
อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา 26 เมษายน 2015
บทอ่าน กจ 4: 8-12 ; 1 ยน 3: 1-2 ; ยน 10: 11-18
พระวรสารสัมพันธ์กับ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 60, 553, 606, 609, 614, 649, 754
จุดเน้น ฐานะคริสตชน เราตระหนักว่าพระเยซูเจ้าผู้เลี้ยงแกะที่ดี ได้ยอมสละชีวิตเพื่อเรา
พระวรสารทั้งสี่ฉบับใช้อุปมาเรื่องพระเยซูเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี อันที่จริงภาพลักษณ์นี้เป็นสำนวนในพันธสัญญาเดิม ที่บ่อยๆ บรรยายว่าชาวอิสราเอลเป็นฝูงแกะ (ประชากร) ที่พระเจ้าทรงเลือก และพระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะ สำนวนที่ทำให้เราเข้าใจภาพลักษณ์ที่น่ารักทางด้านจิตวิญญาณ คือ เพลงสดุดีที่ 23 พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี
ในดินแดนปาเลสไตน์ศตวรรษแรก ภาพผู้เลี้ยงแกะดูแลแกะที่กำลังเล็มหญ้า เป็นภาพที่คุ้นตาภาพหนึ่ง ในดินแดนที่ราบสูงแคว้นยูเดียเป็นหินและแห้งแล้งมาก มีอันตรายจากสัตว์ป่าและขโมย การปกป้องดูแลฝูงสัตว์จึงต้องมีจำนวนผู้เลี้ยงที่สำคัญ แกะรู้ว่ามันปลอดภัยเมื่อมีผู้เลี้ยงดูแลใกล้ชิด เพราะมันจำเสียงผู้เลี้ยงได้ เป็นความผูกพันของกันและกัน คนเลี้ยงนำฝูงแกะไปยังทุ่งหญ้าเขียวอุดมสมบูรณ์ และดูแลให้พ้นจากอันตราย ส่วนแกะย่อมฟังและติดตามเสียงของผู้เลี้ยง ดังนั้น ภาพลักษณ์ของพระศาสนจักรเป็นฝูงแกะที่รวมกันเป็นชุมชนที่มีวัตถุประสงค์และเอกลักษณ์ร่วมกัน มารวมกันภายใต้ผู้นำที่เสียสละและคอยคุ้มครอง
เมื่อคุ้นเคยกับภาพลักษณ์นี้และมีรากกำเนิดจากพระคัมภีร์ เราจึงไม่แปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกอุปมานี้ เมื่อกล่าวถึงชาวฟาริสีเกี่ยวกับพันธกิจต่อชาวอิสราเอล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ใหม่ก็คือ พระองค์ทรงใช้อุปมานี้มิใช่พูดถึงพระองค์เองเท่านั้น แต่เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าผู้เลี้ยงที่ดีแตกต่างกับผู้เลี้ยงที่สนใจแต่ค่าจ้าง ความแตกต่าง คือ ชาวฟาริสีและคัมภีราจารย์ ปฏิบัติราวกับว่าพวกเขาเป็นผู้เลี้ยงชั่วคราว ได้รับการจ้างให้ทำหน้าที่หลักสำหรับอิสราเอล แต่ไม่อุทิศตัวด้วยความรักต่อประชาชนที่พระเจ้าทรงเลือกให้ต้องดูแลเอาใจใส่ เมื่อหน้าที่ลำบากหรืออันตรายมากๆ พวกเขาก็จะละทิ้งหน้าที่ และละทิ้งฝูงแกะไปง่ายๆ เหมือนเป็นเพียงลูกจ้าง พวกเขาเก่งเรื่องธรรมบัญญัติ แต่ไม่เก่งในการดูแลผู้ที่บาดเจ็บ ดูแลคนพิการ ปกป้องผู้ที่ไม่มีอำนาจ หรือช่วยผู้ที่กำลังอยู่ในอันตราย
ในทางตรงกันข้าม พระเยซูเจ้ามอบความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมีพลังแก่เรา ดังที่พระองค์เห็นพันธกิจต่อชาวอิสราเอล และขยายมาสู่โลกสากล ดังผู้เลี้ยงแกะที่ดี พระองค์ทรงซื่อสัตย์ และจะถวายชีวิตของตนเพื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในความดูแล บรรดาผู้ที่ได้ยินเสียงของพระองค์ ก็รู้ว่าไว้ใจได้ และพระองค์จะทรงนำเราไปตามหนทางที่ถูกต้อง ที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร
หากเราประยุกต์ความคิดถึงบรรดาผู้เลี้ยงที่ดีและไม่ดีในพระศาสนจักรทุกวันนี้ เราอาจคิดว่าหมายถึงบรรดาบาทหลวงและบิชอปเท่านั้น จริงๆ แล้วสามารถประยุกต์ได้กับเราทุกคน ขอให้พี่น้องไตร่ตรองด้วยหัวใจ และพิจารณาถึงความใจกว้างที่เราบริการช่วยเหลือกันรอบตัวเรา อาศัยศีลล้างบาป เราแต่ละคนได้รับเรียกให้แบ่งปัน (ประกาศ) ข่าวดี และดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระวรสารอย่างซื่อสัตย์ เราต้องเลียนแบบอย่างพระเยซูเจ้า ผู้เลี้ยงที่ดี หมายความว่า เราจะพูดความจริง ดำเนินชีวิตด้วยความเมตตาและเอาใจใส่ผู้อื่น ดำเนินชีวิตเช่นนี้ พระเยซูเจ้าก็สามารถใช้เราเป็นเครื่องมือแห่งความรัก ให้โอกาสคนอื่นได้ยินและตอบรับเสียงเรียกของพระองค์ พระองค์จึงจะสามารถเลี้ยงดูพวกเขาไปสู่หนทางแห่งชีวิตนิรันดร
บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
จาก Homilies โดย Catholic Diocese of Lansing,
(เมษายน – มิถุนายน 2015), หน้า 171-173.