Skip to content

บทเทศน์วันพุธที่ 22 เมษายน 2020 (แบบสรุป)

ขอให้ยุโรปเป็นหนึ่งเดียวกันตามความฝันของผู้สถาปนายุโรป

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงภาวนาในมิสซาวันพุธ เพื่อให้ทวีปยุโรปจะได้แสดงความเป็นเอกภาพในการต่อต้านกับวิกฤตโควิด-19 และไตร่ตรองถึงความรักอันล้ำลึกของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรา

        พระองค์เริ่มมิสซา ณ วัดน้อยภายในสถานพำนักซางตามาร์ธา นครรัฐวาติกัน (Casa Santa Marta) เช้าวันพุธที่ 22 เมษายน 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงขอร้องทุกชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกันในขณะที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาสำหรับยุโรปเป็นพิเศษ

        “ในช่วงนี้ซึ่งเอกภาพเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างตัวเราและระหว่างนานาชาติ วันนี้ขอให้เราภาวนาสำหรับยุโรป เพื่อที่ยุโรปจะได้ประสบกับความสำเร็จในการสร้างเอกภาพที่เป็นภราดรภาพตามที่ผู้สถาปนาสหภาพยุโรปฝันไว้”

พระเจ้าทรงรักเราเหลือเกิน

        ในบทเทศน์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงไตร่ตรองถึงพระดำรัสที่พระเยซูคริสต์ มีต่อนิโกเดมุสในพระวรสารของวันนี้ (ยน. 3: 16-21) “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร”

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่าข้อความนี้มีความสมบูรณ์ในการเผยแสดงทางเทววิทยาเกี่ยวกับการไถ่กู้

        พระองค์ทรงตั้งเป้าไปยังสองประเด็น คือ 1) การเผยแสดงความรักของพระเจ้า และ 2) การเลือกความเป็นอยู่ระหว่างแสงสว่างกับความมืด

        “พระเจ้าทรงรักเรา” สมเด็จพระสันตะปาปาตรัส “พระองค์ทรงรักพวกเราอย่างหลงใหล เฉกเช่นที่นักบุญองค์หนึ่งมักจะกล่าวว่า ความรักของพระเจ้าเหมือนความคลั่งไคร้

ไม้กางเขนมีปรีชาญาณทุกอย่าง

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า ไม้กางเขนเป็นการแสดงสูงสุดถึงความรักนี้ พระองค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งจะถูกเปิดออกต่อผู้ที่พิศเพ่งไปยังไม้กางเขน

        “ผู้คนเป็นอันมากและคริสตชนจำนวนไม่น้อยใช้เวลาว่างไปในการพิศเพ่งพระเยซูคริสต์ซึ่งถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน…และตรงนั้นพวกเขาพบทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าพวกเขาเข้าใจ พระจิตสอนพวกเขาว่า ณ ที่นั้นมีศาสตร์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความรักของพระเจ้าและปรีชาญาณของคริสตชน  นักบุญเปาโลพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยอธิบายว่าเหตุผลของมนุษย์จะเป็นประโยชน์ก็เป็นได้แค่บางส่วน  แต่เหตุผลที่แท้จริงซึ่งเป็นวิธีสวยงาม

แห่งการคิดซึ่งยังแสดงให้เห็นทุกสิ่งด้วยก็คือไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า คือพระคริสตเจ้าที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนผู้ซึ่งเป็นที่สะดุดและเป็นความบ้าคลั่ง แต่พระองค์คือหนทาง และนี่คือความรักของพระเจ้า พระเจ้าทรงรักโลกมากจนกระทั่งมอบพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์ เหตุใดหรือ?  เพื่อที่ทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะไม่ต้องพินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร นี่คือความรักของพระบิดาซึ่งต้องการให้ลูกๆของพระองค์อยู่กับพระองค์”

ความสว่างเหนือความมืด

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงไตร่ตรองถึงเรื่องการเลือกเอาระหว่างความสว่างกับความมืด  พระองค์ตรัสว่ามีบางคน “บางครั้งรวมถึงพวกเราด้วย” ที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในความสว่าง เพราะพวกเขาเคยชินอยู่กับความมืด

