Skip to content

วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถวายมิสซา

วันเสาร์เย็นก่อนวันสมโภชปัสกา (EASTER VIGIL)

บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาทรงย้ำถึงสตรีผู้จัดเตรียมเครื่องเทศเพื่อชโชมพระศพของพระเยซูคริสต์ในเย็นวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และเกี่ยวกับศิษย์ที่พระเยซูคริสต์ผู้คืนพระชนม์ชีพทรงส่งเขาไปยังแคว้นกาลิลี

หลังวันสะบาโต” (มธ. 28: 1) บรรดาสตรีใจศรัทธาพากันไปยังพระคูหา นี่เป็นคำที่พระวรสารเริ่มต้นในช่วงค่ำของวันสะบาโต (วันเสาร์) ซึ่งเป็นวันหนึ่งของตรีวารที่พวกเรามักจะละเลยในขณะที่พวกเราเฝ้ารอด้วยใจร้อนรนจากข้อความที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขนในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จนถึงการร้องอัลเลลูยาของวันอาทิตย์ปัสกา  แต่ปีนี้พวกเราต่างก็ได้รับประสบการณ์ที่มากไปกว่าเดิม นั่นคือความเงียบสงบของวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์  พวกเราสามารถจินตนาการถึงตัวเราเองในรูปแบบของสตรีใจศรัทธาเหล่านั้นในวันเสาร์ พวกเธอเช่นเดียวกับพวกเรา  เธอเหล่านั้นได้เห็นภาพแห่งมหาทรมาน ได้เห็นวิบัติที่ไม่เคยคาดฝันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป พวกเธอได้เห็นความตายที่ทำให้หัวอกหัวใจของพวกเธอหนักอึ้ง ความเจ็บปวดรวดร้าวผสมกับความหวาดกลัว พวกเธอต่างก็กังวลใจว่าอาจจะเผชิญชะตากรรมเดียวกันแบบพระอาจารย์หรือไม่?  แล้วพวกเธอยังมีความหวาดกลัวถึงอนาคตด้วย  รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องได้รับการบูรณาการขึ้นมาใหม่ ความทรงจำที่แสนเจ็บปวด ความหวังที่ถูกขยี้ออกไปอย่างยับเยิน สำหรับชีวิตของพวกเธอเวลานั้นก็คงเป็นเหมือนกับพวกเราที่นี่วันนี้ อันเป็นชั่วโมงที่มืดมิดที่สุด

        ทว่าในสถานการณ์นี้ บรรดาสตรีไม่ยอมปล่อยให้ตนเองกลายเป็นง่อยหรือหยุดชะงักทุกอย่าง พวกเธอไม่ยอมแพ้ต่อความเศร้าโศกเสียใจ พวกเธอไม่มัวแต่นั่งจับเจ่าเศร้าใจแบบปิดกั้นตนเอง หรือหลบหนีไปจากความจริง  พวกเธอกำลังทำอะไรบางอย่างแบบเรียบง่ายแต่เป็นสิ่งพิเศษ นั่นคือ ตระเตรียมเครื่องเทศเครื่องหอมไว้ชโลมพระกายของพระเยซูคริสต์ พวกเธอไม่ยอมหยุดที่จะรัก ท่ามกลางความมืดมิดแห่งหัวใจพวกเธอจุดโคมแห่งความเมตตา ขณะที่พระแม่มารีย์ของพวกเราได้ใช้เวลาในวันเสาร์นั้น โดยยกให้เป็นวันซึ่งพระแม่สวดภาวนา รำพึง ไตร่ตรอง เปี่ยมไปด้วยความหวัง  พระแม่ตอบสนองต่อความทุกข์โศกเศร้าด้วยความไว้วางใจในพระเยซูคริสต์อย่างเต็มเปี่ยม  สตรีเหล่านี้กำลังเตรียมตัวเองท่ามกลางความมืดมิดของวันสะบาโตเพื่อ “เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันแรกแห่งสัปดาห์” วันที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์  พระเยซูคริสต์ประดุจเมล็ดพันธุ์ที่ถูกฝังไว้ในดินกำลังจะงอกขึ้นมีชีวิตใหม่ในโลก และสตรีเหล่านี้โดยอาศัยการสวดภาวนา และความรัก กำลังช่วยกันทำให้ความหวังดังกล่าวเกิดขึ้นมาจริงๆ  ในวันอันแสนเศร้าใจเหล่านี้ ในพวกเรามีสักกี่คนที่ได้กระทำ และกำลังกระทำสิ่งที่สตรีเหล่านั้นได้กระทำ นั่นคือหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง! ด้วยท่าทางเล็กน้อยที่แสดงถึงการเอาใจใส่ ความรัก และการสวดภาวนา  บรรดาสตรีรีบไปยังคูหาตั้งแต่เช้าตรู่ ณ ที่นั้นทูตสวรรค์กล่าวกับพวกเธอว่า “จงอย่ากลัวเลย พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ เพราะพระองค์ทรงเสด็จกับคืนพระชนม์ชีพแล้ว” (ข้อ 5-6) พวกเธอได้ยินพระวาจาทรงชีวิต  แม้พวกเธอยืนอยู่ต่อหน้าคูหาพระศพ… แล้วพวกเธอก็ได้พบกับพระเยซูคริสต์ผู้ประทานความหวัง ผู้ทรงยืนยันถึงสาส์นของพระองค์พร้อมกับตรัสว่า “จงอย่ากลัวเลย” (ข้อ  10)  จงอย่ากลัว อย่ายอมแพ้ต่อความหวาดกลัว นี่คือสาส์นแห่งความหวัง  วันนี้สาส์นเช่นนี้ก็มาถึงพวกเรา  นี่เป็นพระวาจาที่พระเจ้าทรงตรัสย้ำกับพวกเราในค่ำคืนวันนี้

