Skip to content

สรุปเนื้อหาสมณสาส์นเวียนด้านสังคมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
“ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน - Fratelli Tutti”

สมเด็จพระสันตะปาปากับเยาวชนนานาชาติ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงชี้ให้เห็นว่าภราดรภาพและมิตรภาพ (กัลยาณมิตร) ทางสังคม คือหนทางในการสร้างโลกที่ดีกว่า ความยุติธรรมและสันติสุขปรากฎขึ้นได้มากกว่าโดยอาศัยความร่วมมือของทุกคนและทุกสถาบัน ทุกองค์กร  พระองค์ทรงเน้นเป็นพิเศษว่าพวกเราจะต้องระงับสงครามและโลกาภิวัตน์ที่เอารัดเอาเปรียบมุ่งแต่ผลประโยชน์ตนเองโดยไม่สนใจใยดีต่อผู้อื่น

        นี่ช่างเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่เสียนี่กระไร แต่ก็ยังเป็นหนทางที่สัมผัสได้ด้วยสำหรับบุคคลทุกชนชั้น ซึ่งปรารถนาที่จะสร้างโลกที่มีความยุติธรรมและมีภราดรภาพมากกว่าในความสัมพันธ์ตามปกติ ทั้งในชีวิตสังคม ในทางการเมือง และสถาบันของพวกเขา?  นี่เป็นเรื่องใหญ่ เนื้อหาใจความของสมณสาส์นเวียน “ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti” ซึ่งมุ่งที่จะให้คำตอบ  พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า สมณสาส์นเวียนฉบับนี้ดุจเป็น “สมณสาส์นเวียนด้านสังคม” (ข้อ 6) ที่ยืมหัวข้อมาจาก “คำเตือนใจ” ของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีผู้ที่ใช้คำนี้ในการ “ทักทายพี่น้องของท่าน และเสนอวิถีชีวิตที่เน้นถึงคุณค่าแห่งพระวรสาร” (ข้อ 1) “Poverello” (เพื่อนที่ยากจนน่าสงสาร) ของท่านนักบุญไม่ได้หมายถึงการสู้รบด้วยวาทะหรือการปะคารม ทว่าความเชื่อผลักดันท่านในการเผยแผ่ความรักของพระเจ้า”  พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอักษรว่า “ท่านนักบุญได้กลายเป็นบิดาของทุกคนและเป็นแรงบันดาลใจให้เห็นถึงวิสัยทัศน์แห่งสังคมแบบภราดรภาพ” (ข้อ 2-4)  สมณสาส์นเวียนฉบับนี้มุ่งส่งเสริมแรงบันดาลใจสากลสู่ภราดรภาพและสังคมแห่งมิตรภาพ หรือกัลยาณมิตร เริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกร่วมของพวกเราในครอบครัวมนุษยชาติ จากการยอมรับว่าพวกเราล้วนเป็นพี่น้องกัน เพราะว่าพวกเราต่างเป็นลูกของพระผู้สร้างหนึ่งเดียวกัน ทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องรับรู้ว่าในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีความเชื่อมโยงกัน จำเป็นต้องร่วมมือร่วมใจกันเท่านั้นที่ทำให้พวกเราจะอยู่รอดได้  เอกสารภราดรภาพมนุษย์ที่ลงนามโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและ มหาอีหม่ามแห่งอัลลาซา ประเทศอียิปต์ (Grand Imam of Al-Azhar) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ณ กรุงอาบู ดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับอีมิเรต อันมีอิทธิพลในการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งถูกนำมาอ้างอิงหลายครั้งหลายครา  ภราดรภาพควรที่จะได้รับการสนับสนุนไม่ใช่เพียงด้วยวาจาสวยหรู แต่ต้องด้วยการลงมือปฏิบัติ การกระทำอย่างรูปธรรมทำให้สัมผัสได้กับ “ประเภทของการเมืองที่ดีกว่า” ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ด้านการเงิน แต่เพื่อการบริการรับใช้ความดีประโยชน์สุขส่วนรวม สามารถเชิดชูศักดิ์ศรีของทุกคนให้เป็นศูนย์กลาง และสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีงานทำ เพื่อว่าแต่ละคนจะได้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง ต้องเป็นลักษณะการเมืองที่ปราศจากซึ่งประชานิยม สามารถที่จะหาทางแก้ปัญหาสิ่งที่โจมตีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และมุ่งที่จะขจัดความหิวโหยและการค้ามนุษย์ ในขณะเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นว่า โลกที่มีความยุติธรรมมากกว่าจะบรรลุได้ด้วยการส่งเสริมสันติสุข ซึ่งไม่เพียงแต่จะปราศจากซึ่งสงครามเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้ต้องมี “ยุทธวิธี” ด้วย  ซึ่งเป็นงานที่ต้องการความร่วมมือของทุกคน โดยที่มีการเชื่อมโยงกับความจริง สันติสุข และการคืนดีกันต้องเป็นการปฏิบัติ “อย่างจริงจัง” ต้องทำเพื่อความยุติธรรมโดยอาศัยการเสวนาเพื่อการพัฒนาร่วมกัน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พระสันตะปาปาต้องประณามสงคราม ซึ่งเป็นการปฏิเสธ “สิทธิ” ทุกอย่าง และเป็นสิ่งที่ไม่อาจที่จะเข้าใจได้แม้ในรูปแบบของความชอบธรรมที่ตนสมมุติขึ้นมา เพราะสงครามนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและชีวภาพได้ก่อผลร้ายให้กับประชากรผู้บริสุทธิ์  นอกจากนี้แล้วพวกเราต้องปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อโทษประหารชีวิตซึ่งมีคำจำกัดความว่า “ยอมรับไม่ได้” และเป็นศูนย์กลางแห่งการไตร่ตรองถึงการให้อภัยที่เชื่อมโยงกับความเข้าใจเกี่ยวกับความยุติธรรม  การให้อภัยไม่ได้หมายถึงการลืมและไม่ใช่การยกเลิกการปกป้องสิทธิในการรักษาศักดิ์ศรีของตนซึ่งเป็นของขวัญของพระเจ้า ภูมิหลังของสมณสาส์นเวียนนี้ สืบเนื่องมาจากภัยพิบัติของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสเผยว่าเป็น “สิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่พวกเราไม่ได้คาดคิด” ในขณะที่พระองค์กำลังอักษรสมณสาส์นฉบับนี้ แต่ความเร่งด่วนเกี่ยวกับสุขภาพชีวิตชาวโลกได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า “ไม่มีผู้ใดสามารถเผชิญหน้ากับชีวิตได้โดยลำพัง” และเวลามาถึงแล้วที่จะต้อง “ฝันในบ้านที่พวกเราเป็นครอบครัวมนุษย์เดียวกัน” ซึ่งพวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน (ข้อ 7-8)