        “ความสว่างทำให้พวกเขาตาบอดมองไม่เห็น  พวกเขาเป็นเหมือนมนุษย์ค้างคาว พวกเขาไปไหนมาไหนได้ก็จำเพาในเวลากลางคืน พวกเราเองก็เหมือนกัน เวลาที่พวกเราตกอยู่ในสภาพบาป พวกเราจะพบว่าตัวเราตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่สามารถทนต่อแสงสว่างได้ อาจเป็นการง่ายกว่าที่จะเจริญชีวิตอยู่ในความมืด แสงสว่างเหมือนกับตบหน้าพวกเรา เพราะแสงนั้นชี้ให้พวกเราเห็นสิ่งที่พวกเราไม่อยากมอง”

คอรัปชั่นทำให้พวกเราตาบอด

        แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งความสว่างจะเผยให้พวกเราเห็น สมเด็จพระสันตะปาปาตรัส นี่กลับยิ่งจะร้ายกว่าเมื่อตาแห่งดวงวิญญาณเริ่มไม่รับรู้กับความสว่างนั้น

        “การเป็นที่สะดุดและการคอรัปชั่นของมนุษย์จำนวนมากสอนพวกเราเรื่องนี้ คนที่คอรัปชั่นจะไม่ทราบว่าความสว่างเป็นอย่างไรเพราะพวกเขาไม่รู้จักความสว่าง บอดทางจิต”

พวกเราต้องเลือก เป็นบุตรของพระเจ้า.. หรือเป็นค้างคาว?

        สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสรุปด้วยการเชิญให้พวกเรายอมให้แสงสว่างแห่งความรักของพระเจ้า ผู้ส่องสว่างในชีวิตของเราโดยผ่านพระจิตเจ้าพร้อมกับถามตัวของพวกเราเองว่า “ฉันกำลังเดินภายใต้แสงสว่างหรือภายใต้ความมืด?  ฉันเป็นบุตรของพระเจ้าหรือไม่? หรือว่าฉันลงเอยชีวิตเป็นแบบพวกค้างคาว?”

         สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจบพิธีมิสซาด้วยการอวยพรศีลมหาสนิทพร้อมกับทรงเชื้อเชิญสัตบุรุษให้มีจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน

        ข้าแต่พระเยซูคริสต์ ลูกขอกราบลง ณ แทบพระบาทของพระองค์ ลูกขอมอบการเป็นทุกข์ถึงบาปจากใจจริงของลูก ดวงใจที่มัวแต่สาละวนอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องอันไร้สาระต่อหน้าพระพักตร์พระองค์  ลูกขอกราบนมัสการพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรักของพระองค์ ในขณะที่กำลังรอที่จะรับความสุขแห่งศีลมหาสนิท ลูกปรารถนาที่จะรับพระองค์ทางจิตวิญญาณ  ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดเสด็จมายังลูกเพื่อลูกจะได้เข้าไปหาพระองค์  ขอให้ความรักของพระองค์จงเผาตัวลูกทั้งในชีวิตและในความตาย ลูกเชื่อในพระองค์ ลูกไว้ใจในพระองค์ ลูกรักพระองค์ อาแมน

        ก่อนออกจากวัดน้อยซึ่งยกถวายให้กับพระจิต ได้มีการขับร้องเพลงแม่พระที่ใช้มาเก่าแก่โบราณ คือบท “Regina Caeli” ซึ่งนิยมขับร้องกันในเทศกาลปัสกา

Regina caeli laetare, alleluia.

Quia quem meruisti portare, alleluia.

Resurrexit, sicut dixit, alleluia.

Ora pro nobis Deum, alleluia.

(Christ, whom you bore in your womb, alleluia,

Has risen, as He promised, alleluia.

Pray for us to the Lord, alleluia).

(ราชินีสวรรค์ จงชื่นชมยินดีเถิด อัลเลลูยา

เพราะพระองค์ที่พระแม่อุ้มไว้ในครรภ์ อัลเลลูยา

ได้ทรงกลับเป็นขึ้นมาตามที่ได้ทรงสัญญาไว้ อัลเลลูยา

โปรดภาวนาต่อพระองค์เพื่อลูกด้วยเทอญ อัลเลลูยา)

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์นี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)