
ข้อคิดข้อรำพึง พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา ปี B
เรื่องของโยบในบทอ่านแรกเป็นเรื่องที่น่ารับไว้พิจารณา
หนังสือโยบ เล่าเรื่องบุรุษผู้หนึ่งซึ่งดูเหมือนว่ามีความเพียบพร้อมเป็นอย่างยิ่งกับชีวิตในตอนต้นๆ เช่นว่า เขามีภรรยาที่น่ารัก มีลูกชาย 7 คน และลูกสาว 3 คน เขามีสมบัติพัสถานมากกว่าใครๆ เขาเป็นคนดี ไม่เคยใช้อำนาจและความร่ำรวยไปในทางที่ผิด มีแต่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการด้วยใจกรุณาเป็นอย่างยิ่ง
แต่ความศรัทธาในพระและความดีต่อผู้อื่นของโยบถูกทดสอบ
หายนะโถมกระหน่ำเข้ามาเหมือนระลอกคลื่นที่ไม่ยอมหยุด เขาสูญเสียครอบครัว สูญเสียเพื่อนๆ สูญเสียความโชคดี สูญเสียทรัพย์สมบัติ ผู้ส่งข่าวหรือ Messengers ต่างก็เข้ามารายงานให้โยบทราบแต่เรื่องที่น่ากลัว ที่ต้องสูญเสียไป และโศกนาฏกรรม สิ่งที่โยบทำได้ก็คือ ฉีกเสื้อคลุม โกนศีรษะแสดงความทุกข์ กราบลงหน้าจรดพื้น กล่าวว่า “ข้าพเจ้าตัวเปล่าออกมาจากครรภ์มารดา ข้าพเจ้าก็จะตัวเปล่ากลับไป องค์พระเจ้าประทานให้มา องค์พระเจ้าทรงเอาคืน”
เห็นไหมครับ แม้สูญเสียเกือบทุกสิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่โยบไม่ยอมสูญเสียไป คือความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า
โยบยังยากลำบากไปกว่าการสูญเสียของนอกกาย คือยังเสียสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บพากันมารุมเร้าท่านอีกด้วย แม้ภรรยาของท่านยังแนะนำโยบว่า ควรสาปแช่งพระเจ้า และตายไปเสีย แต่โยบก็ยังรักษาความเชื่อไว้มั่น
คนสมัยต่อๆ มา และโดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่โดนกระทำ มักโทษไปที่โชคชะตาว่าทำไมโหดร้ายเช่นนี้ อุตส่าห์ทำความดีทำไมถึงได้รับข่าวร้ายเป็นการตอบแทน แต่เชื่อไหมครับว่าโดนไม่ถึงครึ่งที่โยบได้รับหรอก บางคนโดนไปแค่ดอกเดียว เสียความเชื่อไปเลย เรื่องของโยบสอนเราได้มากถึงเรื่องความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของมนุษย์ คนที่ได้รับความยากลำบากต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนดี ไม่ใช่เป็นเหยื่อของพระเจ้า แต่การทนทุกข์ทรมาน มักมีความหมายพิเศษ ที่ในเวลานั้นๆ คนที่ได้รับอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจว่าทำไมพระเยซูเจ้าต้องยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ก็คงจะเข้าใจหนทางแห่งความรอดพ้นได้ดีขึ้น
ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงรักษาไข้แม่ยายของซีโมน โดยทรงจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น ไข้ก็หาย และพอตกค่ำบรรดาคนเจ็บป่วย และถูกผีสิงในเมืองนั้น ต่างก็พากันมาหาพระเยซูเจ้า เพื่อให้ทรงรักษา จะเห็นว่า พระเยซูเจ้าเมื่อทรงเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน(รวมทั้งของพระองค์ด้วย) มิได้ทรงคร่ำครวญตัดพ้อต่อว่าพระเจ้าแต่อย่างใด แต่กลับยื่นมือไปสัมผัสกับมัน และพยุงผู้ที่รับผลของความยากลำบากให้ลุกขึ้น พระองค์ทรงรักษาเยียวยาด้วยฤทธิ์อำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เชื่อไหมครับ ว่าการทำอัศจรรย์รักษาเยียวยาประชาชนต้องออกแรงเยอะ เพราะพระเยซูเจ้าทรงทุ่มเททั้งกายและใจ จนกระทั่งพอคนกลับไปหมด พระองค์ทรงปลีกวิเวกไปยังที่สงัดและทรงอธิษฐานภาวนา เพราะนี่เป็นการเพิ่มพลังชีวิตพระในพระองค์นั่นเอง
พี่น้องครับ ถ้าเราพบว่าเรามีแต่ความทุกข์ยาก ชีวิตมีแต่ความลำบาก คงพบคำตอบในพระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้แล้วนะครับ และคงรู้ด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงมองปัญหานี้อย่างไร ทรงจัดการกับปัญหานี้อย่างทุ่มเทเพียงใด และทรงเสริมเพิ่มพลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยวิธีใด เราคงต้องทำเช่นเดียวกัน
ข้อคิดข้อรำพึง พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา ปี B