ปัญหาของโลกาภิวัตน์ การปฏิบัติในโลกาภิวัตน์

โดยอาศัยการเปิดตัวของสมณสาส์นเวียนด้วยบทนำสั้นๆ และแบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 บทในเนื้อหาสมณสาส์นเวียนฉบับนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอธิบายว่าเนื้อหาสาระในสมณสาส์นนี้รวบรวมคำแถลงการณ์หลายครั้งของพระองค์เกี่ยวกับภราดรภาพและมิตรภาพทางสังคม แต่มีการจัดการไตร่ตรองในบริบทที่กว้างๆ พร้อมกับเสริมด้วยจดหมายและเอกสารหลายฉบับที่ส่งมายังสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจากทั้งปัจเจกบุคคลและกลุ่มชนทั่วโลก” (ข้อ 5) ในบทแรก “เมฆทึบปกคลุมโลกที่ปิดกั้นตัวเองเนื้อหาของเอกสารไตร่ตรองถึงความเพี้ยนแห่งยุคร่วมสมัย การบิดเบี้ยวและสร้างความเข้าใจผิดต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรม การสูญเสียความหมายของชุมชนสังคม และประวัติศาสตร์ การเห็นแก่ตัวและการวางตนเฉยต่อความดีประโยชน์สุขส่วนรวม ความสำคัญแห่งตรรกะเรื่องตลาดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกำไร และวัฒนธรรมแห่งการกินทิ้งกินขว้าง การว่างงาน การแบ่งแยกผิว ความยากจน สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการหลงผิดต่างๆ เช่น การเป็นทาส การค้ามนุษย์ สตรีที่เป็นเบี้ยล่างถูกบังคับให้ทำแท้ง และการค้าอวัยวะมนุษย์ (ข้อ 10-24)  เนื้อหาได้พูดถึงปัญหาโลกาภิวัตน์ที่เรียกร้องให้มีการกระทำแบบโลกาภิวัตน์ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นพร้อมกับย่ำระฆังเตือนให้ระวัง “วัฒนธรรมของการสร้างกำแพง”  ที่ส่งเสริมการขยายตัวขององค์กรอาชญากรรมที่โหมด้วยการกระทำให้เกิดความกลัว และการอยู่อย่างสันโดษ (ข้อ 27-28) ยิ่งไปกว่านั้นทุกวันนี้พวกเราสังเกตได้ว่าจริยธรรมยิ่งวันยิ่งจะเสื่อมลง (ข้อ 29) ซึ่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่งโดยสื่อสารมวลชนจะเติมเชื้อเพลิงโหมไฟให้กับการไม่ให้ความเคารพต่อผู้อื่นพร้อมกับทำลายความอหิงสาไปทั้งหมดจนก่อให้เกิดวัฎจักรแห่งการอยู่อย่างสันโดษ และยึดเอาตนเองเป็นใหญ่ซึ่งเสรีภาพจะกลายเป็นภาพลวงตา และการเสวนาจะไม่สร้างสรรค์ (ข้อ 42-50)

ความรักสร้างสะพาน: ชาวสะมาเรียผู้ใจดี

ทว่าท่ามกลางความมืดมนมากมายสมณสาส์นเวียนตอบสนองด้วยตัวอย่างที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการป่าวประกาศให้มีความหวังด้วยเรื่องของชาวสะมาเรียผู้ใจดี บทที่สอง “คนแปลกหน้าบนท้องถนน” อุทิศให้กับภาพพจน์นี้ ในบทนี้พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นว่าในสงคมที่กำลังป่วย ได้หันหลังให้กับความทุกข์และกลายเป็นบุคคลที่ “ไม่รู้จัก” การดูแลเอาใจใส่คนที่อ่อนแอและเปราะบาง (ข้อ 64-65) พวกเราทุกคนถูกเรียกร้องให้ต้องเป็นดุจชาวสะมาเรียผู้ใจดี ให้เป็นเพื่อนบ้านต่อผู้อื่น (ข้อ 81) ให้เอาชนะต่อความลำเอียง ผลประโยชน์ส่วนตัว เครื่องกีดขวางแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ความจริงเราทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างสังคมที่สามารถรวม ผนึกกำลังร่วมกัน และยกระดับผู้ที่ล้มลงและมีทุกข์ (ข้อ 77)  ความรักสร้างสะพานและ  “พวกเราถูกสร้างมาเพื่อความรัก” (ข้อ 88) พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตรัสเพิ่มพร้อมกับเตือนใจบรรดาคริสตชนให้รับรู้เมื่อพบกับทุกคนที่ถูกทอดทิ้ง (ข้อ 85) หลักการแห่งความสามารถที่จะรักตาม “มิติสากล” (ข้อ 83) มีการกล่าวถึงในบทที่สาม “การพิจารณาไตร่ตรองและก่อให้เกิดโลกที่เปิดกว้างในบทนี้พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเตือนใจพวกเราให้ออก “ไปข้างนอก อกกจากตนเอง” เพื่อที่จะพบ “การมีชีวิตที่สมบูรณ์กว่าในผู้อื่น”  (ข้อ 88) เปิดใจพวกเราให้กับผู้อื่นตามพลวัตแห่งความรักความเมตตาซึ่งทำให้พวกเราเอนเอียงไปสู่ “ความสำเร็จสากล” (ข้อ 95) ในภูมิหลังสมณสาส์นเวียนเตือนใจพวกเราว่าสถานภาพชีวิตฝ่ายจิตแห่งชีวิตของบุคคลจะถูกวัดด้วยความรักซึ่งจะมา “เป็นอันดับหนึ่ง” เสมอ และนี่แหละจะนำให้พวกเราแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าสำหรับชีวิตของผู้อื่นที่ห่างไกลจากการเห็นแก่ตัว (ข้อ 92-93)

