
คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส ต่อผู้เข้าประชุมสมัยสามัญของคณะกิจการพระมารดา “โฟโคลาเร่”
ณ ห้องประชุมใหญ่เปาโลที่ 6 วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021
พระคุณเจ้า และ ลูก ๆ พี่น้องชายหญิงที่รัก
พ่อขอต้อนรับทุกคนด้วยความยินดีในการประชุมซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในขณะที่ท่านได้อภิปรายกันถึงหัวข้อที่มีความสำคัญและเลือกผู้นำคนใหม่ ขอขอบคุณมารีอา โวเช (Maria Voce) ประธานของคณะโฟโกลาเร ที่กำลังสิ้นสุดวาระ และมาร์กาเร็ต คาร์รัม (Margaret Karram) ประธานที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ และขอขอบคุณสำหรับมธุรสวาจาของท่าน สำหรับประธานคนเก่าเราต้องกล่าวว่า “ขอบคุณมาก” และสำหรับประธานคนใหม่ขอกล่าวว่าขอแสดงความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ซึ่งเราขอส่งความปรารถนาดีนี้ไปยังประธานร่วมและที่ปรึกษาทุกคนด้วย เรารู้สึกกตัญญูต่อพระคาร์ดินัล เควิน ฟาร์เรล (Kevin Farrel) และต่อ ดร. ลินดา กีโซนี (Mrs. Linda Ghisoni) ที่มาร่วมประชุมกับพวกเรา ขอต้อนรับทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ และบุคคลที่ติดตามทางสื่อ ขอต้อนรับสมาชิกทุกคนที่ทำงานของคณะกิจการของพระมารดาที่พวกท่านเป็นผู้แทน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกท่านในการก้าวเดิน พ่อปรารถนาที่จะเสนอข้อคิดบางประการ ซึ่งพ่อขอแยกออกเป็นสามส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ระยะหลังผู้ก่อตั้ง ความสำคัญแห่งวิกฤต และการดำเนินชีวิตฝ่ายจิตพร้อมกันในความจริง
ระยะหลังผู้ก่อตั้ง สิบปีหลังจากที่เคียร่า ลูบิค (Chiara Lubich) จากโลกนี้ไปท่านถูกขอร้องให้เอาชนะกับความสับสนตามธรรมชาติ ที่จำนวนสมาชิกเริ่มลดน้อยลงเพื่อที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระพรพิเศษแห่งเจตนารมณ์ของการตั้งคณะฯ ดังที่พวกเราทราบกัน ประเด็นนี้เรียกร้องให้ต้องมีความซื่อสัตย์อย่างมีพลวัต ที่สามารถตีความในเครื่องหมาย และความต้องการของกาลเวลา และการตอบสนองต่อการเรียกร้องใหม่ของมนุษย์ พระพรพิเศษทุกอย่างเป็นสิ่งสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่อยู่นิ่งในพิพิธภัณฑ์ นี่เป็นเรื่องราวที่ต้องยึดมั่นในความซื่อสัตย์ต่อต้นตอ ต้องพยายามคิดใหม่ที่จะแสดงออกด้วยการเสวนากับสถานการณ์ของสังคมและวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งต้องมีรากเหง้าที่มั่นคง ทว่าต้นไม้จะเติบโตด้วยการเสวนาในความจริง โฉมหน้าซึ่งต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์นี้จะเกิดผลดีเพิ่มขึ้น หากว่าความคิดสร้างสรรค์ ปรีชาญาณ ความรู้สึกอย่างละเอียดอ่อน และความซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรจะถูกนำมาสมานฉันกัน ชีวิตฝ่ายจิตของพวกท่านที่มีคุณสมบัติในการเสวนาและเปิดใจกว้างต่อบริบทวัฒนธรรม สังคม และศาสนา แน่นอนว่าจะส่งเสริมเป้าหมายนี้ การเปิดใจกว้างสู่ผู้อื่นไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครจะต้องพยายามสร้างสรรขึ้นเสมอ พระวรสารนั้นมีไว้สำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่นำสิ่งนี้ไปบังคับผู้อื่นให้ต้องเชื่อตาม นี่เป็นเหมือนเชื้อสำหรับมนุษยชาติใหม่ในทุกเวลาและทุกสถานที่
