Skip to content

พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงต้อนรับทูตใหม่จาก 6 ประเทศ
รวมทั้งประเทศไทยด้วย

1
2

วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2016   สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงต้อนรับฑูตใหม่ 6 ประเทศ ที่ประจำสันตะสำนัก (Holy See, Vatican City) ได้แก่ เอสโทเนีย มาลาวี นามีเบีย หมู่เกาะซีเชลศ์ ประเทศไทย และ ซัมเบีย  สำหรับประเทศไทยฑูตท่านใหม่ที่ยื่นสาสน์ตราตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส คือ ฯพณฯ นพปฎล คุณวิบูลย์ ซึ่งท่านเป็นเอกอัครราชฑูตไทยประจำที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำเนียบอยู่ที่กรุงเบอร์น และเป็นเอกอัครราชฑูตไทยของสันตะสำนักด้วย ในโอกาสนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กล่าวคำปราศรัยแก่คณะฑูตใหม่ดังนี้

**************************************

ท่านเอกอัคราชทูตที่เคารพรักทุกท่าน

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ได้ต้อนรับพวกท่านจากประเทศเอสโทเนีย มาลาวี นามีเบีย หมู่เกาะซีเชลศ์ ประเทศไทย และ ซัมเบียในโอกาสถวายสาสน์ตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำสันตะสำนัก (นครรัฐวาติกัน) ขอขอบคุณในมธุรสวาจาที่ท่านกล่าวในนามแห่งประเทศของท่าน และเพื่อเป็นการตอบแทนข้าพเจ้าขอมอบความปรารถนาดีและคำอธิษฐานภาวนาของข้าพเจ้า  ขอพระเจ้าทรงโปรดประทานสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชากรในประเทศของท่านทุกคน

การปรากฏตัวของท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้เป็นเครื่องเตือนใจชัดเจนว่า เชื้อชาติ วัฒนธรรม และการนับถือศาสนาของเราอาจแตกต่างกัน  แต่ความเป็นมนุษย์ก็ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันและมีพันธกิจร่วมกันที่จะต้องปกป้องดูแลสังคมและสิ่งสร้างสภาพแวดล้อม การร่วมมือกันนี้มีความเร่งด่วนเป็นพิเศษเพราะว่าโลกกำลังป่วย มีความขัดแย้ง สงคราม การอพยพย้ายถิ่นฐาน และความไม่แน่ไม่นอนในชีวิตอันสืบเนื่องมาจากความยากจนทางเศรษฐกิจ ปัญหาเหล่านี้เรียกร้องให้เรามิใช่แต่เพียงต้องไต่ตรองและปรึกษาร่วมกันเท่านั้น แต่ยังต้องแสดงเครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมต่อบรรดาพี่น้องชายหญิงของเราที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบากด้วย

เพื่อให้ความเป้าหมายมีประสิทธิภาพเราต้องมุ่งมั่นและพยายามในการเสริมสร้างสันติสุขซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติและการพัฒนาของแต่ละปัจเจกบุคคลสามารถได้รับการเกื้อกูลและมีหลักค้ำประกัน  พันธกิจนี้เรียกร้องให้เราต้องร่วมมือกันในวิถีที่มีการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิผล สนับสนุนสมาชิกของแต่ละชุมชนให้เป็นผู้สร้างสันติด้วยตัวตนเอง ช่วยกันส่งเสริมความยุติธรรมฝ่ายสังคม รวมทั้งให้ความเคารพต่อโลกที่เป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราด้วย  นี่เป็นเรื่องที่ยิ่งวันยิ่งดูเหมือนจะยากลำบากมากขึ้นเพราะโลกเราดูเหมือนกำลังแตกแยกออกเป็นส่วนๆและไม่มีใครสนใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น  คนเป็นอันมากสนใจแต่เรื่องของตนเองและไม่สนใจใยดีกับความจริงแห่งวิบัติภัยเหล่านี้  พวกเขากลัวการก่อการร้ายและผู้อพยพ กลัวว่าผู้อพยพจะมาเปลี่ยนวัฒนธรรมและความมั่นคงแห่งเศรษฐกิจและวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง  เราเข้าใจความกลัวของพวกเขาซึ่งไม่อาจมองข้ามไปได้ แต่พวกเราก็ต้องจัดการกับปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรและเฉลียวฉลาด เพื่อป้องกันสิทธิและความต้องการของทุกคนจะได้เป็นที่ยอมรับนับถือ

สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง เราต้องตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้ชุมชนโลกรู้ถึงความทุกข์ของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่มีกำลังหรือความสามารถที่จะเรียกร้อง แต่ว่าเสียงร่ำร้องของพวกเขานั้น พวกเราต้องฟังและได้ยิน วิถีทางการทูตสามารถช่วยสะท้อนเสียงร่ำร้องของพวกเขาได้ด้วยการหาสาเหตุสำคัญเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในยุคสมัยของพวกเรา  และที่เป็นพิเศษคือพวกเราต้องพยายามขจัดปัญหาเรื่องอาวุธที่นำมาใช้ในการก่อการใช้ความรุนแรงให้หมดไป รวมถึงการค้ามนุษย์และยาเสพติดซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมโยงและให้การสนับสนุนความเลวร้ายดังกล่าว

ความพยายามของพวกเราเพื่อสันติภาพควรช่วยให้ประชาชนได้กินอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่ ณ ขณะนี้สถานการณ์จริงเรียกร้องให้พวกเราต้องช่วยผู้อพยพย้ายถิ่นรวมถึงคนที่กำลังช่วยพวกเขาเหล่านั้นด้วย  พวกเราต้องไม่ปล่อยให้ความเข้าใจผิดและความกลัวมาปิดกั้นความตั้งใจของพวกเรา  ตรงกันข้ามเราถูกเรียกร้องให้ต้องสร้างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ “ทำให้เราสามารถมองผู้อื่นว่าเป็นเพื่อนร่วมเสวนาที่คู่ควร ที่เราต้องให้ความเคารพต่อคนต่างชาติ ต่อคนอพยพย้ายถิ่นที่มาจากวัฒนธรรมต่างๆซึ่งคู่ควรที่จะต้องรับฟังพวกเขา”  (อ้างจากพิธีมอบรางวัลชัลเลอแมง 6 พฤษภาคม 2016)

อาศัยวิธีนี้พวกเราสมควรส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งให้ความเคารพต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้อพยพพร้อมกับรักษาธรรมเนียมของชุมชนผู้เป็นเจ้าภาพที่ให้การต้อนรับด้วย และในขณะเดียวกันก็จะทำให้วัฒนธรมของทั้งสองฝ่ายมีความมั่งคั่งยิ่งขึ้น  นี่เป็นเรื่องสำคัญ  หากเกิดความเข้าใจผิดและมีความกลัว จะมีอะไรบางอย่างในตัวเราที่ต้องตายหายสาบสูญไป  วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเราจะอ่อนแอลงรวมถึงสันติภายในเราก็จะพลอยไม่โปร่งใสไปด้วย ตรงกันข้ามหากพวกเราส่งเสริมการเสวนาและความเอื้ออาทรทั้งแบบส่วนตัวและในรูปแบบของหมู่คณะ เมื่อนั้นเราจะได้พบกับความเป็นมนุษย์เต็มรูปแบบและพบกับสันติสุขที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนสมดังที่พระผู้สร้างทรงปรารถนา

ท่านเอกอัครราชทูตที่เคารพ ก่อนจบการไตร่ตรองนี้ ข้าพเจ้าใคร่ส่งความปรารถนาดีโดยผ่านทางท่านไปยังบรรดาสงฆ์และสัตบุรุษแห่งชุมชนคริสตชนต่างๆที่อยู่ในประเทศของท่าน ข้าพเจ้าสนับสนุนพวกเขาเสมอให้เป็นผู้นำความหวังและสันติสุขไปสู่สังคม ข้าพเจ้าคิดถึงเป็นพิเศษถึงชุมชนคาทอลิกเล็กๆที่กำลังถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อของพวกเขา  ข้าพเจ้าขอรื้อฟื้นคำอธิษฐานภาวนาและความเอื้ออาทรต่อพวกเขา  สันตะสำนักถือเป็นเกียรติที่สามารถเพิ่มพูนการเสวนาที่ให้ความเรารพกันและความร่วมมือที่สร้างสรรกับท่านแต่ละคนและกับประเทศที่ท่านเป็นผู้แทน  จากมิตินี้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพันธกิจใหม่ของท่าน ข้าพเจ้าขอแสดงความปรารถนาดี และขอยืนยันในความร่วมมือจากทุกสมณกระทรวงแห่งสันตะสำนักในการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน  ขอพระพรของพระเจ้าจงสถิตกับท่าน ครอบครัวของท่าน และเพื่อนร่วมงานของท่านจงถ้วนหน้ากัน

 

(ขอขอบคุณ วิทยุวาตืกัน – วิษณุ ธัญญอนันต์ เก็บมาเล่าให้ฟัง)