คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส แผนกครอบครัว จัดอบรมการเตรียมศาสนบริกรผู้อภิบาลครอบครัว เมื่อวันที่ 25-28 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ณ บ้านฟื้นฟูจิตใจซาเลเซียน หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เข้าร่วมจาก 10 สังฆมณฑล กลุ่ม สชค. CFC และโฟโคลาเร รวมทั้งหมดประมาณ 65 คน
จุดประสงค์สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจัดประชุมซีโนด 2 ครั้ง ภายใน 2 ปี เรื่องอันดับต้นๆ คือ ครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันแรกของฆราวาส สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจึงเรียกร้องให้พระศาสนจักรแต่ละท้องที่ตอบรับ และเห็นคุณค่าของการอภิบาลครอบครัว จากสมัชชาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาได้ตอบรับและจัดอบรมเพื่อพัฒนางานอภิบาลครอบครัว
โดยเชิญวิทยากรจากศูนย์อบรมงานครอบครัวมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มี คุณพ่อเจมส์ คณะเยสุอิต และอาจารย์ฆราวาส 2 ท่าน เนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการสร้างทักษะสำหรับศาสนบริกรด้านครอบครัว, การให้คำปรึกษาแก่ผู้เตรียมสมรสและคู่สมรส, การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัว ฯลฯ
ตัวแทนจากสังฆมณฑลเชียงใหม่ทั้ง 7 ท่าน มีคุณพ่อติดคำ ใจเลิศฤทธิ์ ผู้ช่วยบิชอปฝ่ายอภิบาล เซอร์เอลีส ผิวเกลี้ยง เซอร์โรสลีน เจริญฉันทวิทย์ จากวัดแม่พระบิงเกิด เชียงราย ซิสเตอร์ลำดวน ศรีเจริญตระกูล คณะแม่ปอน คุณดาเนียล เบลลามี คุณมุกดา เบลลามี จากวัดนักบุญยอแซฟ แม่ริม คุณประนอม ชุมศรี คณะโฟโคลาเรเชียงใหม่ และคุณเพ็ญนภา ชาวแพรกน้อย เจ้าหน้าที่สำนักมิสซังเชียงใหม่ ในระหว่างการอบรม ช่วงหลังรับประทานอาหารเที่ยงได้นัดพูดคุย แบ่งปัน ถึงสิ่งที่ได้รับจากการมาอบรม หารือถึงแนวทางในการอภิบาลครอบครัวในสังฆมณฑลเชียงใหม่และในที่ๆ ตนอยู่
คุณพ่อติดคำ : จากการประชุมกลุ่มย่อยในระหว่างบาทหลวงและซิสเตอร์ ได้รับแรงบันดาลใจว่าจะรอช้าไม่ได้ กลับไปต้องเริ่มในส่วนของตนเองก่อน ง่ายที่สุดต้องเริ่มออกไปเยี่ยมครอบครัวสัตบุรุษในเขตวัด หรือหลังมิสซาจะไปเยี่ยมอย่างน้อย 2 ครอบครัว
เซอร์โรสลีน : สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเห็นว่าเป็นความเร่งด่วน ที่ควรจะเน้นความสำคัญในการอภิบาลครอบครัว ที่เชียงรายได้แพร่ธรรมร่วมกับการช่วยเหลือด้านสุขภาพในแต่ละหมู่บ้าน น่าจะให้หัวหน้าของแต่ละหมู่บ้านมาอบรม เพื่อที่จะเป็นการแพร่ธรรมด้วยชีวิตของเขาเองในที่ๆ เขาอยู่
เซอร์เอลีส : วิทยากรมาอบรมกระบวนการอภิบาลครอบครัวเป็นแบบที่มีประสิทธิภาพ รู้สึกยาก ต้องใช้เวลาในบริบทท้องที่สังฆมณฑลเชียงใหม่ซึ่งมีความชัดเจนในเรื่องความแตกต่างของชนเผ่าที่หลากหลาย แต่ถ้ามีความร่วมมือกันหลายฝ่ายจะดำเนินไปได้
คุณมุกดา : เริ่มจากอภิบาลตัวเองก่อน และการติดต่อสื่อสารในระหว่างกลุ่มที่มาอบรมครั้งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้ช่วยเหลือในงานอภิบาลร่วมกัน
ซิสเตอร์ลำดวน : เสนอทางสังฆมณฑลวางแผนจัดโครงการอภิบาลครอบครัว เพื่อที่จะเริ่มต้นงานนี้ โดยเฉพาะในแต่ละเขต และในแต่ละศูนย์เยาวชนน่าจะมีการอบรม ย.2 (โครงการเตรียมเยาวชนสู่ชีวิตครอบครัว) วางแผนการทำงาน มีผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน (การร่วมมือกันระหว่างพวกเรา)
คุณเพ็ญนภา : ที่สังฆมณฑลไม่ได้มีกลุ่ม สชค. เพียงกลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มครอบครัวของโฟโคลาเรด้วย น่ามีการร่วมมือกันในระหว่างกลุ่มในงานอภิบาลครอบครัวของสังฆมณฑล
จากการพูดคุยในกลุ่มสังฆมณฑลเชียงใหม่ แสดงชัดว่า ทุกคนพร้อมที่จะเริ่มงานอภิบาลครอบครัว แม้จะยังไม่มีรูปแบบแนวทางอย่างชัดเจน แต่ก็พร้อมที่จะร่วมมือกัน
โดย Anna P.N.