
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับกฎหมายการทำแท้ง
โดย บาทหลวง ดร.เชิดชัย เลิศจิตรเลขา คณะกรรมการที่ปรึกษาเทววิทยา ในสภาประมุขบาทหลวงฯ
การทำแท้งเป็นปัญหาที่มีการโต้เถียงกันมากที่สุดปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโต้เถียงเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสีย หรือผลดีและผลเสียที่จะตามมา เช่น ผู้ที่สนับสนุนให้มีกฎหมายการทำแท้งได้มักอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไปแอบทำแท้งกับหมอเถื่อนตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ให้บริการการทำแท้งซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหญิงเอง เพราะไม่ถูกหลักวิชาการและไม่ถูกหลักสุขอนามัย โดยในแต่ละปีมีผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านกฎหมายการทำแท้งก็อ้างว่า ทั้ง ๆ ที่การทำแท้งซึ่งเป็นการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ มีกฎหมายห้ามและมีบทลงโทษ แต่ก็ยังมีผู้ที่ลักลอบทำแท้งกันมากมาย ดังนั้น ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คงจะมีทารกผู้บริสุทธิ์อีกเป็นจำนวนมากถูกฆาตกรรม โดยจะกลายเป็นการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
รายงานฉบับนี้ จะพิจารณาถึงปัญหาศีลธรรมเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ในหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง 2) คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง 3) ศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ 4) ความขัดแย้งของมโนธรรมต่อกฎหมายการทำแท้งที่ผิดศีลธรรม 5) มโนธรรมของคริสตชนในการเผชิญหน้ากับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม และ 6) แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในเรื่องสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล และเวชบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้บริสุทธิ์
1. เหตุผลที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขกฎหมายห้ามทำแท้ง
ตามกฎหมายไทย การทำแท้งเป็นความผิดอาญาฐานทำให้แท้งลูก ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการทำแท้งไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ซึ่งสรุปได้ว่า 1) ในกรณีที่หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก หญิงนั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก 2) ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมหรือโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ผู้นั้นมีความผิดฐานทำให้แท้งลูก และ 3) และหากการทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย หรือเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
ดังนั้น การทำแท้งจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการตั้งครรภ์ที่มีผลมาจากการถูกข่มขืน หรือการตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงนั้นที่ตั้งครรภ์ เงื่อนไขนี้ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตั้งครรภ์เพราะมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ไม่สามารถทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเหล่านี้พึ่งพาคลินิกทำแท้งเถื่อนดังที่เป็นข่าว ในอดีตมีความพยายามจะแก้กฎหมาย มาตรา 305 หลายครั้ง ช่วงเวลาที่ไปได้ไกลที่สุดคือ ระหว่างการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งระบุว่าจะต้องแก้ มาตรา 305 โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอีก 2 ประการ คือ 1) เมื่อผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือจิต และ 2) เมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลวจากการปฏิบัติของแพทย์
เมื่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูกหรือ “ทำแท้ง” โดยมีที่มาคือ ก่อนหน้านั้นได้มีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 28 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” และเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 คือ
- กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน
- เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีต่าง ๆ ที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ “ทำแท้ง” โดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของแพทย์สภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก โดยมีรายละเอียดดังนี้ “มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับมาตรา 305 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ “มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด 1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 2) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ และ 4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์”
2. คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า การทำแท้งโดยตรงเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมและเลวทรามที่สุด พระสมณสาสน์ “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) ที่กล่าวถึงพระบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นั้น พระสันตะปาปาทรงแถลงในเบื้องต้นว่า “…โดยอาศัยอำนาจที่พระคริสตเจ้าทรงมอบให้แก่นักบุญเปโตร และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากท่าน และในการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาพระสังฆราชในพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก เราขอย้ำว่า การฆ่าชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรงและกระทำด้วยความสมัครใจเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมอย่างหนักในทุกกรณี” (เทียบ EV ข้อ 57) จากคำสอนดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงต้องการให้คำนิยามความหมายเฉพาะของการทำแท้งโดยตรงว่าเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมอย่างร้ายแรงใน 2 ลักษณะ คือ ในลักษณะแรก พระองค์ทรงเน้นถึงการกระทำทางศีลธรรมที่ในตัวมันเองเป็นสิ่งที่ชั่ว ไร้ศีลธรรม (intrinsice malum) นั่นคือ เป็นการฆ่าชีวิตโดยตรงและด้วยความสมัครใจ และในลักษณะที่สอง พระองค์ทรงเน้นถึงความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกระทำ (the innocent) กล่าวคือ ทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิด
จุดยืนอันมั่นคงของพระศาสนจักรคาทอลิกที่ประณามการทำแท้งด้วยความจงใจ (direct abortion) นั้นมีมาตลอด เพราะการทำแท้งนี้เป็นการฆาตกรรมชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการทำแท้งโดยความตั้งใจเป็นการกระทำที่ชั่วในตัวเอง และทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ไม่เคยเป็นผู้รุกรานที่ก้าวร้าว (an unjust aggressor) เพราะจากความเชื่อของคริสตชน สิทธิขั้นพื้นฐานแห่งการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์เป็นของประทานจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นเจ้าของชีวิต มนุษย์เป็นผู้เฝ้ารักษา แม้แต่มารดาก็มิใช่เจ้าของชีวิตบุตรของตน ชีวิตเป็นของประทานอันล้ำค่าจากพระเจ้าซึ่งมนุษย์มีหน้าที่เฝ้ารักษาเท่านั้น แล้วเหตุอันใดมนุษย์จะทำลายของขวัญอันล้ำค่านี้เสียเล่า พระศาสนจักรคาทอลิกเล็งเห็นความสำคัญของชีวิตมนุษย์ตลอดมา และยังคงต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและคุณค่าพื้นฐานของชีวิตมนุษย์เรื่อยมา
ศักดิ์ศรีและคุณค่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นบุคคลที่ไม่มีใครสามารถทำลายลงได้ แต่ในสังคมปัจจุบันชีวิตมนุษย์ได้ถูกคุกคามและถูกทำลายอย่างน่าสยดสยอง เช่น การฆ่าคนในทุกรูปแบบ การทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ การทำแท้ง เมตตามรณะ การจงใจฆ่าตัวตาย สิ่งต่าง ๆ ที่ละเมิดต่อบูรณภาพของความเป็นบุคคล เช่น การทำให้พิการ การทรมานทางร่างกายและจิตใจ การบีบคั้นจิตใจ สิ่งต่าง ๆ ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นบุคคล (the human dignity) เช่น สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่สมกับความเป็นมนุษย์ การขังคุกตามอำเภอใจ การเนรเทศ การจับเป็นทาส การบังคับค้าประเวณี การซื้อขายเด็กและสตรี ตลอดจนการใช้แรงงานมนุษย์ดุจเครื่องมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นบุคคลที่เป็นอิสระและมีความรับผิดชอบ [ดูรายละเอียดในพระสมณสาส์น “เรื่องความรุ่งโรจน์แห่งความจริง” (Veritatis Splendor) ข้อ 80 เกี่ยวกับ “การกระทำที่ชั่วในตัวเอง” (intrinsice malum) ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ผิดศีลธรรมเสมอในทุกกรณีและในทุกสถานการณ์ และเทียบกับ Gaudium et Spes ข้อที่ 27]
สภาพสังคมปัจจุบันที่โน้มเอียงใฝ่หา “วัฒนธรรมแห่งความตาย” (the culture of death) มากกว่า “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” (the culture of life) พระศาสนจักรคาทอลิกที่เป็นผู้เผยพระวาจาของพระเจ้าซึ่งเป็นพระวาจาที่ให้ชีวิต (the gospel of life) ได้สอนถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าพื้นฐานที่ต้องได้รับการเคารพอย่างสูงสุด โดยไม่อาจถูกละเมิดได้ [ดูรายละเอียดในพระสมณสาส์น “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) เกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งชีวิตในบทที่สอง] นอกจากนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกยังคงเลือกที่จะอยู่ข้างผู้อ่อนแอและถูกเบียดเบียนในสังคมปัจจุบัน ที่ไม่สามารถป้องกันสิทธิพื้นฐานของตนได้
พระศาสนจักรคาทอลิกในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องชีวิตมนุษย์ (pro-life) ชีวิตที่เริ่มตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิในครรภ์มารดาและสิ้นสุดลงเมื่อต้องตายตามธรรมชาติ ได้ยืนยันถึงคำสอนที่ไม่อาจละเมิดได้นี้ โดยไม่จำกัดเฉพาะในขอบเขตของพระศาสนจักรเท่านั้น แต่รวมไปถึงมนุษย์ทุกคนที่มีน้ำใจดี (all people of good will) ให้พิจารณาถึงการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ดังกล่าว โดยยึดมั่นว่าการปกป้องชีวิตมนุษย์นั้นตั้งอยู่บน “กฎศีลธรรมตามธรรมชาติ” ที่พระเจ้าทรงจารึกลงในจิตใจของมนุษย์ทุกคน และโดยอาศัยเหตุผลมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ได้อย่างเท่าเทียมเสมอกัน
3. ศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ (the dignity and the status of person of the embryo)
กฎบัตรขององค์การสหประชาชาติได้รับรองถึงสิทธิมนุษย์สากล เช่น ในข้อที่ 1 กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีเสรีภาพ สิทธิ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนที่มีมโนธรรมและเหตุผลเท่าเทียมกันจึงต้องปฏิบัติต่อกันและกันฉันพี่น้อง” และข้อที่ 3 กล่าวว่า “ตามปัจเจกบุคคล ทุกคนมีสิทธิในการดำเนินชีวิตตามเสรีภาพและความมั่นคงในแต่ละบุคคลเอง” จากกฎบัตรดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าองค์การสหประชาชาติรับรองความเสมอภาคและเสรีภาพของบุคคล (human person) ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของปัจเจก (individual) หรือบุคคล (human person) ในฐานะที่เกิดและคลอดออกมาพ้นจากครรภ์มารดาแล้วเท่านั้น แต่ปัญหาที่ต้องเผชิญในขณะนี้คือ สิทธิและศักดิ์ศรีดังกล่าวครอบคลุมถึงความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์หรือไม่ ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับการปกป้องหรือไม่ ความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์มารดาเริ่มต้นเมื่อใด ความเป็นบุคคลหมายถึงอะไร มาตรการอะไรที่จะใช้วัดความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์ คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีและสถานภาพความเป็นบุคคลของทารกในครรภ์
พระศาสนจักรคาทอลิกเชื่อถึงการสร้างวิญญาณของมนุษย์โดยตรงจากพระเจ้า ในพระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ข้อที่ 1 กล่าวว่า “ความเป็นมนุษย์ควรที่จะได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลโดยนับตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิสนธิ” ดังนั้น พระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ได้รับรู้ถึงการโต้แย้งถึงปัญหาที่ว่า ความเป็นบุคคลนั้นเริ่มต้นเมื่อใด แต่พระสมณสาสน์เรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Donum Vitae) ก็กล่าวเพียงว่า “ความเป็นมนุษย์ (Human being) จำต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติในฐานะที่เป็นบุคคล (human person) ตั้งแต่เริ่มการปฏิสนธิ”
พระสมณสาสน์ “ข่าวดีเรื่องชีวิต” (Evangelium Vitae) ข้อที่ 60 กล่าวย้ำว่า ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นในขณะที่เกิดการปฏิสนธิ และพระสันตะปาปาทรงเน้นอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “…ในความเป็นจริง ขณะที่ไข่ของมารดา (ovum) ได้รับการผสมนั้น ชีวิตใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วซึ่งไม่ใช่ชีวิตของบิดาหรือมารดา แต่เป็นชีวิตใหม่ของมนุษย์ที่เจริญพัฒนาโดยตัวของตนเอง โดยความเป็นมนุษย์เริ่มต้นที่นี่ วิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมก็ได้รับรองความเป็นจริงข้อนี้ นอกนั้นยังได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในระยะเริ่มแรกแห่งชีวิตโครงการเจริญพัฒนาชีวิตได้ถูกสร้างขึ้นแล้วในความเป็นบุคคลที่ปัจเจกบุคคลซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นแบบเฉพาะ ดังนั้น ตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิชีวิตมนุษย์ได้เริ่มขึ้น ซึ่งการพัฒนาความสามารถนั้นต้องการเวลาในความพร้อมที่จะปฏิบัติเยี่ยงบุคคล” [เทียบ EV ข้อที่ 60 อ้างเอกสารจากกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เรื่องการทำแท้ง ใน ASS 66 (1974) ข้อที่ 738 และ เทียบ ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อ 51]
