Skip to content

ราชินีแห่งสวรรค์ (Regina Caeli) วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2020

คำปราศรัย: วันอาทิตย์ที่สามแห่งเทศกาลปัสกา

“ในชีวิตของพวกเรามีทางเลือกสองทางข้างหน้า เป็นคนง่อยในความผิดหวังของชีวิตหรือเลือกความจริงที่ยิ่งใหญ่และแท้จริงที่สุด: เพราะพระเยซูคริสต์ผู้ทรงรักเรา”

อรุณสวัสดิ์ ลูกๆและพี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย

พระวรสารของวันอาทิตย์นี้ อ่านจากอาทิตย์ที่ 3 ในเทศกาลปัสกา ซึ่งนักบุญลูกาเล่าเรื่องศิษย์สองคนเดินทางไปยังตำบลเอมมาอุส (เทียบ ลก. 24: 13-35)  อันเป็นเรื่องที่เริ่มต้นและจบลงในการเดินทางครั้งนั้น ความจริงแล้วนั่นเป็นการเดินทางออกไปของศิษย์ที่ผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจในเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ จึงต้องออกจากกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อกลับไปยังบ้าน ณ ตำบลเอมมาอุสซึ่งเขาต้องเดินประมาณ 11 กิโลเมตรเป็นหนทางคดเคี้ยวลงเนิน

จากนั้นต้องเดินทางกลับอีก 11 กิโลเมตร ซึ่งอาจลำบากกว่าขาไปเพราะเป็นการเดินกลับกรุงเยรูซาเล็มเวลาเย็นค่ำ นี่เป็นการเดินทางสองเที่ยว การเดินทางไปตำบลเอมมาอุสอาจง่ายกว่าเพราะเป็นช่วงกลางวัน  ส่วนการเดินทางกลับเป็นช่วงกลางคืนอาจเหน็ดเหนื่อย

การเดินทางเที่ยวแรกนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความโศกเศร้า ผิดหวัง ส่วนเที่ยวที่สองเป็นความชื่นชมยินดี พระเยซูคริสต์ประทับอยู่ด้วยในการเดินทางเที่ยวแรกโดยเดินเคียงข้างไปกับพวกเขา แต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้  ในการเกินทางเที่ยวที่สองพระองค์ไม่ได้อยู่ด้วย แต่พวกเขารู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ชิด

ในการเดินทางครั้งแรกพวกเขาหมดกำลังใจไร้ซึ่งความหวัง ในการเดินทางเที่ยวที่สองพวกเขารีบวิ่งไปแจ้งข่าวดีให้คนอื่นทราบถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาได้พบกับพระเยซูคริสต์  สองวิธีแตกต่างกันที่ศิษย์สองคนแรกบอกพวกเรา ซึ่งก็หมายถึงศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในทุกวันนี้ด้วย กล่าวคือ ในชีวิตของพวกเรา มักมีทางเลือกอยู่สองทางข้างหน้าซึ่งขัดแย้งกัน เส้นทางหนึ่งของบางคน ดุจศิษย์สองคนนั้นเมื่อเริ่มเดินทางออกไปแล้วยอมปล่อยตัวเป็นเหมือนคนง่อย คอตก หมองเศร้า เพราะความผิดหวังแห่งชีวิตจึงจมปรักอยู่ในความซึมเศร้า ประเภทจิตตก

ส่วนอีกหนทางหนึ่งของคนที่ไม่ยอมแพ้ให้กับตนเองหรือต่อปัญหาตั้งแต่แรก แต่ยอมให้พระเยซูคริสต์ซึ่งเสด็จมาเยี่ยมพวกเราและบรรดาพี่น้องที่กำลังรอคอยการเยี่ยมเยียนของพระองค์ กล่าวคือบุคคลที่กำลังคอยพวกเราให้เอาใจใส่ดูแลพวกเขา  ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดเปลี่ยน คือ พวกเราต้องหยุด  อย่ามัวแต่หมุนรอบตัวเอง  ยุติความผิดหวังในอดีต เลิกคิดถึงอุดมการณ์ที่ล้มเหลง เลิกคิดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหลายอย่างในชีวิต