        ค่ำคืนนี้พวกเราได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งชีวิตที่ไม่มีผู้ใดจะเอาไปจากพวกเราได้ นั่นคือสิทธิแห่งความหวัง นี่เป็นของใหม่และเป็นความหวังทรงชีวิตที่มาจากพระเจ้า นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การมองโลกในแง่ดี  นี่ไม่ใช่เป็นการลูบหลังชโลมใจ หรือเป็นคำพูดว่างเปล่าที่เพียงแค่ให้กำลังใจ  ทว่านี่เป็นของขวัญอันแสนประเสริฐจากสวรรค์ซึ่งพวกเราไม่สามารถหามาได้ด้วยตัวเราเอง  ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้พ่อกล่าวย้ำเสมอว่า “ทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้นเอง” ขอให้ยึดมั่นอยู่ในความสวยงามแห่งความเป็นมนุษย์ของพวกเรา แล้วปล่อยให้คำพูดที่ให้กำลังใจลอยขึ้นมาจากหัวใจของพวกเรา  แต่ในขณะที่วันแล้ววันเล่าผ่านพ้นไป และความหวาดกลัวของพวกเราทวียิ่งขึ้นจน จนทำให้แม้แต่ความหวังที่พวกเราหวังมากที่สุดก็ยังกระเจิงหายไป  แต่ว่าความหวังของพระเยซูคริสต์นั้นแตกต่างกัน พระองค์ทรงปลูกฝังความหวังนี้ลงไปในดวงใจของพวกเราว่าพระเจ้าทรงสามารถทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนเป็นความดีงามได้ เพราะว่าแม้แต่จากหลุมศพพระองค์ก็ยังทรงเปลี่ยนให้เป็นชีวิตได้  หลุมศพเป็นที่ซึ่งเมื่อใครเข้าไปแล้วก็จะไม่ได้ออกมาอีก  แต่พระเยซูคริสต์ทรงเสด็จออกมาจากคูหาฝังศพนั้นเพื่อพวกเรา  พระองค์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพเพื่อพวกเรา เพื่อจะนำชีวิตมาให้ใหม่ในที่ซึ่งเป็นความตาย เพื่อเริ่มต้นเรื่องราวใหม่ในที่ซึ่งมีก้อนหินทับซ้อนอยู่  พระองค์ผู้ทรงกลิ้งหินจากปากคูหานั้นออกไปซึ่งปิดทางเข้า  พระองค์ก็สามารถกลิ้งหินที่ปิดกั้นหัวใจของพวกเราได้ด้วยเช่นเดียวกัน  เพราะฉะนั้นพวกเราต้องไม่ยอมจำนน  ขอให้พวกเราตั้งก้อนหินนั้นไว้กับความหวังของพวกเรา เพราะว่าพระเจ้าทรงซื่อสัตย์  พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งพวกเรา พระองค์เสด็จมาเยี่ยมพวกเราและเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์แห่งความเจ็บปวด ความทุกข์ยากลำบาก และแม้กระทั่งในความตายของของเรา  แสงสว่างของพระองค์ขับไล่ความมืดภายในหลุมศพออกไป วันนี้พระองค์ต้องการให้แสงสว่างนั้นทะลุไปถึงมุมที่มืดมนที่สุดในชีวิตของพวกเรา  ลูกๆและพี่น้องชายหญิงที่รัก แม้ว่าหากท่านฝังความหวังไว้ในดวงใจของท่าน ขอจงอย่าได้เลิกล้มความตั้งใจอันนี้ พระเจ้านั้นทรงใหญ่ยิ่งกว่าความมืดยิ่งนัก และความตายก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้าย ขอจงเข้มแข็งไว้ เพราะว่าสำหรับพระเจ้านั้นไม่มีอะไรที่จะสูญเสียไป!