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า สถานภาพความเป็นบุคคลของทารกที่อยู่ในครรภ์มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการใช้เป็นข้ออ้างอิงในการปกป้องชีวิตของเขา ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิสนธินั้นชีวิตใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้วและพร้อมที่จะพัฒนาโดยตัวของตนเอง ซึ่งต้องการเวลาในความพร้อมที่จะปฏิบัติเยี่ยงบุคคล และจากความคิดในปัจจุบันที่เน้นว่า เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่ได้รับการปกป้องศักดิ์ศรี และสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะจากกฎหมายบ้านเมืองที่มีบทลงโทษ และที่เน้นว่าการให้คำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลก็แตกต่างกันไป แล้วแต่มาตรการที่ใช้วัดความเป็นบุคคล ซึ่งไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้สำหรับทารกที่อยู่ในครรภ์ ในเรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาดูว่าคำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลจากมิติต่าง ๆ มีข้อบกพร่องอย่างไร เมื่อใช้ประยุกต์กับสถานภาพของทารกในครรภ์ นอกจากนั้น การให้คำนิยามความหมายของความเป็นบุคคลที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบบูรณาการ (integral) ยังคงเป็นความพยายามที่กำลังแสวงหากันอยู่
4. ความขัดแย้งของมโนธรรมต่อกฎหมายการทำแท้งที่ผิดศีลธรรม
กฎหมายบ้านเมืองที่มีผลบังคับใช้ในการปฏิบัติในสังคมและมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งมีลักษณะที่เป็นรูปธรรม (concrete) มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของกฎหมายดังกล่าวคือ สามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติได้โดยตรง แต่ข้อเสียคือ ความไม่สมบูรณ์ของกฎหมาย กล่าวคือ โดยธรรมชาติกฎหมายบ้านเมืองมักจะมีช่องว่างอยู่เสมอ เพราะผู้ที่มีอำนาจออกกฎหมายไม่สามารถบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมความเป็นศีลธรรมในทุกสถานการณ์โดยที่ไม่มีข้อยกเว้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและเข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
กฎหมายบ้านเมืองที่สอดคล้องกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติเท่านั้น จึงจะสามารถมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ แต่ถ้ากฎหมายขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติก็จะขาดอำนาจความเป็นกฎหมายในทันที และโดยธรรมชาติแล้วไม่มีกฎหมายฉบับใดที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน (imperfect law) เพราะกฎหมายไม่สามารถครอบคลุมคุณค่าศีลธรรม (moral values) ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน เพราะช่องว่างของกฎหมาย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่กฎหมายมีช่องว่าง ประชาชนที่อยู่ในสังคมที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบจำต้องประยุกต์คุณธรรม epikeia ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มุ่งปฏิบัติตามเจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของกฎหมาย (spirit of the law) มากกว่าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายตามตัวอักษร (letter of the law)
นอกจากกฎหมายบ้านเมืองจะมีช่องว่างและไม่ยุติธรรมแล้ว (unjust law) กฎหมายอาจจะผิดศีลธรรม (immoral law) ก็ได้ ถ้ากฎหมายดังกล่าวขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ (natural moral law) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เช่น การทำแท้ง ซึ่งขัดกับสิทธิในการถือกำเนิด การุณยฆาตซึ่งขัดกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การค้ามนุษย์ซึ่งขัดกับสิทธิในการดำเนินชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี เป็นต้น
ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 (ที่เป็นกฎหมายที่ใช้มานานถึง 52 ปี) ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 28 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเอง” จนนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และขั้นต่อไปจะมีการส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วจึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายที่อนุญาตให้เปิดโอกาสให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้จึงเป็นกฎหมายที่ผิดศีลธรรม เพราะขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ ที่ชีวิตมนุษย์ควรได้รับการเคารพและไม่สามารถละเมิดได้ตั้งแต่การปฏิสนธิ