สิทธิอันไม่มีพรมแดน ผู้อพยพ: การปกครองสากลเพื่อการวางแผนระยะยาว

ในขณะที่ส่วนหนึ่งของบทที่สองและบทที่สี่ทั้งบทอุทิศให้กับเรื่องผู้อพยพ บทที่สี่ที่มีชื่อว่า “หัวใจที่เปิดกว้างสู่โลกทั้งโลก” เมื่อชีวิตของผู้คนต้องตกอยู่ใน “ความเสี่ยง” (ข้อ 37) หลายคนต้องหนีสงคราม การเบียดเบียน ภัยธรรมชาติ การค้ามนุษย์ ถูกตัดขาดจากชุมชนของตนเอง ผู้อพยพควรได้รับการต้อนรับ ได้รับการคุ้มครอง ได้รับการสนับสนุนให้ผนึกเข้าอยู่ในสังคม การอพยพที่ไม่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง พระสันตะปาปาทรงยืนยัน โดยการสร้างโอกาสที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่ในขณะเดียวกันพวกเราจำเป็นต้องให้ความเคารพต่อสิทธิที่พวกเขาจะไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่อื่น ในประเทศที่เป็นเจ้าภาพสมดุลที่ดีต้องมีระหว่างการให้การคุ้มครองสิทธิแห่งประชากรของตนและการต้อนรับและให้ความช่วยเหลือต่อผู้อพยพ (ข้อ 38-40)  พระสันตะปาปาทรงชี้ให้เห็นเป็นพิเศษถึง “หลายขั้นตอนที่จะละเว้นมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบสนองต่อผู้ที่ลี้ภัยกับวิกฤติของการละเมิดมนุษยธรรมอย่างแสนสาหัส”   เช่น การอำนวยความสะดวกในการการออกวีซ่า เปิดประตูให้กับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สร้างหลักประกันให้ผู้อพยพได้มีที่พักอาศัย  มีความปลอดภัย มีบริการที่จำเป็น เปิดโอกาสให้มีงานทำ และมีการฝึกอาชีพ สนับสนุนให้สมาชิกครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน คุ้มครองผู้เยาว์  รับประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา ส่งเสริมให้เข้าอยู่ในสังคม  สันตะบิดรยังเรียกร้องให้มีความคิดด้านสังคมถึงเรื่อง “การเป็นประชากรอย่างสมบูรณ์” และปฏิเสธการแยกชนชั้นโดยเลิกใช้คำว่า “ชนกลุ่มน้อย” (ข้อ 129-131) สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดก็คือการปกครองโลกซึ่งเป็นความร่วมมือสากลเพื่อการอพยพ ซึ่งต้องมีการวางแผนระยะยาวโดยก้าวข้ามความเร่งด่วนแต่อย่างเดียว (ข้อ 132) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุกคนโดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการแห่งการให้แบบเปล่าๆ  โดยอาศัยวิธีนี้ประเทศต่างๆ จะสามารถคิดในฐานะที่พวกเราเป็น “ครอบครัวมนุษย์” (ข้อ 139-141) คนอื่นที่แตกต่างจากพวกเราเป็นของขวัญและเป็นความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เพราะว่าความแตกต่างหมายถึงโอกาสที่จะทำให้เราเจริญเติบโต (ข้อ 133-135) วัฒนธรรมที่ดีเป็นวัฒนธรรมที่ให้การต้อนรับที่สามารถเปิดหัวใจของผู้อื่นโดยไม่ต้องปฏิเสธวัฒนธรรมของตนเองพร้อมกับมอบสิ่งที่ดีงามให้กับพวกเขา  เฉกเช่นรูปทรงที่มีหลายมุมซี่งเป็นภาพพจน์โปรดของพระสันตะปาปาฟรานซิส การมองโลกแบบองค์รวมทั้งครบย่อมจะดีกว่าเพียงส่วนเดียว ทว่าคุณค่าของแต่ละส่วนต้องได้รับความเคารพด้วย (ข้อ 145-146)

