สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการรำลึกการประทับจริงของพระเยซูคริสต์
มิใช่เป็นแค่ความทรงจำเหตุการณ์ในอดีต หรือการแสดง
วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2017
นครรัฐวาติกัน วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2017 “พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการรำลึกพระธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของพระคริสตเจ้า” พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกาศ “พิธีนี้ทำให้พวกเรามีส่วนร่วมในชัยชนะของพระองค์ต่อบาปและความตายและให้ความหมายที่สมบูรณ์แก่ชีวิตของเรา”
การไตร่ตรองนี้พระองค์ตรัสขณะประชาชนเข้าเฝ้าที่ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร หรือจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของพระองค์เกี่ยวกับพิธีบูชาขอบพระคุณ
พระองค์ตรัสว่า นี่มีความสำคัญมากที่พวกเราต้องเข้าใจคำว่า “รำลึก” ในความหมายของพระคัมภีร์ “ไม่ใช่เป็นแค่คิดถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่คำนี้มีความหมายที่ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจริงในปัจจุบัน”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเตือนผู้ที่ชุมนุม ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์และดูโทรทัศน์ CTV ว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการรำลึกถึง การก้าวข้าม และการอพยพของพระองค์(Exodus)ซึ่งพระองค์ทรงกระทำไปเพื่อเรา เพื่อที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากการเป็นทาส และนำเข้าสู่ดินแดนแห่งชีวิตนิรันดรตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้”
พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “ศีลมหาสนิทจะนำเราไปสู่จุดสุดยอดแห่งการกระทำของพระเจ้าเพื่อความรอดของเราเสมอการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิททุกครั้งเป็นรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ที่ไม่มีวันตกดิน ซึ่งได้แก่พระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับฟื้นขึ้นมาจากความตาย”
พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงสรุปโดยการเน้นว่า “พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นการทำให้การบูชาบนเนินเขากัลวาริโอมีชีวิตขึ้นมาใหม่ นี่ไม่ใช่การแสดง”
* * *
การสอนคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาวันพุธ
อรุณสวัสดิ์พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย
วันนี้พวกเราจะมาสนทนาธรรมกันเรื่องบูชาขอบพระคุณ หรือมิซซากันต่อไป พวกเราอาจถามตัวเราเองว่า จริงๆแล้วพิธีบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) คืออะไร? บูชาขอบพระคุณ คือ การรำลึกถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ซึ่งทำให้เรามีส่วนร่วมในชัยชนะต่อบาปและความตาย ซึ่งประทานความหมายที่สมบูรณ์ให้กับชีวิตของเรา
