Skip to content

เครือข่ายชาวนาคาทอลิกโลก
FIMARC International Network
หัวข้อรณรงค์:  การคุ้มครอง ปกป้องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรครัวเรือน
Protecting and Strengthening Family Farming and Traditional Seeds)
(แปลและเรียบเรียงโดย สุนทร วงศ์จอมพร ฝ่ายสังคม สังฆมณฑลเชียงใหม่)
……………………………………………………………

เครือข่ายชาวนาคาทอลิกโลกได้เชิญชวนให้ร่วมกันรณรงค์ประจำปี 2560/2017
ในหัวข้อ “การคุ้มครองปกป้องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและเสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรครัวเรือน ”  

สถิติชี้ให้เห็นว่า รายได้จากภาคเกษตรในประเทศต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในชนบท โดยเฉพาะการทำการเกษตรครอบครัวหรือเกษตรครัวเรือนจำนวนมากต้องสูญหายไปเนื่องจากการอพยพไปสู่เมือง การทำเกษตรครัวเรือน ซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทุกทวีป และเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนานั้นยังคงเป็นเรื่องท้าทายอย่างใหญ่หลวงและเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน                การสร้างความหวังอย่างแท้จริงต่อความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตของคนในชนบทเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อดึงดูดให้มีเยาวชนจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่หวนกลับมารับช่วงต่อทำการเกษตรครัวเรือน การจัดสัมมนาของชาวนาคาทอลิกโลกและเครือข่ายชาวนาคาทอลิกเอเชีย (FIMARC-Asia Network) ระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม 2560 ที่เชียงใหม่ เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การทำเกษตรกรรมครัวเรือนในประเทศต่าง ๆโดยเฉพาะ ในเอเชียในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายและการริเริ่มใหม่ ๆ ที่สามารถสนับสนุนการทำเกษตรครัวเรือนในอนาคต

สหประชาชาติ (UN) ได้เริ่มกระบวนการร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของชาวนาและประชาชนอื่น ๆ ที่ทำงานในชนบท ซึ่งชาวนาคาทอลิกโลก (FIMARC) มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในเวทีระดับสหประชาชาติ ในส่วนของเครือข่ายชาวนาคาทอลิกโลกยังศึกษาความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรรายย่อย และชาวชนบทที่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมระบบการทำเกษตรครัวเรือนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการส่งเสริมสิทธิชาวนาโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรครอบครัวให้มากขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก

การสัมมนา อบรมจะเปิดโอกาสให้

  • ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การทำเกษตรครัวเรือนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและที่อื่นๆในปัจจุบัน
  • อภิปรายเกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรครัวเรือนและการแสวงหาแนวทางการสนับสนุน

ในกระบวนการสัมมนานั้น การแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกร และการลงเยี่ยมพื้นที่ จะเป็นส่วนหนึ่งของการอบรม สัมมนาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกิดความรู้ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเทศและรับรู้สถานการณ์ของการทำเกษตรครัวเรือนในประเทศต่างๆอีกด้วย

บริบทการทำเกษตรครัวเรือน

สืบเนื่องจากการก่อตั้งเครือข่ายชาวนาคาทอลิกโลก (FIMARC) ทำงานกับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรครัวเรือนมานานพอสมควรแล้ว เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า กลุ่มชาวบ้านของเราส่วนใหญ่เป็นเกษตรครอบครัวหรือเกษตรครัวเรือน หรือชาวชนบทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและกิจกรรมนอกภาคการเกษตรมาแต่บรรพบุรุษ  สมาชิกชาวนาคาทอลิกโลก (FIMARC) จำนวนมากพยายามรักษาระบบการทำการเกษตรครอบครัว (เกษตรครัวเรือน) ไว้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารในท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ พวกเขาส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนบนฐานระบบเกษตรนิเวศน์ การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ สำหรับเครือข่ายชาวนาคาทอลิกโลก (FIMARC) แล้ว การเกษตรครัวเรือนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม คุณค่า องค์ความรู้พื้นบ้านดั้งเดิม รวมถึงยุ้งฉางที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง การทำเกษตรครัวเรือนเป็นวิถีชีวิตที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชนบทและชีวิตครอบครัว ชีวิตกลุ่มที่อยู่ร่วมกันด้วยการแบ่งปันและเอื้ออาทรกันฉันท์พี่น้อง

การใช้ชีวิตในไร่ ในสวน ในนาของชาวนาเกษตรครัวเรือน เป็นวิถีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีที่กลมกลืนกับธรรมชาติซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้า วิถีชีวิตนี้ปกป้องคุ้มครองต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกทางวัฒนธรรม ไร่นาครัวเรือนรักษาผลผลิตอาหารดั้งเดิม ในขณะเดียวกับที่มีส่วนช่วยให้กินอาหารได้อย่างสมดุลและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การลงทุนในการทำเกษตรครัวเรือน คือการลงทุนสำหรับอนาคตด้านอาหารอย่างยั่งยืนและมั่นคง เกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรครัวเรือนสามารถและควรเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการเกษตรโลก การลดความหิวโหยและความยากจนอยู่แค่เอื้อม แต่ขอเพียงเราถือเกษตรกรครัวเรือนและเกษตรกรรายย่อยเป็นศูนย์กลางความพยายามในการพัฒนาท้องถิ่นชนบท การผลิตอาหารขนาดย่อมของครัวเรือน เป็นรูปแบบการผลิตอาหารหลักที่สำคัญที่สุดทั่วโลก อาหารร้อยละ 85 ที่เพาะปลูกนั้นถูกบริโภคในสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเดียวกัน หรือ (อย่างน้อย) บริโภคภายประเทศและอาหารส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับบรรษัทผลิตอาหารข้ามชาติ

อาหารที่ประชากรโลกบริโภคนั้นร้อยละ 70 ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย คือชาวนา ชาวประมงพื้นบ้าน คนเลี้ยงสัตว์ ชนพื้นเมือง เยาวชนชนบท ผู้หญิงที่เป็นกระดูกสันหลังของระบบอาหารโลก การทำการเกษตรครัวเรือนขนาดเล็ก ยังมีส่วนสร้างประโยชน์ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่นการสร้างงาน การรักษาวิถีปฏิบัติที่ดีทางวัฒนธรรม การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน และการรักษาระบบนิเวศน์ ชาวนาทั้งหญิงและชายมีบทบาทแกนกลางเป็นแบบอย่างการผลิตอาหารที่อยู่บนฐานของทรัพยากรท้องถิ่น และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในท้องถิ่น การทำการเกษตรครัวเรือนที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารในท้องถิ่นและการผลิตอาหารด้านนิเวศน์เกษตรรายย่อย โดยเน้นสตรีและเยาวชนเป็นพิเศษนั้น เป็นหลักประกันในการผลิตอาหารเลี้ยงโลกในอนาคต
……………………………………………………….