ทัศนคติการเปิดใจกว้างและการเสวนาจะช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงการมุ่งอยู่กับตนเอง ซึ่งมักจะเป็นบาปเสมอ นี่เป็นการล่อลวงให้พวกเรามองไปเพียงที่กระจกเงา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ กระจกเงาใช้เพียงเพื่อหวีผมตอนเช้าเท่านั้นก็พอแล้ว การหลีกเลี่ยงการมองเพียงแต่ตนเองทุกประเภท ซึ่งไม่เคยเกิดจากเจตนารมณ์ที่ดีนั้นอันเป็นความหวังของพวกเราสำหรับพระศาสนจักรทั้งมวล นั่นคือการรับรู้ถึงการที่มักยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง อันจะนำไปสู่การปกป้องสถาบันที่จะก่อความเสียหายให้กับปัจเจกบุคคลเสมอ และยังสามารถที่จะนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้กับการปกปิดการล่วงละเมิดของตนเอง พวกเรามีประสบการณ์กับประเด็นนี้มาแล้วด้วยความเจ็บปวด พวกเราพบความเจ็บปวดในหลายปีที่ผ่านมานี้ การยึดเอาตัวตนเองเป็นศูนย์กลางจะกีดกั้นไม่ให้พวกเราเห็นความผิดบกพร่องของตน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเจริญก้าวหน้า และทำให้ไม่มีการเปิดใจกว้างสู่การทบทวนกระบวนการกระทำของสถาบัน และวิธีการดำเนินการปกครอง
ตรงกันข้าม จะเป็นการดีกว่าที่พวกเราต้องกล้าหาญที่จะเผชิญอย่างตรงไปตรงมากับความจริง ทำตามคำแนะนำของพระศาสนจักรผู้เป็นมารดาที่แท้จริงเสมอ พร้อมกับตอบสนองต่อการเรียกร้องของความยุติธรรมและความรัก การชอบยกยอตนเองไม่ได้เป็นการรับใช้ต่อพระพรที่ดี ตรงกันข้ามต้องเป็นเรื่องที่พวกเราจะต้องให้การต้อนรับในแต่ละวันด้วยสิ่งใหม่ๆ – จงอย่าลืมว่าสิ่งประหลาดใหม่จะแสดงถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าเสมอ – นี่เป็นของขวัญที่ได้รับมาแบบเปล่า ๆ ซึ่งพวกท่านได้รับมาด้วยการปฏิบัติตามอุดมการณ์แห่งชีวิตของพวกท่าน และโดยอาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้าพวกท่านพยายามที่จะตอบสนองด้วยความเชื่อ ความสุภาพ และความกล้าหาญเฉกเช่นพระแม่มารีย์พรหมจารีหลังจากที่ได้รับการแจ้งข่าวจากทูตสวรรค์
หัวข้อที่สองที่พ่อปรารถนาที่จะนำมาเสนอให้กับพวกท่านคือความสำคัญแห่งวิกฤต ท่านไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากวิกฤต วิกฤตเป็นพระพรแม้จะในระดับธรรมชาติ – วิกฤตของการที่ทารกเจริญเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่นั้นมีความสำคัญ – แม้ในชีวิตของสถาบัน พ่อได้ปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างยืดยาวในคำปราศรัยต่อสมาชิกของโรมันคูเรีย ในชีวิตมักมีการล่อลวงเสมอที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นสิ่งน่ารังเกลียด สามารถเป็นสิ่งน่าชัง สามารถที่จะสร้างความแตกแยก แต่วิกฤตก็สามารถเป็นโอกาสให้พวกเราเจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกัน ทุกวิกฤตเรียกร้องให้พวกเรามีวุฒิภาวะใหม่ เป็นเวลาของพระจิตผู้ทรงกระตุ้นให้พวกเราเห็นความจำเป็นที่ต้องมาทำการรื้อฟื้นกันใหม่โดยไม่ต้องเสียกำลังใจท่ามกลางความยุ่งยากซับซ้อนและความขัดแย้ง ทุกวันนี้มีการเน้นกันมากถึงความสำคัญของการยืดหยุ่นท่ามกลางความยากลำบาก