เพราะฉะนั้นเพื่อเข้าใจในคุณค่าแห่งบูชาขอบพระคุณ พวกเราจำต้องเข้าใจความหมายทางพระคัมภีร์ของคำว่า “รำลึก” (MOMORIAL) เป็นประการแรก นี่ “ไม่ใช่เพียงคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ในความหมายที่ว่าสิ่งนี้ถูกกระทำให้เป็นจริงในปัจจุบัน เฉกเช่นที่ประชากรอิสราเอลเข้าใจว่าขณะที่พวกเขาได้รับอิสรภาพจากอิยิปต์ทุกครั้งที่มีการเฉลิมฉลองการก้าวข้าม (Passover) และ ยึดถือการอพยพครั้งนั้นว่าเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันและเป็นการรำลึกของผู้ที่มีความเชื่อ (คำสอนของพระศาสนจักร ข้อ 1363) อาศัยการทรมาน การสิ้นพระชนม์การกลับเป็นขึ้นมา และการเสด็จขึ้นสวรรค์พระเยซูคริสตเจ้าได้ทำให้การก้าวข้ามสำเร็จไป พิธีบูขาขอบพระคุณเป็นการรำลึก การก้าวข้ามและการ “อพยพ” ซึ่งพระองค์ทรงกระทำเพื่อพวกเรา เพื่อให้เราหลุดพ้นจากการเป็นทาสและนำพวกเราเข้าสู่ดินแดนพันธสัญญาแห่งชีวิตนิรันดร นี่ไม่ใช่เป็นแค่การคิดถึงธรรมดาๆ เปล่าเลย แต่มีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ศตวรรษที่แล้วเป็นปัจจุบัน ศีลมหาสนิทนำเราสู่จุดสุดยอดแห่งการกระทำแห่งความรอดของพระเจ้าเสมอ พระคริสตเจ้าทรงทำยอมมอบพระองค์ถูกบิออกเป็นปังเพื่อเรา ทรงหลั่งพระเมตตาและความรักมายังเราเฉกเช่นที่พระองค์ทรงกระทำบนไม้กางเขน เพื่อที่จะฟื้นฟูจิตใจของพวกเรา ความเป็นอยู่ของเรา วิถีการสัมพันธ์ของพวกเรากับพระเจ้าและกับผู้อื่น สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 กล่าวว่า “ทุกครั้งที่มีการบูชาบนไม้กางเขน ซึ่งพระคริสตเจ้าผู้เป็นชุมพาน้อยปัสกาของเราซึ่งเป็นผู้ถูกบูชา มีการเฉลิมฉลองบนพระแท่น ผลแห่งการไถ่กู้จะมีผลทันที” (สมณธรรมนูญว่าด้วยความเชื่อ Lumen Gentium, 3)
การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิททุกครั้งเป็นรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ที่ไม่มีวันตกดินซึ่งได้แก่พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับเป็นขึ้นมา การมีส่วนร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอาทิตย์หมายถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในความมีชัยของพระผู้เสด็จกลับฟื้นพระชนม์ขึ้นมาเพื่อที่จะได้รับแสงความสว่างของพระองค์และได้รับความอบอุ่นจากความอบอุ่นของพระองค์ อาศัยการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทพระจิตทรงทำให้พวกเรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าซึ่งจะสามารถให้ชีวิตที่รู้จักตายของเราได้อย่างสิ้นเชิง และในการเดินทางจากความตายสู่การมีชีวิตตั้งแต่นิรันดรกาลพระเยซูเจ้าทรงชักนำให้พวกเราทำการเฉลิมฉลองปัสกากับพระองค์ เป็นปัสกาที่ทำการเฉลิมฉลองในพิธีบูชาขอบพระคุณ ในพิธีบูชามิสซาเราอยู่กับพระเยซูผู้ทรงสิ้นพระชนม์และเสด็จกลับฟื้นขึ้นมา พระองค์จะนำพาเราไปข้างหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ในพิธีบูชาขอบพระคุณเราเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ หรือพูดให้ถูกกว่าว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตในเราและเราเจริญชีวิตในพระองค์ “ข้าพเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขนพร้อมกับพระคริสตเจ้า – นักบุญเปาโลกล่าว – ไม่ใช่ข้าพเจ้าอีกต่อไปที่ดำเนินชีวิต แต่พระคริสตเจ้าทรงดำเนินชีวิตในข้าพเจ้า และชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินในเนื้อหนังมังสาของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงรักข้าพเจ้าและมอบพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า” (กท. 2: 19-20) นักบุญเปาโลสอนเช่นนี้
ความจริงแล้วพระโลหิตของพระองค์ทำให้พวกเราเป็นอิสระจากความตาย ซึ่งทำให้เราเป็นไทไม่เพียงแต่จากอำนาจแห่งความตายเท่านั้นแต่จากความตายฝ่ายจิตด้วย ซึ่งเป็นความเลวร้าย เป็นบาปที่กัดกร่อนเราทุกครั้งที่เราตกเป็นเหยื่อแห่งบาปของเราเองหรือบาปของผู้อื่น แล้วชีวิตของเราก็จะมัวหมอง สูญเสียความงดงามและหมดความหมาย และค่อยๆเหี่ยวแห้งเฉาไป