บ่อยๆครั้งในชีวิตพวกเรามัวแต่หมุนรอบๆตัวเราเอง… จงยุติเสีย แล้วก้าวออกไปแล้วมองความจริงแห่งชีวิตที่ยิ่งใหญ่ และเป็นความจริงที่สุด นั่นคือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงมีชีวิต และพระองค์ก็ทรงรักเราจริงๆ  นี่เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันสามารถทำอะไรบางสิ่งบางอย่างให้กับบรรดาพี่น้อง  นี่เป็นสิ่งที่งดงาม เป็นเรื่องดีทางบวก เป็นดุจแสงพระอาทิตย์ เป็นความจริงที่งดงาม

นี่เป็นเหมือนการเดินทางกลับ  เลิกความคิดถึงแต่ตนเองหันไปสู่สู่ความจริงของพระเจ้า เลิกจากการเล่นลิ้น จากคำว่า “ถ้า” สู่คำว่า “ใช่”  จาก “ถ้า” สู่ “ใช่” หมายความว่าอะไร?  ถ้าหากพระองค์ประทับอยู่ที่นี่เพื่อทำให้พวกเราเป็นไท  ถ้าหากพระเจ้าฟังฉัน…  ถ้าหากชีวิตฉันเป็นไปอย่างที่ฉันต้องการ ถ้าหากฉันมีนี่มีนั่น… “ในทำนองที่เป็นการบ่น “ถ้า” คำนี้ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย ไม่มีผล  ไม่ได้ช่วยพวกเรา  นี่คือ “ถ้า” ที่คล้ายกับศิษย์สองคนนั้นซึ่งแม้จะผ่านไปถึงคำว่า “ใช่” นั่นแหละ “ใช่แล้ว พระเยซูคริสต์ยังทรงมีชีวิต พระองค์ทรงพระดำเนินไปกับพวกเรา ใช่แล้วตั้งแต่บัดนี้ไม่ใช่พรุ่งนี้ พวกเราต้องออกไปใหม่เพื่อที่จะประกาศพระองค์”  “ใช่แล้ว ฉันกระทำเช่นนี้ได้เพื่อบรรดาพี่น้อง ประชาสัตบุรุษจะได้มีความสุขกว่า  เพื่อที่ประชาสัตบุรุษจะได้เป็นคนดีกว่า เพื่อที่จะช่วยคนจำนวนมาก ใช่แล้ว ฉันสามารถทำได้จริงๆ  จากคำว่า “ถ้าหาก” ไปสู่คำว่า “ใช่แล้ว” จาก “ความเศร้า” สู่ “ความชื่นชมยินดีและสันติสุข”  เพราะเวลาที่พวกเราบ่น พวกเราจะไม่มีความสุข พวกเราจะรู้สึกขุ่นมัว ความขุ่นมัวนั้นก่อให้เกิดความซึมเศร้า นี่มันไม่ได้ช่วยอะไรหรือทำให้พวกเราดีขึ้นได้ – จากคำว่า “ถ้า” สู่คำว่า “ใช่” จาก “การบ่น” สู่ “ความชื่นชมยินดีแห่งการรับใช้” ขั้นตอนที่เกิดขึ้นจนทำให้อัครสาวกเปลี่ยนจาก “ตัวฉันเอง” สู่ “ในองค์พระเจ้า” จากคำว่า “ถ้า” สู่คำว่า “ใช่” เป็นไปได้อย่างไร? ก็โดยจากการที่ได้พบกับพระเยซูคริสต์

ศิษย์สองคนแรกแห่งตำบลเอมมาอุสเปิดใจให้กับพระองค์ แล้วฟังพระองค์อธิบายพระคัมภีร์ แล้วเชิญพระองค์ไปพักที่บ้านเขา ประการแรกที่สำคัญพวกเราต้องเปิดใจให้กับพระเยซูคริสต์  มอบภารกิจไว้กับพระองค์ แม้ว่าจะเป็นความพยายามหรือความผิดหวังในชีวิต มอบคำว่า “ถ้า” ทั้งปวงไว้กับพระองค์ แล้วขั้นที่สองก็ให้ฟังพระองค์ หยิบพระคัมภีร์ไว้ในมือ แล้วอ่านทุกวันบทที่ 24 แห่งพระวรสารโดยนักบุญลูกา ขั้นที่สามให้อธิษฐานภาวนาด้วยคำพูดเดียวกันกับศิษย์สองคนแห่งเอมมาอุส “ข้าแต่พระอาจารย์ โปรดประทับอยู่กับพวกเรา” (ข้อ 29)     ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดประทับอยู่กับเราทุกคน เพราะพวกเราต้องการพระองค์ เพื่อที่จะพบหนทาง หากปราศจากพระองค์แล้วจะมีแต่เวลาค่ำคืน”