กล่าวคือ ความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤตและฉวยโอกาสจากความยุงยากซับซ้อน เพราะทุกวิกฤตเป็นโอกาสให้พวกเราเจริญก้าวหน้า ในอีกมุมมองหนึ่งวิกฤตฝ่ายจิตของปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างบุคคลและในบริบทของมโนธรรมต้องได้รับการจัดการอย่างเฉลียวฉลาดจากผู้ที่ไม่มีตำแหน่งบริหารในทุกระดับภายใต้กระบวนการของคณะฯ นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่ดีสำหรับพระศาสนจักรตั้งแต่เวลาที่จำความไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับบรรดานักพรต/ฤษี ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เวลาแห่งวิกฤตเท่านั้น แต่โดยทั่วไปในการติดตามการเดินทางฝ่ายจิตของพวกเขา อันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเวทีภายนอกและภายในที่ประสบการณ์แห่งธรรมประเพณีของพระศาสนจักรที่สอนพวกเราว่านี่เป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ ความจริงการนำทุกสิ่งมารวมกัน ซึ่งบริบทของการปกครองและบริบทของมโนธรรมจะก่อให้เกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดต่างๆ นานาดังที่พวกเราเห็นกันมาเมื่อมีการพบว่าปัญหาที่รบกวนจิตใจเหล่านี้ถูกค้นพบ
สุดท้าย ประการที่สาม การดำเนินชีวิตจิตอย่างสม่ำเสมอคงแบบคงเส้นคงวาในความเป็นจริง ความคงเส้นคงวาและความจริงทำให้ “บุคคลผู้นี้มีอำนาจ… เหตุใดเขาจึงมีอำนาจ? เพราะว่าเขาเป็นคนคงเส้นคงวา” บ่อยครั้งพวกเราจะพูดกันเช่นนี้ เป้าหมายสุดท้ายแห่งพระพรพิเศษของพวกท่านจะต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มอบให้กับพระบิดาในการอธิษฐานภาวนาอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ “เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน. 17: 21) พวกเราต้องรับรู้ว่าการเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นเป็นการกระทำแห่งพระหรรษทานของพระตรีเอกภาพ “เฉกเช่นที่พระองค์ทรงประทับอยู่ในข้าพเจ้าและข้าพเจ้าดำรงอยู่ในพระองค์ ขอให้พวกเขาดำรงอยู่ในเราด้วย” (ibid) เป้าหมายนี้เรียกร้องหน้าที่ในสองมิติด้วยกัน กล่าวคือ ภายนอกคณะและภายในคณะ เกี่ยวกับพฤติกรรมนอกคณะฯ พ่อขอสนับสนุนให้พวกท่านต้องทำ และสำหรับประเด็นนี้เคียร่า ลูบิค (Chiara Lubich) ข้ารับใช้ของพระเจ้าได้มอบแบบฉบับไว้มากมาย – การเป็นประจักษ์พยานแห่งความใกล้ชิดด้วยความรักฉันพี่น้องที่จะเอาชนะต่ออุปสรรคทั้งสิ้น และการเข้าถึงทุกสภาพแห่งชีวิตมนุษย์ จงเอาชนะต่ออุปสรรค จงอย่าได้กลัว! นี่เป็นหนทางแห่งความใกล้ชิดฉันพี่น้องที่ถ่ายทอดการประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพสู่มนุษย์ชายหญิงแห่งยุคสมัยของพวกเราโดยเริ่มต้นจากคนยากจน บุคคลที่เป็นคนสุดท้าย บุคคลที่ถูกทอดทิ้ง โดยทำงานร่วมกับผู้ที่มีน้ำใจดีเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและสันติสุข จงอย่าลืมว่าความใกล้ชิด การอยู่ใกล้ชิดกันเป็นภาษาที่ถ่องแท้ของพระเจ้า จงคิดถึงข้อความในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเมื่อพระเจ้าตรัสว่า “มีชาติยิ่งใหญ่ใดบ้างที่พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดดุจพระเจ้าของเราทุกครั้งที่เราเรียกหาพระองค์” วิธีการอยู่ใกล้ชิดของพระเจ้ายิ่งวันยิ่งจะไปไกลจนกระทั่งบรรลุถึงความใกล้ชิดอันยิ่งใหญ่นั้น พระวจนาตถ์ทรงเสด็จมารับสภาพมนุษย์ และทรงทำให้พระองค์เองเป็นหนึ่งท่ามกลางพวกเรา ขอจงอย่าได้ลืมว่า ความใกล้ชิดเป็นรูปแบบของพระเจ้า เสมือนเป็นภาษาที่ถ่องแท้ที่สุดในความคิดของพ่อ