        จงกล้าหาญไว้ นี่เป็นคำพูดที่พระเยซูคริสต์ตรัสบ่อยๆในพระวรสาร ซึ่งอาจมีเพียงครั้งเดียวที่คนอื่นเป็นผู้พูดเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่มีความเดือดร้อน “จงกล้าหาญ จงลุกขึ้น พระเยซูคริสต์ทรงเรียกท่าน” (มก. 10: 49)  เป็นพระองค์ผู้ที่เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ ทรงยกอุมชูพวกเราขึ้นจากความต้องการของพวกเรา หากในการเดินทางของพวกท่าน  ท่านรู้สึกอ่อนแอ อ่อนแรง เมื่อยล้า หรือล้มลงก็จงอย่าได้กลัวเพราะพระเจ้าจะทรงยื่นพระหัตถ์มายังพวกท่านและตรัสว่า “จงกล้าหาญไว้” ท่านอาจกล่าวดุจดังที่ ดอน อับบอนดิโอ (Don Abbondio)  ในนิทานของมานโซนี่ (Manzoni) “ความกล้าไม่ใช่สิ่งที่ท่านสามารถมอบให้ตนเองได้” (I Promessi Sposi, XXV) นี่ก็จริงอยู่ ท่านไม่สามารถมอบความกล้าหาญให้แก่ตนเองได้ แต่ท่านสามารถรับความกล้าหาญในฐานะที่เป็นของขวัญย่อมได้   แต่สิ่งที่ท่านต้องกระทำคือ เปิดหัวใจของท่านด้วยการสวดภาวนา  แล้วค่อยๆเปิดก้อนหินที่ปิดปากดวงใจของท่านทีละน้อย เพื่อแสงสว่างของพระเยซูคริสต์จะได้เล็ดลอดเข้าไปได้ ท่านมีแต่จะต้องถามพระองค์ว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดเสด็จมายังลูกท่ามกลางความกลัวของลูก  และตรัสกับลูกเช่นเดียวกันว่า จงกล้าหาญไว้”  ข้าแต่พระเยซูคริสต์ พร้อมกับพระองค์พวกเราจะถูกทดสอบ แต่ว่าพวกเราจะไม่สะทกสะท้าน  ไม่ว่าทุกข์ยากลำบากหรือความโศกเศร้าใดๆก็ตามจะมาสิงอยู่ในตัวเรา พวกเราก็จะมีความเข้มแข็งในความหวัง เพราะพร้อมกับพระองค์ ไม้กางเขนจะนำพวกเราไปสู่การกลับคืนชีพขึ้นมา เพราะว่าพระองค์ทรงประทับอยู่กับพวกเราในความมืดแห่งรัตติกาลของพวกเรา พระองค์เป็นความแน่นอน ยั่งยืน มั่นคง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งหลาย ทรงเป็นพระวาจาทรงชีวิตที่ตรัสในความเงียบของพวกเรา และไม่มีอะไรจะสามารถมาขโมยเอาความรักที่พระองค์ทรงมอบให้แก่พวกเราไปได้ นี่คือสาส์นแห่งปัสกา สาส์นแห่งความหวัง สาส์นนี้ยังมีภาคที่สองอีก นั่นคือการส่งออกไป “จงไปบอกพี่น้องของเรา ให้พวกเขาเดินทางไปยังกาลิลี” (มธ. 28: 10)  พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “พระองค์จะเสด็จไปยังกาลิลีก่อนท่าน” (ข้อที่ 7) ทูตสวรรค์กล่าว  พระเยซุคริสต์เสด็จไปก่อนหน้าพวกเรา ช่างน่าชื่นใจที่ทราบว่าพระองค์ทรงดำเนินนำหน้าพวกเราทั้งในชีวิตและในความตาย  พระองค์ทรงนำหน้าพวกเราไปยังแคว้นกาลิลี กล่าวคือ ไปยังสถานที่ซึ่งสำหรับพระองค์และบรรดาศิษย์ คือ การใช้ชีวิตประจำวัน ชีวิตคราอบครัว และการทำงาน  พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้พวกเรานำความหวังไปสู่สถานที่เหล่านั้น ไปยังชีวิตประจำวันของพวกเรา  สำหรับศิษย์กาลิลียังเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ เพราะที่นั่นเป็นสถานที่ซึ่งพวกศิษย์ถูกเรียกเป็นครั้งแรก  การกลับไปยังกาลิลีหมายถึงการจดจำได้ว่าพวกเราได้รับความรัก และได้รับกระแสเรียกจากพระเจ้า พวกเราจำเป็นต้องมีการเดินทางใหม่ โดยเตือนใจพวกเราเองว่า พวกเราเกิดมาและเกิดใหม่ซึ่งต้องขอบคุณ กตัญญูต่อการเชื้อเชิญที่มอบให้พวกเราแบบเปล่าๆเพราะความรักแท้นั่นเอง  นี่ต้องเป็นจุดยืนอยู่เสมอ  คือพวกเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เกิดวิกฤตหรือการทดสอบในชีวิต