การเมือง: รูปแบบที่มีคุณค่าแห่งความรักเมตตา

เนื้อหาในบทที่ห้าคือ “ประเภทของการเมืองที่ดีกว่า” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่มีค่ามากที่สุดแห่งความรัก เพราะว่านั่นมีเพื่อการบริการรับใช้ต่อความดีประโยชน์สุขส่วนรวม (ข้อ 180) และการรับรู้อย่างดีถึงความสำคัญของประชาชน เข้าใจดีว่านั่นเป็นการเมืองที่เปิดกว้างพร้อมที่จะให้มีการอภิปรายและการเสวนา (ข้อ 160) ตามข้อสังเกตของสมเด็จพระสันตะปาปา ในมุมมองหนึ่งนี่เป็นประชานิยม ซึ่งเผชิญหน้ากับ “ประชานิยม” นั้นที่ไม่สนใจใยดีกับความถูกต้องของความเข้าใจของคำว่า “ประชาชน” โดยสร้างความนิยมเพื่อที่จะเอารัดเอาเปรียบพวกเขาเพื่อรับใช้ตนเอง และสร้างการเห็นแก่ตัวเพื่อที่จะเพิ่มความนิยมของตนเอง (ข้อ 159)  แต่การเมืองที่ดีกว่ายังเป็นการเมืองที่ปกป้องแรงงานด้วย ซึ่งเป็น “ปัจจัยที่สำคัญยิ่งในชีวิตสังคม” และหาโอกาสในการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน (ข้อ 162) พระสันตะปาปาทรงอธิบายว่าความช่วยเหลือที่ดีที่สุดต่อคนยากจนไม่ใช่มีแต่ให้เงิน ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบชั่วคราว แต่ต้องทำให้พวกเขามีชีวิตที่มีศักดิ๋ศรีโดยอาศัยการทำงาน นโยบายต่อต้านความยากจนที่ดีจริง ไม่เพียงแต่ทำใหคนยากจนไม่ก้าวร้าว แต่จะต้องส่งเสริมพวกเขาในมิติแห่งความเอื้ออาทรและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อ 187) ยิ่งกว่านั้นหน้าที่ของการเมืองจะต้องหาทางแก้ปัญหาให้กับทุกสิ่งที่มาทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การถูกตัดขาดออกจากสังคม การค้าอวัยวะมนุษย์ การค้าอาวุธและยาเสพติด การเอารัดเอาเปรียบเรื่องเพศ การทำงานเยี่ยงทาส การก่อการร้าย และองค์กรอาชญากรรม พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงย้ำการอุทธรณ์ให้เลิกการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาดอันเป็น “ต้นเหตุแห่งความอับอายของมนุษย์” และความหิวโหยซึ่งเป็น “อาชญากรรม” เพราะว่าอาหารเป็น “สิทธิอันจะล่วงละเมิดเสียมิได้” (ข้อ 188-189)

ตลาดการค้าในตัวเองไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา ต้องมีการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ

อัศจรรย์ของความใจดี

        ตั้งแต่บทที่หก “การเสวนาและมิตรภาพในสังคม” สร้างความเข้าใจเรื่องชีวิตให้ดียิ่งขึ้นว่าเป็น “ศิลปะแห่งการพบปะกัน” กับทุกคน แม้กับผู้ที่อยู่ตามชายขอบของโลกและกับคนพื้นเมือง เพราะว่า “พวกเราแต่ละคนสามารถเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากผู้อื่น ไม่มีผู้ใดไร้ค่า และไม่มีผู้ใดที่จะทอดทิ้งไว้ข้างหลัง” (ข้อ 215) อันที่จริงแล้วการเสวนาที่ดีคือสิ่งที่จะทำให้พวกเราเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของเขา และที่สำคัญคือความจริงแห่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเขา ลัทธิอนุโลมนิยมไม่ใช่การแก้ปัญหาดังที่พวกเราอ่านในสมณสาส์นเวียน เพราะหากปราศจากซึ่งหลักการสากลและหลักคุณธรรมที่ระงับมความชั่วภายใน กฎหมายก็จะกลายเป็นเพียงข้อบังคับที่คิดขึ้นมาเอง (ข้อ 206) จากมุมมองนี้บทบาทพิเศษตกเป็นของสื่อสารสังคมซึ่งปราศจากการเอารัดเอาเปรียบความอ่อนแอของมนุษย์ และการนำเอาสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในตัวเรามาตีแผ่ จะต้องนำพาให้ทุกคนไปสู่การพบปะกันด้วยใจกว้างและการไม่ปิดกั้นคนที่ต่ำต้อยที่สุด ต้องส่งเสริมความใกล้ชิดกันและความหมายแห่งครอบครัวมนุษย์ (ข้อ 205) นั้นแหละจึงจะหมายถึงการที่พระสันตะปาปากล่าวถึงอัศจรรย์แห่ง “ความใจดี การมีน้ำใจ” ซึ่งเป็นทัศนคติที่พวกเราต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ เพราะว่านี่เป็นดวงดารา “ที่ให้ความสว่างท่ามกลางความมืด” และ “ทำให้พวกเราเป็นไทจากความโหดร้าย … การร้อนอกร้อนใจอย่างกระวนกระวาย … การเร่งรีบทำงานอย่างบ้าคลั่ง เน้นผลงาน” ซึ่งมักจะกระทำกันอยู่ในยุคร่วมสมัย พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอักษรว่าคนที่ใจดีจะสร้างความเป็นอยู่ร่วมกันที่ดี และเปิดทางในสถานที่ซึ่งความโกรธนั้นย่อมเผาสะพาน (ข้อ 222-224)

ศิลปะแห่งสันติสุขและความสำคัญของการให้อภัย

คุณค่าและการส่งเสริมสันติจะสะท้อนให้เราเห็นในบทที่เจ็ด “หนทางในการฟื้นฟูการพบปะกันซึ่งพระสันตะปาปาทรงย้ำว่าสันติสุขนั้นเชื่อมโยงกับความจริง ความยุติธรรม และความเมตตา ซึ่งห่างไกลจากความปรารถนาที่จะแก้แค้น นี่เป็น “การกระทำเชิงบวก” และมีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมบนพื้นฐานแห่งการรับใช้ผู้อื่น และการติดตามการคืนดีกันพร้อมกับการพัฒนาซึ่งกันและกัน (ข้อ 227-229) ทุกคนในสังคมต้องรู้สึก “ความเป็นกันเอง” พระสันตะปาปาตรัสต่อไปว่า ดังนั้นสันติสุขจึงเป็น “ศิลปะ” ที่หมายถึงการให้ความเคารพต่อทุกคนและทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ของตนเอง  การสร้างสันติสุขเป็น “ความพยายามที่เปิดกว้าง เป็นภาระที่ไม่มีวันสิ้นสุด” เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญที่ต้องนำพาบุคคล ศักดิ์ศรีของเขา และความดีประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นศูนย์กลางแห่งการกระทำทุกอย่าง (ข้อ 230-232) การให้อภัยเชื่อมโยงกันกับสันติสุข  พวกเราต้องรักทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น นี่เป็นคำชี้นำของสมณสาส์นเวียนฉบับนี้  ทว่าการรักผู้ที่ข่มเหงพวกเรานั้นหมายถึงการช่วยเขาให้เปลี่ยนใจและไม่ปล่อยให้เขาข่มเหงเพื่อนบ้านอีกต่อไป ตรงกันข้าม ผู้ที่ได้รับทุกข์เพราะความอยุติธรรมต้องปกป้องสิทธิของตนอย่างเข้มแข็ง เพื่อที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง ซึ่งเป็นของขวัญของพระเจ้า (ข้อ 241-242) การให้อภัยไม่ได้หมายความการไม่ต้องรับโทษ แต่เป็นความชอบธรรมและความทรงจำ เพราะว่าการให้อภัยไม่ได้หมายความว่าเป็นการลืม แต่เป็นการปฏิเสธอำนาจทำลายแห่งความชั่ว และความปรารถนาที่จะแก้แค้น จงอย่าได้ลืมความน่ากลัวแห่งหายนะการสังหารหมู่ ระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากี การเบียดเบียน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พระสันตะปาปาฟรานซิสเตือนใจอีกว่า พวกเราต้องจำสิ่งเหล่านี้ไว้เสมอเพื่อที่พวกเราจะไม่ถูกฉีดยาชา และดำรงไว้ซึ่งเปลวไฟแห่งมโนธรรมร่วมของพวกเราจะได้ลุกโชติช่วงอยู่เสมอ นี่ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันที่ต้องจดจำคนดีและคนที่เลือกการให้อภัยและภราดรภาพ (ข้อ 246-252)