5. มโนธรรมของคริสตชนในการเผชิญหน้ากับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม
คำสอนของพระศาสนจักรสอนว่า มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่อง พระศาสนจักรในโลกสมัยใหม่ “ความปีติยินดีและความหวัง” (Gaudium et Spes) ข้อที่ 16 กล่าวถึงธรรมชาติของมโนธรรมไว้ว่า “มนุษย์ค้นพบว่า ในส่วนลึกของมโนธรรมมีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่ตนไม่ได้เป็นผู้กำหนดให้เพื่อตนเอง แต่เขาต้องเชื่อฟัง และเสียงของกฎนี้เชิญชวนเขาอยู่ตลอดเวลาให้ทำความดีและหลีกหนีความชั่ว และเมื่อใดถึงเวลาที่จำเป็นกระซิบอยู่ในหูของหัวใจว่า “จงทำการนี้ จงหลีกเลี่ยงการนั้น” อันที่จริง มนุษย์มีกฎที่พระเจ้าทรงจารึกไว้ในใจของตน การเชื่อฟังกฎนี้จึงเป็นศักดิ์ศรีของเขา และเขาก็จะถูกพิพากษาตัดสินตามกฎนี้” (เทียบ รม. 2: 14-16) และยังกล่าวต่อไปว่า “มโนธรรมเป็นจุดลึกลับและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของมนุษย์ ที่จุดนี้ มนุษย์อยู่เป็นส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งตรัสกับเขาในส่วนลึกของจิตใจ มโนธรรมทำให้กฎนี้ปรากฏแจ้งอย่างน่าพิศวงว่า การปฏิบัติตามกฎอย่างสมบูรณ์ คือ ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ คริสตชนจึงพยายามแสวงหาความจริงร่วมกับเพื่อนมนุษย์โดยความซื่อสัตย์ต่อมโนธรรม” ด้วยเหตุนี้เอง จึงสังเกตได้ว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การตัดสินใจกระทำตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูกเป็นกฎหมายบ้านเมืองที่ผิดศีลธรรม (immoral law) เพราะขัดกับกฎศีลธรรมตามธรรมชาติ กฎหมายบ้านเมืองที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฎศีลธรรมธรรมชาติเท่านั้น จึงมีผลบังคับต่อมโนธรรม และกฎหมายที่ผิดศีลธรรมจึงไม่มีผลบังคับต่อมโนธรรมของประชาชนและไม่ต้องปฏิบัติตาม ประชาชนที่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบ จำต้องต่อต้านกฎหมายที่ผิดศีลธรรมอย่างแข็งขัน โดยมีลำดับของความเข้มข้น โดยเริ่มจากการปฏิเสธในการให้ร่วมมือจนถึงขั้นการชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธี ซึ่งการยอมสู้ทน (tolerance) หรืออหิงสาเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับบุคคลที่อยู่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะต่อกฎหมายบ้านเมืองที่ผิดศีลธรรม
การตัดสินมโนธรรมของคริสตชนที่เผชิญกับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม ในหนังสือกิจการอัครสาวกนักบุญเปโตรกล่าวว่า “ควรที่จะเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (เทียบ กจ 5:29) ซึ่งในสมัยอัครสาวกถือว่าการนอบน้อมเชื่อฟังพระเจ้าเป็นการตัดสินใจในระดับมโนธรรมของตน ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างมโนธรรมกับกฎหมายที่ผิดศีลธรรม คริสตชนและมนุษย์ทุกคนจำต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของมโนธรรมของตนเอง
นอกนั้น ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อที่ 59 กล่าวถึงการคัดค้านที่เกิดจากมโนธรรมเมื่อมีกฎหมายทำแท้งว่า “เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ ผู้ทำงานด้านสุขภาพอนามัยต้อง ‘ปฏิเสธอย่างสุภาพแต่หนักแน่น’ มนุษย์ไม่สามารถเชื่อฟังกฎหมายที่ผิดศีลธรรม เช่น กรณีของกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ตามหลักการที่ว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจละเมิดชีวิตมนุษย์ที่ทำลายไม่ได้ เพราะกฎของพระเจ้าที่ปกป้องคุ้มครองชีวิตต้องมาก่อนกฎหมายใด ๆ ของมนุษย์ เมื่อกฎหมายของมนุษย์ขัดแย้งกับมโนธรรมต้องยืนยันถึงสิทธิประการแรกและความเป็นเลิศสูงสุดของบัญญัติของพระเจ้า ‘เราต้องนบนอบเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์’ (กจ 5:29)” (เทียบ ธรรมนูญใหม่ฯ ข้อ 59)
6. แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในเรื่องสุขภาพ
บทสรุปในแนวทางการปฏิบัติสำหรับบรรดาผู้ที่ทำงานด้านการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์ พยาบาล และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จากสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลกในปี ค.ศ. 1974 สามารถสรุปเนื้อหาได้ดังต่อไปนี้
- โรงพยาบาลคาทอลิกไม่สามารถให้การบริการการทำแท้งได้ ไม่ว่ากฎหมายจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม และพวกเขาก็ไม่สามารถร่วมมือในการให้บริการดังกล่าวได้แม้แต่การร่วมมือในด้านการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ (material cooperation)
- แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพที่ทำงานในแผนกซึ่งให้การบริการการทำแท้งในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของคาทอลิก ไม่สามารถปฏิบัติงานในแผนกนี้อย่างผู้ที่มีมโนธรรมถูกต้องได้
- แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพควรที่จะเป็นประจักษ์พยานต่อสาธารณชนในความเชื่อแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ความเป็นของบุคคลทั้งครบ คุณค่าของชีวิตในทุกขั้นตอน และการมีความเมตตากรุณาต่อผู้เจ็บป่วย
- แพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพควรร่วมลงชื่อด้วยมโนธรรมของตน ในการปฏิเสธให้ความร่วมมือต่อสถานพยาบาลที่มีการทำแท้ง
- การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างหนัก โรงพยาบาลคาทอลิกที่ให้บริการทำแท้งหรือรับบริการการทำแท้งหรือชักชวนให้ผู้อื่นทำแท้ง ก็ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ซึ่งขัดกับพระบัญญัติแห่งความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์
- การให้ความร่วมมือในการทำแท้งถึงแม้ว่าจะเป็นการร่วมมือประเภทจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมก่อนล่วงหน้า (the remote material cooperation) แต่เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อ คริสตชนพยาบาลควรหลีกเลี่ยงในการกระทำนั้น ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นสิ่งชั่วในตัวมันเองก็ตาม
- กฎหมายของพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อที่ 1398 กล่าวถึงผู้ที่กระทำหรือได้รับการกระทำหรือชักชวนให้ผู้อื่นกระทำแท้งด้วยความสมัครใจว่า เขาตัดตนเองออกจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติ (automatic excommunication) โดยที่จุดประสงค์ของการขับออกจากพระศาสนจักรนี้ ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงธรรมเนียมของคริสตชนในสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่ประกาศว่า “การทำแท้ง การฆ่าทารก เป็นการฆาตกรรมที่ไม่มีข้อโต้แย้ง” แต่แน่นอนที่สุดการตัดตนเองออกจากพระศาสนจักรนี้ใช้กับผู้ที่กระทำการนี้ด้วยความรู้ตัวและด้วยความเต็มใจในการกระทำผิด แต่พวกเขาสามารถกลับคืนสู่พระ ศาสนจักรได้อีก ในการกลับใจ ในศีลอภัยบาป ในการเป็นทุกข์เสียใจ เพราะพระศาสนจักรต้องการความรอดพ้นของวิญญาณเหนือสิ่งอื่นใด
บรรณานุกรม
- Catechism of the Catholic Church, 2258.
- Congregation for the Doctrine of the Faith, Instruction Dignitas personae. On Certain Bioethical Questions (September 8, 2008) AAS 100 (2008).
- Congregation for the Doctrine of the Faith, Declaration on Procured Abortion(18 November 1974), Nos. 12-13: AAS 66 (1974), 738.
- Congregation for the Doctrine of the Faith, Instruction on Respect for Human Life in its Origin and on the Dignity of Procreation Donum Vitae(22 February 1987), I, No. 1: AAS 80 (1988), 78-79.
- John Paul II, Evangelium Vitae. Encyclical Letter of Pope John Paul II on the Value and Inviolability of Human Life. (March 25, 1995) AAS 87 (1995).
- John Paul II, Veritatis Splendor, Encyclical Letter of Pope John Paul II Regarding Certain Fundamental Questions of the Church’s role in moral Teaching. (August 1993)
- Second Vatican Council, Pastoral Constitution on the Church in the Modern WorldGaudium et Spes.
- Pontifical Council for Pastoral Assistance to Health Care Workers, New Charter for Health Care Workers. The National Catholic Bioethics Center : Philadelphia 2017.
- สมณสภาเพื่อช่วยเหลืองานอภิบาลสำหรับผู้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพอนามัย ธรรมนูญใหม่สำหรับผู้ทำงานด้านการดูแลสุขภาพอนามัย, ส สยามออฟเซ็ท : กรุงเทพฯ 2563
โดย บาทหลวง ดร.เชิดชัย เลิศจิตรเลขา คณะกรรมการที่ปรึกษาเทววิทยา ในสภาประมุขบาทหลวงฯ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีความคิดที่จะปฏิรูปพระศาสนจักร
- สมณลิขิตในรูปแบบพระสมณอัตตาณัติ (Motu Proprio) ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส “ANTIQUUM MINISTERIUM”
- พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันว่า
เลบานอนคือประเทศต่อไปที่พระองค์จะเสด็จไปเยือน - ประสบการณ์และความประทับใจในการเข้าร่วมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ..
- คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พิธีรำลึกครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันแห่งซีน็อดของบรรดาบิชอป