“ขอให้คำภาวนาจากจิตข้าดุจเครื่องหอม”
“พระเยซูเจ้าทรงลุกขึ้นตั้งแต่เช้ามืด เสด็จออกจากบ้านไปยังที่สงัด และทรงอธิษฐานภาวนาที่นั่น”
นี่เป็นพระวรสารตอนหนึ่งประจำในวันอาทิตย์นี้ ต้องการนำเสนอว่า
พระเยซูเจ้าทรงรักการภาวนา
พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักภาวนา
พระเยซูเจ้าทรงเห็นความสำคัญของการภาวนา
พระเยซูเจ้าทรงให้เวลากับการภาวนา
พระเยซูเจ้าทรงหลบหนีไปภาวนา
และถ้าเราดูบริบทของพระวรสารตอนนี้ จะเห็นว่าพระเยซูเจ้าเสด็จหนีไปภาวนาขณะที่พระองค์กำลังอยู่ในจุดสูงสุด กำลังเป็น “Jesus Christ superstar” ผู้คนกำลังคลั่งไคล้ในพระองค์ เพราะทรงสามารถรักษาเยียวยาผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยให้หายได้ เริ่มจากการรักษาแม่ยายของเปโตรซึ่งนอนซมเป็นไข้อยู่ พระองค์ทรงจับมือนางไข้ของนางก็หาย นางลุกขึ้นรีบมาปรนนิบัติพระองค์และสานุศิษย์ (ซึ่งรวมถึงลูกเขยของนางด้วย เดชะบุญที่นางมีลูกเขยที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดี ชื่อเสียงของนางจึงขจรขจายเป็นที่รู้จักมาบัดนี้ 2,000 ปีแล้ว นี่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีของแม่ภรรยากับลูกเขยที่มีอายุยืนยาวที่สุด และยังคงอยู่ตลอดไปตราบความคงอยู่ของพระวรสาร)
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเปโตรไม่พาพระเยซูเจ้ามารักษาแม่ยาย นางอาจจะนอนอยู่ที่เตียงก็จริง แต่คงสบายกว่าที่ได้รับการรักษาให้หายด้วยอัศจรรย์ แล้วต้องมาปรนนิบัติผู้ชายอย่างน้อยหนึ่งโหล แต่คนที่คิดอย่างนี้ไม่เข้าใจหัวจิตหัวใจของเธอ และของคนโบราณที่ถือว่าการรับใช้แขก เป็นหน้าที่เกือบเรียกว่าศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว นักบุญเปาโลน่าจะเข้าใจนางได้ดีกว่าใคร ๆ เพราะท่านสอนในบทอ่านที่สองของวันนี้ถึงจิตตารมณ์ของการประกาศข่าวดีอย่างอิสระ และการรับใช้เพื่อนพี่น้องว่า “ข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาสรับใช้ทุกคน เพื่อเอาชนะใจผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
บางทีเราคิดว่ามีแต่ข่าวไม่ดีเท่านั้นที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว แต่ข่าวดีๆ ก็มีการแพร่ไปอย่างมีอานุภาพไม่ใช่เล่น เช่นข่าวการรักษาแม่ยายของเปโตรเป็นที่ล่วงรู้อย่างรวดเร็ว เย็นวันนั้นมีคนเจ็บป่วยและคนถูกผีสิงมาเฝ้าพระองค์กันมากมาย คนทั้งเมืองได้มาออกันที่ประตู พระองค์ทรงรักษาคนที่เป็นโรคต่างๆ ให้หาย และทรงขับไล่ปีศาจหลายตนให้ออกไป พระองค์ทรงนำความรักของพระเจ้ามาพยาบาลรักษาคนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน
วันรุ่งขึ้น ผู้คนไหลหลั่งมาแสวงหาพระองค์แต่ไม่พบ พระองค์ทรงลุกขึ้นแต่เช้ามืด เสด็จออกจากบ้านไปที่สงัด และทรงอธิษฐานภาวนาที่นั่น และเมื่อสาวกทูลว่ามีคนมากมายรอคอยพระองค์อยู่ พระองค์กลับชวนสานุศิษย์ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อนำความรักของพระเจ้า ไปมอบให้กับคนอื่นๆ ในหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย
พระเยซูเจ้าทรงทำงานและภาวนาควบคู่กันไป เราได้ทำเช่นนี้หรือไม่ หรือว่าเราทำงานอย่างเดียว แล้วลืมการภาวนาไปเสียสนิท
( คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดพระกุมารเยซู เมื่อปี ค.ศ. 2009 )
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สาส์นวันผู้ป่วยสากลของสมเด็จพระสันตะปาปา: ความใกล้ชิด ความรักเมตตาเพื่อผู้ทุกข์ยาก
- สาส์นจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส โอกาสครบรอบ 58 ปี ของวันภาวนาสากลเพื่อกระแสเรียก
- สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
สำหรับรำลึกถึงวันแห่งผู้ยากจนสากลครั้งที่ห้า - สาส์น ปี 2021 ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสำหรับวันรำลึกถึงผู้สูงอายุสากล ครั้งแรก
- สันตะสำนักออกหนังสือ คู่มือการสอนคำสอน พร้อมกับคำแนะนำใหม่ในการสอนคำสอน