 

        นอกนั้นยังมีบางสิ่งที่มากไปกว่านั้นอีก  กาลิลีเป็นภูมิภาคที่อยู่ไกลที่สุดจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่กาลิลียังเป็นจุดที่อยู่ห่างไกลที่สุดจากความศักดิ์สิทธิ์แห่งนครศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย เพราะว่าที่นั่นเป็นบริเวณที่ผู้คนนับถือศาสนาต่างๆอาศัยอยู่  จึงได้รับการขนานนามว่า “กาลิลีแห่งคนต่างศาสนา” (มธ. 4: 15) พระเยซูคริสต์ส่งบรรดาศิษย์ไปยังที่นั้น และขอร้องให้พวกเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งจากที่นั้น นี่พระองค์ต้องการจะบอกอะไรแก่พวกเราหรือ?  นี่ต้องการบ่งให้พวกเราเห็นว่า สาส์นแห่งความหวังไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเราเท่านั้น แต่ควรจะนำไปสู่ทุกคน เพราะทุกคนต้องการความมั่นใจ และหากพวกเราที่ได้สัมผัสกับ “พระวาจาแห่งชีวิต” (1 ยน. 1: 1) แต่กลับไม่นำข่าวดีไปมอบให้ผู้อื่น แล้วใครจะเป็นผู้มอบกันเล่า?  การเป็นคริสตชนช่างเป็นชีวิตที่สวยงามเสียนี่กระไร เพราะเขาต้องเป็นผู้นำความบรรเทาใจไปให้ผู้อื่น เขาเป็นผู้ที่ต้องช่วยแบกภาระของผู้อื่น และมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เป็นผู้นำสาส์นแห่งชีวิตท่ามกลางเวลาแห่งการเผชิญความตาย  กาลิลีอยู่ในทุกแห่ง  กาลิลีเป็นทุกแห่งของครอบครัวมนุษย์ที่พวกเราอาศัยอยู่ อันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเรา เพราะว่าเราทุกคนต่างเป็นพี่เป็นน้องกัน จึงขอให้พวกเรานำบทเพลงแห่งชีวิตไปสู่ทุกผู้คน  ขอให้พวกเราช่วยกันระงับเสียงแห่งความตาย ในโลกจะต้องไม่มีสงครามกันอีกต่อไป  ขอให้พวกเราช่วยกันหยุดยั้งการผลิตและการค้าอาวุธ เพราะว่าพวกเราต้องการขนมปัง ไม่ต้องการปืนหรืออาวุธ ขอให้ยุติการทำแท้งและการฆ่าเด็กผู้บริสุทธิ์ ขอให้ดวงใจของบุคคลที่มีสิ่งต่างๆพอสมคารแล้ว รู้จักเปิดใจกว้างนำวัตถุปัจจัยไปใสในมือของผู้ที่ไม่มีแม้สิ่งที่จำเป็นสำหรับปะทังชีวิต  ในที่สุดสตรีเหล่านั้นสวมกอดแทบเท้าพระเยซูคริสต์ (มธ. 28: 9) เท้าที่ต้องเดินทางแสนไกล เพื่อมาพบพวกเราจนกระทั่งต้องเข้าไปสู่ภายในคูหา และในที่สุดเสด็จออกจากคูหานั้น บรรดาสตรีสวมกอดแทบเท้าของพระองค์ที่ได้เหยียบย่ำความตาย และเท้าที่เปิดหนทางสู่ความหวัง วันนี้ในฐานะผู้จาริกแสวงบุญ ผู้แสวงหาความหวัง ข้าแต่พระเยซูคริสต์ผู้เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ พวกเราขอยึดมั่นอยู่กับพระองค์ พวกเราขอหันหลังให้กับความตาย แล้วขอเปิดใจให้กับพระองค์เพราะว่าพระองค์คือผู้ทรงเป็นชีวิต

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์ที่มีพลังของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง “ในความหวัง และในความกล้าหาญ”)