเกลล่า (Rino Fisichella) ประธานของสถาบันแห่งสันตะสำนักเพื่อชีวิต (Pontifical Academy for Life) สำหรับมธุรสวาจาต่อข้าพเจ้าและแสดงให้เห็นถึงการสรุปความหมายที่สำคัญแห่งคุณค่าของการประชุมครั้งนี้ และสรุปผลงานแห่งสมัชชา พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณประธานของสหพันธ์สากลของสมาคมแพทย์คาทอลิกและผู้อำนวยการของศูนย์กลางการปลูกถ่ายอวัยวะแห่งชาติ (Centro Nazionale Trapianti) ซึ่งข้าพเจ้าขอชื่นชมในความร่วมมือขององค์กรเหล่านี้ในภาคส่วนของการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการศึกษาและการอภิปรายของพวกท่าน
ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ได้พัฒนาเจริญขึ้นมากจนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับแต่ละบุคคลที่กำลังเผชิญความทุกข์ว่า เขาสามารถที่จะมีชีวิตอย่างคู่ควรมากกว่านี้ได้ การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะหมายถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สำหรับวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ และแน่นอนว่านี่เป็นเครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับผู้ป่วยเป็นอันมากที่เผชิญปัญหาทับซ้อนและหลายครั้งก็ตกอยู่ในสภาพที่มีอาการหนัก หากพวกเราจะขยายมุมมองไปทั่วโลกอาจจะเป็นการง่ายที่จะพบกับหลากหลายกรณีที่ซับซ้อน ซึ่งต้องขอบคุณเทคนิคใหม่ ๆ ของการปลูกถ่ายอวัยวะ หลายบุคคลรอดชีวิตจากกรณีที่พวกเขาใกล้จะสูญเสียชีวิต และแล้วสุขภาพของพวกเขาก็กลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่สู่ความชื่นชมยินดีแห่งชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นี่คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากขาดซึ่งความใจกว้างและการเห็นใจผู้อื่นของผู้ที่บริจาคอวัยวะของตน ปัญหาการขาดอวัยวะที่สำคัญสำหรับการปลูกถ่ายไม่ใช่เรื่องของทฤษฎี ทว่านี่เป็นเรื่องของรูปธรรมอันน่าอัศจรรย์ ในสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็นผู้ป่วยรอรับการรักษายาวเหยียด ซึ่งความหวังที่จะรอดนั้นขึ้นอยู่กับการบริจาคอวัยวะที่มีผู้มีจิตศรัทธาน้อยมากซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ
ในบริบทปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเจริญก้าวหน้าของทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถช่วยเหลือจุนเจือกันได้เพื่อบรรเทาการขอร้องมากมายของการปลูกถ่ายอวัยวะด้วยการเปลี่ยนหลักการของจริยธรรมอันเป็นฐาน ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในสมณสาส์นฉบับแรกของข้าพเจ้า พวกเราไม่อาจที่จะถือว่าร่างกายเป็นเพียงวัตถุ (เทียบ พระเจ้าคือองค์ความรัก – Deus Caritas Est, ข้อ 5) มิฉะนั้นแล้วตรรกะแห่งการตลาดจะได้เปรียบ ร่างกายของแต่ละบุคคลพร้อมกับดวงวิญญาณที่มอบให้กับทุกคนทีถูกสร้างในความเป็นเอกภาพที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งภาพลักษณ์ของพระเจ้าเองถูกพิมพ์ไว้ การขาดซึ่งมิตินี้จะนำไปสู่ความสามารถที่จะเข้าใจถึงความครบถ้วนสมบูรณ์แห่งพระธรรมล้ำลึกที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงจำเป็นที่พวกเราจะต้องให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของบุคคลและให้การคุ้มครองอัตลักษณ์ส่วนตัวของบุคคลเป็นอันดับแรก สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นหมายความว่าผู้หนึ่งผู้ใดสามารถบริจาคอวัยวะ โดยที่ไม่ทำให้เขาเผชิญสุขภาพและอัตลักษณ์ของตนเองต้องตกอยู่ในอันตรายและต้องมีเหตุผลอันสมควรในเชิงจริยธรรม นอกนั้นยังมีความเป็นไปได้ในการซื้อขายอวัยวะโดยใช้มาตรฐานของการแสวงหาผลประโยชน์ที่แบ่งชนชั้นอันเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับความหมายของการเป็นของขวัญ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ควรที่จะนำมาพิจารณาเพราะว่านั่นจะเข้าลักษณะของการกระทำที่ผิดต่อจริยธรรม การล่วงละเมิดต่อกฎเกณฑ์แห่งการปลูกถ่ายอวัยวะและการค้าอวัยวะซึ่งบ่อยครั้งหมายถึงผู้บริสุทธิ์ เช่น ผู้เยาว์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ส่วนวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ต้องพร้อมที่จะรวมตัวกันปฏิเสธการปฏิบัติที่รับไม่ได้ดังกล่าว เพราะฉะนั้นการกระทำเช่นนั้นต้องได้รับการประณามอย่างเด็ดขาดว่าเป็นสิ่งที่น่าชังเป็นอย่างยิ่ง หลักการเดียวกันแห่งจริยธรรมต้องนำมาใช้เมื่อมีผู้ใดต้องการที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับการสร้างเซลล์และทำลายตัวอ่อนของมนุษย์เพื่อใช้ในการเยียวยารักษา ความคิดแบบง่ายๆ ที่ทึกทักเอาว่าตัวอ่อนมนุษย์เป็น “สิ่งที่ใช้สำหรับการเยียวยารักษา” นี่ขัดแย้งกับพื้นฐานแห่งวัฒนธรรม สิทธิพลเมือง และจริยธรรมซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของบุคคล
บ่อยครั้งปรากฏว่าการใช้เทคนิคในการปลูกถ่ายอวัยวะเกิดขึ้นด้วยการกระทำที่เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากผู้ที่เป็นพ่อแม่ของผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่รอดชีวิตอย่างแน่นอน ในกรณีนี้การยินยอมจึงเป็นเงื่อนไขของเสรีภาพเพื่อที่การปลูกถ่ายอวัยวะจะมีคุณสมบัติเป็นของขวัญ และจะไม่ถูกตีความว่าเป็นการบังคับ หรือการเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็ควรจำไว้ว่าอวัยวะที่สำคัญของบุคคลไม่สามารถที่จะตัดออกไปได้ ยกเว้นจากร่างกายสภาพศพ ซึ่งต้องให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของเขา ในหลายปีที่ผ่านมานี้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ได้บรรลุความก้าวหน้ามากขึ้นในการยืนยันถึงความตายของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการดีที่ผลสำเร็จใหม่นี้เป็นที่ยอมรับของวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วไปเพื่อที่จะวิจัยค้นคว้าต่อไปเพื่อหาทางออกในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคน ความจริงในบริบทเช่นนี้ต้องไม่มีความสงสัยแม้แต่น้อยนิดของอนุญาโตตุลาการและสถานที่ซึ่งความมั่นใจยังไม่เกิดขึ้นอันจะต้องใช้ความระมัดระวัง นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่จะต้องเสริมการวิจัยและการไตร่ตรองร่วมกันเพื่อสร้างความคิดเห็นสาธารณะกับความจริงที่โปร่งใสเกี่ยวกับความสลับซับซ้อนในด้านมานุษยวิทยา สังคม จริยธรรม และกฎหมายของการปลูกถ่ายอวัยวะ
ทว่าในกรณีเหล่านี้มาตรการหลักแห่งการให้ความเคารพกับชีวิตของผู้บริจาคต้องมาก่อนเสมอ เพื่อให้การตัดชิ้นส่วนอวัยวะจะกระทำไปในกรณีที่ผู้บริจาคเสียชีวิตแล้วเท่านั้น (เทียบ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก – Compendium of the Catechism of the Catholic Church, n. 476) การกระทำแห่งความรักที่แสดงออกด้วยการบริจาคอวัยวะซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของตนจะเป็นประจักษ์พยานที่ถ่องแท้เสมอแห่งความรักที่สามารถมองเห็นเกินเลยความตายเพื่อที่ชีวิตจะได้มีชัยเสมอ ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะควรรับรู้อย่างดีถึงคุณค่า เขาเป็นผู้ที่ได้รับของขวัญที่เกินเลยประโยชน์ของการเยียวยา ความจริงสิ่งที่เขาได้รับนอกจากอวัยวะแล้วก็คือประจักษ์พยานชีวิตแห่งความรักที่ต้องมีการตอบสนองด้วยการมีใจกว้างที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะเพิ่มทวีวัฒนธรรมแห่งการให้ของขวัญและการให้ด้วยอิสระเสรี
หนทางถูกต้องที่พวกเราจะเดินไปจนกระทั่งวิทยาการทางวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบรูปแบบอื่นใหม่และวิธีการเยียวยารักษาที่ทันสมัยกว่าต้องเป็นการอบรมและการแพร่วัฒนธรรมแห่งความเอื้ออาทรที่เปิดใจกว้างสู่ทุกคนและไม่ละเว้นผู้ใดเลย การปลูกถ่ายอวัยวะทางการแพทย์สอดคล้องกับจริยธรรมของการมอบที่เรียกร้องให้ทุกคนมีความตั้งใจที่จะลงทุนด้วยความพยายามจนสุดความสามารถในการอบรมและในข้อมูลเพื่อจะได้เกิดความรู้สึกละเอียดอ่อนอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นที่สัมผัสโดยตรงกับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องละทิ้งซึ่งความลำเอียง ความเข้าใจผิด ความเฉยเมยที่แพร่หลายและความกลัวเพื่อที่จะนำเอาความมั่นใจและหลักประกันมาแทนที่ เพื่อที่จะปล่อยให้มีการรับรู้อย่างดีถึงของขวัญอันยิ่งใหญ่แห่งชีวิตมากขึ้นในทุกคน พร้อมกันนี้ข้าพเจ้าขอให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองต่อไปด้วยความชำนาญในความเป็นมืออาชีพ ข้าพเจ้าวิงวอนต่อพระเจ้าสำหรับงานสมัชชานี้และขออวยพรทุกคน
© Copyright 2008 – Libreria Editrice Vaticana
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมณลิขิต (Apostolic Letter) ของสันตะปาปาฟรานซิส โอกาสครบ 1600 ปีหลังการมรณภาพของนักบุญเจโรม
- สันตะสำนักออกหนังสือ คู่มือการสอนคำสอน พร้อมกับคำแนะนำใหม่ในการสอนคำสอน
- จดหมายถึงกรรมการคำสอนทุกมิสซัง
- คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิสประทานแก่คณะนักวิจัยสากลเกี่ยวกับโครงการการศึกษาคาทอลิก
- “AMORIS LAETITIA” “ความชื่นชมยินดีแห่งความรัก”