         ลูกๆ พี่น้องชายหญิงที่รัก  ในชีวิตพวกเราเป็นผู้เดินทางเสมอ และพวกเราจะเป็นสิ่งที่พวกเรากำลังจะเดินทางไป  พวกเราเลือกหนทางของพระเจ้า ไม่ใช่หนทางของ “ตัวฉันเอง ฉันยิ่งใหญ่” หนทางของคำว่า “ใช่แล้ว” ไม่ใช่คำว่า “ถ้าหาก” พวกเราจะพบว่าจะไม่มีมีสิ่งที่ทำให้พวกเราผิดหวัง ไม่มีหนทางลำบาก ไม่มีเวลากลางคืน ที่พวกเราไม่อาจมองเห็นพระพักตร์พระเยซูคริสต์  ขอให้พระแม่มารีย์มารดาของพวกเรา ซึ่งเมื่อพระแม่ได้ฟังพระวาจาของพระเจ้าชีวิตของพระแม่ก็สามารถตอบทันที “ใช่” ต่อพระเจ้าเสมอ ขอให้พระแม่ชี้นำทางให้พวกเราด้วยเทอญ

ลูกๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก

         เมื่อวานนี้พวกเราระลึกถึงวันโรคมาลาเรียสากลขององค์การสหประชาชาติ ในขณะที่พวกเรากำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนา พวกเรายังคงต้องปวารณาที่จะป้องกันและเยียวยาโรคมาลาเรียซึ่งคุกคามมนุษย์หลายล้านคนในหลายประเทศ พ่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกคน กับผู้ที่ดูแลคนป่วย และกับผู้ที่ทำงานทุกคนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการบริการสุขภาพอนามัยพื้นฐานที่ดีได้

         ขอต้อนรับและยินดีกับทุกคนที่วันนี้มีส่วนร่วมในประเทศโปแลนด์ในโครงการ “อ่านพระคัมภีร์”  พ่อเคยกล่าวมาหลายครั้งแล้ว และอยากจะกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่านี่มีความสำคัญมากแค่ไหนในการมีนิสัยอ่านพระคัมภีร์ทุกวัน วันละสี่ห้านาที  ขอให้พวกเราเก็บพระคัมภีร์ไว้กับตัวในกระเป๋าถือ เพื่อที่พวกเราจะได้อยู่ใกล้กับพระคัมภีร์เสมอทางกายภาพเพื่อที่พวกเราจะได้อ่านพระวาจาพระเจ้าทุกวัน

         เดือนแม่พระจะเริ่มต้นอีกไม่กี่วัน ซึ่งพวกเรายกถวายเป็นพิเศษให้กับพระแม่มารีย์พรหมจารี  พร้อมกับจดหมายสั้นๆของพ่อที่พึ่งพิมพ์เมื่อวานนี้ พ่อเชิญชวนสัตบุรุษทุกคนให้สวดสายประคำพร้อมกันในเดือนพฤษภาคมนี้ สวดพร้อมกันในครอบครัวหรือสวดตามลำพังส่วนตัว และขอให้สวดบทภาวนาหนึ่งในสองบทที่พ่อเขียนไว้ให้ทุกคนสำหรับใช้สวด ขอให้พระแม่ช่วยพวกเราเผชิญกับช่วงวิกฤตนี้ด้วยความเชื่อและความหวัง

         ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีแห่งเดือนพฤษภาคมและวันอาทิตย์มายังลูกๆ และพี่น้องทุกคน กรุณาอย่าลืมภาวนาสำหรับพ่อด้วย  ขอให้รับประทานอาหารกลางวันด้วยความเอร็ดอร่อย และค่อยพบกันใหม่

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)