ตรงกันข้าม พระคริสตเจ้าประทานชีวิตคืนกลับมาให้เรา พระคริสตเจ้าทรงเป็นความบริบูรณ์แห่งชีวิตและเมื่อพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับความตาย พระองค์ทรงทำให้มันมลายหายไปโดยพลันตลอดไป “อาศัยการกลับฟื้นพระชนม์ชีพพระองค์ทรงทำลายความตายและฟื้นฟูชีวิตขึ้นใหม่” (บทสวดศีลมหาสนิท IV) การก้าวข้ามของพระคริสตเจ้าเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือความตาย เพราะว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนความตายของพระองค์เป็นการกระทำที่สูงสุดแห่งความรัก พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อความรัก และในศีลมหาสนิทพระองค์ทรงปรารถนาที่จะสื่อความรักปัสกาแห่งชัยชนะของพระองค์มาให้พวกเรา หากเรายอมรับด้วยความเชื่อ พวกเราสามารถที่จะรักพระเจ้าและเพื่อบ้านของเรา เราสามารถรักดังที่พระองค์ทรงรักเราได้อย่างแท้จริง พระองค์ทรงมอบชีวิตให้เรา
หากความรักของพระคิสตเจ้ามีอยู่ในข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสามารถที่มอบตนเองให้กับผู้อื่นได้อย่างแน่นอน แม้ว่าผู้อื่นจะทำให้ข้าพเจ้าบาดเจ็บ ข้าพเจ้าจะไม่ตาย มิฉะนั้นแล้วข้าพเจ้าคงจะต้องป้องกันตนเอง ความจริงบรรดามรณะสักขียอมสละชีวิตเพราะเชื่อมั่นในในชัยชนะของพระคริสตเจ้าเหนือความตาย หากเรามีประสบการณ์เช่นนี้กับพลังอำนาจของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นพลังแห่งความรักของพระองค์ เราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริงที่จะมอบอุทิศตนเองโดยปราศจาความกลัวใดๆทั้งสิ้น พิธีบูชาขอบพระคุณนี้จึงเป็นการเข้าไปสู่การทรมาน ความตาย การกลับฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ และการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเราไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ เหมือนกับเราไปยังเนินเขากัลวาริโอ แต่ขอให้คิดว่า ในช่วงพิธีบูชาขอบพระคุณเราอยู่ที่เนินเขากัลวาริโอ – คือให้เราสร้างจินตนาการ – และเรารู้ว่าชายคนนั้นคือพระเยซู เราจะกล้าพูดคุยกันไหม? เราจะกล้าถ่ายรูปไหม? เรามัวแต่เซ็วฟี่ไหม? เราจะทำตัวเหมือนกับไปดูการแสดงละครไหม? คงจะไม่.. เพราะว่าผู้นั้นคือพระเยซูเจ้า แน่นอนว่าเราคงจะตั้งตนอยู่ในความเงียบสงบในความทุกข์และในความยินดีที่เราได้รับความรอด เมื่อเราเข้าไปในวัดเพื่อฉลองบูชามิสซาเราควรคิดว่า ข้าพเจ้ากำลังอยู่ที่เนินกัลวาริโอ ณ ที่ซึ่งพระเยซูทรงมอบชีวิตของพระองค์ให้แก่ข้าพเจ้า ดังนั้นการแสดงละครก็จะไม่ปรากฏออกมา การพูดคุยกันจะหดหายไป การวิจารณ์และสิ่งต่างๆที่ทำให้เราวักแวกไปจากสิ่งที่สวยงามที่สุดซึ่งได้แก่บูชามิสซาก็จะหายไป นี่เป็นชัยชนะของพระเยซูเจ้า
บัดนี้ข้าพเจ้าคิดว่ามีความชัดเจนกว่าเดิมการก้าวข้ามถูกทำให้เป็นปัจจุบันและมีผลแห่งการกระทำทุกครั้งที่เราเฉลิมฉลองบูชาขอบพระคุณ กล่าวคือ ความหมายของ การรำลึก การมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิททำให้เราเข้าไปในพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ทำให้เราผ่านไปพร้อมกับพระองค์จากความตายสู่การมีชีวิต นั่นคือ บนเนินเขากัลวาริโอ พิธีบูชาพระคุณเป็นการนำเอาเหตุการณ์บนเนินเขากัลวาริโอมาทำให้มีชีวิตขึ้นใหม่ และนี่ไม่ใช่การแสดงละคร
(วิษณุ ธัญญอนันต์ ขอเชิญชวนคริสตชนร่วมกันไตร่ตรองกับพระสันตะปาปาเรื่องพิธีบูชาขอบพระคุณ)