เกี่ยวกับความมานะพยายามของพวกท่านภายในคณะฯ พ่อขอสนับสนุนให้พวกท่านส่งเสริมการก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality) ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อว่าสมาชิกทุกคนซึ่งมีพระพรพิเศษด้วยกันจะได้มีความรับผิดชอบร่วมกันในการมีส่วนร่วมในชีวิต และกิจการของของพระแม่ และเป้าหมายพิเศษต่างๆ ผู้มีหน้าที่ในการปกครองบริหารถูกเรียกร้องให้ต้องส่งเสริมพร้อมกับให้คำแนะนำที่โปร่งใสไม่เพียงแค่ในกลุ่มบุคคลที่บริหารเท่านั้น แต่ในทุกระดับด้วยพลังในตรรกะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทุกคนสามารถใช้พระพรและความคิดของตนในการรับใช้ผู้อื่นในความจริงด้วยเสรีภาพ
ลูก ๆ และ พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเลียนแบบฉบับของเคียร่า ลูบิค (Chiara Lubich) จงฟังเสียงร้องของพระเยซูคริสต์ในการที่พระองค์ทรงถูกทอดทิ้งบนไม้กางเขนซึ่งแสดงให้เห็นถึงมาตรการแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ซึ่งหลั่งไหลออกมาจนสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา ผู้เป็นบุคคลอ่อนแอ เป็นคนบาปแถมยังสร้างโศกนาฏกรรมให้กับบ่อเกิดแห่งความสว่าง และความหวังสำหรับมนุษย์ การผ่านความตายสู่การมีชีวิตเป็นหัวใจแห่งคริสตศาสนา และยังเป็นพระพรของพวกท่านด้วย ขอบคุณมากสำหรับการเป็นประจักษ์พยานด้วยใจเบิกบานต่อพระวรสารที่พวกท่านยังคงมอบให้กับพระศาสนจักรและแก่ชาวโลก ได้มีการกล่าวกันว่าชาวโฟโคลาเร่มักจะยิ้มอยู่เสมอ พวกเขามีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้า พ่อจำได้ว่าครั้งหนึ่งพ่อได้ยินมีคนพูดถึงการไม่รู้ของพระเจ้าพวกเขาบอกพ่อว่า “แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าพระเจ้านั้นช่างเขลา?” เพราะว่ายังมีอยู่อีกสี่อย่างด้วยกันที่พระเจ้าไม่อาจรู้ได้ คือ “พวกเยสุอิตคิดอะไรอยู่ ซาเลเซียนมีเงินมากน้อยแค่ไหน มีคณะซิสเตอร์กี่คณะ และโฟโคลาเร่เขายิ้มทำไม?” พ่อขอมอบการมีเจตนารมณ์ที่ดีและโครงการต่าง ๆ ของพวกท่านไว้ในการวอนขอของพระแม่มารีย์มารดาของพระศาสนจักร และพ่อขออวยพรทุกคนจากใจ โปรดอย่าลืมภาวนาสำหรับพ่อด้วย พ่อเองต้องการคำภาวนา ขอขอบคุณทุกคน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- พระสันตะปาปาฟรานซิสประชุมหารือผ่านทาง “video conference” กับพระอัครอัยกาคีริล (Kirill)
- พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันว่า
เลบานอนคือประเทศต่อไปที่พระองค์จะเสด็จไปเยือน - ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ..
- คำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส “มูลนิธิแห่งสันตะสำนักการศึกษาอันสำคัญยิ่งยวด”
- โครงการ “การทำให้การศึกษาแบบกระชับมั่นคงในระดับสากลในภาวะอันเนื่องมาจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์”