ขอย้ำเตือนต้องไม่มีสงครามอีกต่อไป สงครามเป็นความล้มเหลวของมนุษยชาติ

ส่วนหนึ่งของบทที่เจ็ดจะมุ่งประเด็นไปที่สงครามซึ่งไม่ใช่ “ปีศาจจากอดีต” พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้น “แต่สงครามคือการคุมคามอยู่เสมอ” และสงครามเป็น “การปฏิเสธสิทธิทุกชนิด” “สงครามเป็นความล้มเหลวของการเมืองและของมนุษยชาติ” และเป็น “ความปราชัยอย่างสิ้นเชิงต่อพลังแห่งความชั่ว” ที่ฝังอยู่ใน “ห้วงเหว” ของความชั่วร้าย  ยิ่งไปกว่านั้นอีกเพราะเอาวุธนิเคลียร์ สารเคมี และชีวภาพที่ทำลายพลเรือนผู้บริสุทธิ์มากมาย วันนี้พวกเราไม่อาจคิดเฉกเช่นในอดีตถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับ “สงครามที่ชอบธรรม” ได้อีกต่อไป และพวกเราต้องยืนยันอย่างเข้มแข็งว่า “จะต้องไม่มีสงครามอีกต่อไป” เมื่อคิดว่าเรากำลังมีประเสบการณ์กับ “สงครามโลกที่ต่อสู้กันเป็นหย่อมๆ” เพราะว่าความขัดแย้งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน การทำลายอย่างสิ้นเชิงของอาวุธนิวเคลียร์เป็น “สิ่งต้องห้ามเชิงจริยธรรมและกฎแห่งความเป็นมนุษย์” ด้วยจำนวนเงินที่ลงทุนไปกับอาวุธสงครม พระสันตะปาปาทรงเสนอว่าน่าจะนำเงินไปเป็นกองทุนสากลเพื่อที่จะขจัดความโหยหิว (ข้อ 255-262)

 

โทษประหารชีวิตยอมรับไม่ได้และจะต้องยกเลิกไป

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และจะต้องยกเลิกไป เพราะว่า “แม้แต่ฆาตกรก็ไม่สูญเสียศักดิ์ศรีของตนไป” พระสันตะปาปาทรงอักษรว่า “พระเจ้าเองก็ทรงให้ประกันกับเรื่องนี้”  จากประเด็นนี้จึงมีข้อเตือนใจสองประการด้วยกัน: อย่ามองการลงโทษว่าเป็นการแก้แค้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยา และการนำคืนเข้าสู่สังคม และเพื่อที่จะปรับปรุงสภาพเรือนจำโดยเห็นแก่การให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของนักโทษ และให้พิจารณาด้วยว่า “การจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษประหารอย่างลับๆ” (ข้อ 263-269) มีการเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องให้ความเคารพต่อ “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิต” ซึ่งทุกวันนี้ปรากฏว่า “ในบางภาคส่วนแห่งครอบครัวมนุษย์ยังมีการละเมิดกันอยู่” เช่นทารกที่ยังไม่เกิด คนยากจน คนพิการ และคนชรา (ข้อ 18)

การรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ในบทที่แปดซึ่งเป็นบทสุดท้ายพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นเรื่อง “ศาสนาเพื่อรับใช้ภราดรภาพในโลกของพวกเรา” และมีการย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การใช้ความรุนแรงไม่มีที่ยืนในความเชื่อทางศาสนา นั่นตั้งอยู่ในความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ “สมควรจะได้รับการประณามอย่างรุนแรง” เช่นการก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องที่มาจากศาสนา แต่เป็นการตีความที่เพี้ยนจากความเชื่อทางศาสนา เช่นเดียวกับ “นโยบายที่เชื่อมโยงกับความหิวโหย ความยากจน ความอยุติธรรม และการกดขี่ข่มเหง” การก่อการร้ายต้องไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยเงินหรืออาวุธ และร้ายกว่านั้นจากสื่อสารสังคม เพราะว่าเป็นอาชญากรรมสากลต่อความปลอดภัยและสันติภาพแห่งโลก และเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องได้รับการประณาม (ข้อ 282-283) ในขณะเดียวกันพระสันตะปาปาทรงย้ำว่าการเดินทางแห่งสันติภาพท่ามกลางศาสนาต่างๆ นั้นมีความเป็นไปได้และเพราะฉะนั้นจึงต้องมีหลักประกันในเสรีภาพของการนับถือศาสนาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์สำหรับผู้ที่มีความเชื่อทุกคน (ข้อ 279) สมณสาส์นเวียนฉบับนี้ไตร่ตรองเป็นพิเศษถึงบทบาทของพระศาสนจักร: มีการประกาศว่าพระศาสนจักรมิได้ “จำกัดพันธกิจของตนเองอยู่แต่ในบริบทส่วนตัวของตน” พระศาสนจักรมิได้อยู่ที่ชายขอบของสังคม และในขณะที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พระศาสนจักรก็ไม่ปฏิเสธมิติการเมืองแห่งชีวิตด้วย การใส่ใจต่อความดีประโยชน์สุขส่วนรวม และความห่วงใยต่อการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ความจริงแล้วจะเกี่ยวกับมนุษยชาติและทุกสิ่งที่เกี่ยวกับมนุษย์ก็จะเกี่ยวกับพระศาสนจักรด้วยตามหลักการแห่งพระวรสาร (ข้อ 276-278) สุดท้าย เป็นการเตือนใจผู้นำศาสนาถึงบทบาทของพวกเขาในฐานะที่เป็น “คนกลางที่แท้จริง” ซึ่งใช้ชีวิตในการสร้างสันติสุข พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอ้างอิงถึง “แถลงการณ์ว่าด้วยภราดรภาพของมนุษย์เพื่อสันติภาพโลก และการดำเนินชีวิตร่วมกัน” ซึ่งพระองค์ทรงลงพระนามในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2019 ณ กรุงอาบูดาบี้พร้อมกับมหาอีหม่ามแห่งอัลลาซาร์ อะห์เหม็ด อัล ตาเยบ (Grand Imam of Al-Azhar, Ahmad Al-Tayyeb จากเหตุการณ์สำคัญแห่งการเสวนาระหว่างศาสนานั้น พระสันตะปาปาทรงหวนกลับมายังการอุทธรณ์ว่า ในนามของภราดรภาพมนุษย์ ขอให้มีการใช้การเสวนาเป็นหนทางแห่งการร่วมมือกันและการเข้าใจกันเป็นวิธีและมาตรการในการแก้ปัญหา (ข้อ 285)

บุญราศีชารลส์ เดอ ฟูโกลด์ (Charles de Foucauld) “ความเป็นพี่น้องสากล”

สมณสาส์นเวียนสรุปโดยรำลึกถึงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King), อาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu), มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) และที่สำคัญบุญราศีชารลส์ เดอ ฟูโกลด์ (Charles de Foucauld) ซึ่งเป็นแบบฉบับสำหรับทุกคนว่านี่หมายถึงสิ่งใดในการเข้าข้างกับบุคคลที่ต่ำต้อยที่สุดเพื่อที่จะกลายเป็น “ความเป็นพี่น้องสากล” (ข้อ 286-287) ช่วงสุดท้ายของสมณสาส์นเวียนฉบับนี้อุทิศให้กับบทภาวนาสองบท บทแรก “แด่พระผู้สร้าง” และบทที่สองเป็น “บทภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน” เพื่อที่หัวใจมนุษย์จะมีแต่ “เจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ”

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทสรุปเนื้อหาของสมณสาส์นเวียน“ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน – Fratelli Tutti” มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)