ใ นมหาวิหารนักบุญเปโตร 13 มีนาคม ค.ศ. 2015 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ประกาศ ปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษ ยูบีลีแห่งพระเมตตาเริ่มในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2015 สมโภชพระนางมารีย์ปฏิสนธินิรมล ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 สมโภชพระคริสตเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล “นี่เป็นเวลาแห่งพระเมตตา เพื่อสัตบุรุษจะได้เจริญชีวิตด้วยความยินดี และนำความยินดีไปในสภาพแวดล้อมสังคมต่างๆจงไปเถิด”
พระองค์ได้ประกาศยูบีลีในโอกาสครบ 2 ปี ที่ได้รับเลือกให้เป็นโป๊ป ในระหว่างบทเทศน์พิธีกรรมเปิด 24 ชั่วโมงเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า สมณสภาเพื่อการส่งเสริมการประกาศข่าวดีใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้พระศาสนจักรทั่วโลกเชิญชวนสัตบุรุษให้มารับศีลแห่งการคืนดี (ศีลอภัยบาป) หัวข้อมาจากจดหมายของนักบุญเปาโล คือ พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา (อฟ 2:4)
การเปิดปีศักดิ์สิทธิ์จะเป็นครบรอบ 50 ปี ปิดการประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ใน ค.ศ. 1965 จึงมีความหมายสำคัญเพื่อกระตุ้นพระศาสนจักรสานต่องานที่สังคายนาได้เริ่มไว้
ระหว่างปียูบีลี บทอ่านวันอาทิตย์ในเทศกาลธรรมดาจะมาจากพระวรสารนักบุญลูกา ซึ่งถือว่าเป็นพระวรสารแห่งความเมตตา เล่าถึงความอ่อนโยนของพระคริสตเจ้า มีอุปมาหลายเรื่องที่มีชื่อเสียงเรื่องความเมตตา เช่น แกะที่พลัดหลง เงินเหรียญที่หายไป บิดาผู้ใจดี(ลูกล้างผลาญ – ลก 15)
การประกาศปีศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นทางการ จะทำหน้าประตูศักดิ์สิทธิ์ (มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม) ในวันอาทิตย์แห่งพระเมตตา ที่นักบุญโป๊ปยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ตั้งให้ฉลองวันอาทิตย์ถัดจากวันอาทิตย์ปัสกา(12 เมษายน 2015)
ประเพณีพระศาสนจักรคาทอลิก เรื่อง ปีศักดิ์สิทธิ์ โป๊ปบอนีฟาส ที่ 8 ได้ริเริ่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1300 โดยนำปีศักดิ์สิทธิ์ของฮีบรูมาประยุกต์ (ดู ลนต 25) ให้เห็นความสำคัญทางจิตใจ เช่น การให้อภัย การรับพระการุณย์ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนบ้าน กล่าวคือ เป็นโอกาสฟื้นฟูความเชื่อให้ลึกซึ้งขึ้น และเจริญชีวิตอุทิศตนเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้า จนถึงปัจจุบันมีปีศักดิ์สิทธิ์ 26 ครั้ง และปีศักดิ์สิทธิ์พิเศษ 2 ครั้ง คือ ค.ศ. 1933 และ 1983
ความเมตตา เป็นหัวข้อที่โป๊ปฟรังซิสรักมาก ดังที่ปรากฏในคติพจน์ของพระองค์ “Miserando atque eligendo (แม้เป็นคนน่าสงสาร พระองค์ก็ทรงเลือก)” นำมาจากบทเทศน์ของนักบุญเบดา เวลาอธิบายพระวรสารตอนที่ทรงเรียกมัทธิว “พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเก็บภาษีคนนั้น ก็ทรงรู้สึกเมตตาสงสาร ได้เลือกเขา จึงตรัสสั่งเขาว่า จงตามเรามาเถิด” (เทียบ ลก 5:27-28) บทเทศน์นี้กล่าวถึงพระเมตตา เราอาจแปลคติพจน์นี้ได้ว่า “ด้วยสายตาแห่งความเมตตา”
ในการนำภาวนาทูตสวรรค์แจ้งข่าว ครั้งแรกหลังจากที่พระองค์ได้รับเลือก พระองค์ตรัสว่า “ด้วยความรู้สึกถึงความเมตตา คำนี้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง นี่เป็นสิ่งดีที่สุดที่เราสามารถรู้สึกได้ มันเปลี่ยนโลกได้ ความเมตตาเล็กๆ น้อยๆ สามารถเปลี่ยนโลกให้เย็นลง และมีความยุติธรรมมากขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าใจพระเมตตาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง พระบิดาผู้เมตตาทรงเปี่ยมด้วยความอดทน” (17 มีนาคม 2013)
ในการภาวนาตอนเที่ยงวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2015 พระองค์ทรงยืนยันว่า “มีความจำเป็นมากจริงๆ ถึงความเมตตาในทุกวันนี้ จำเป็นที่สัตบุรุษฆราวาสมีเมตตาและนำความเมตตาไปยังสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ไปเถิด เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความเมตตา” และในสาส์นมหาพรต 2015 พระองค์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างแรงกล้าแค่ไหน ที่จะให้ทุกสถานที่ที่พระศาสนจักรปรากฏอยู่ โดยเฉพาะวัดและชุมชนคริสตชน เป็นหมู่เกาะแห่งความเมตตากรุณาท่ามกลางมหาสมุทรแห่งการไม่ใส่ใจไยดีต่อกัน”
ในพระสมณสาส์นเตือนใจ เรื่อง ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร มีคำว่า เมตตา 32 ครั้ง พระองค์ขอให้สมณสภาเพื่อส่งเสริมการประกาศข่าวดีใหม่ ดำเนินการเรื่องปีพระเมตตานี้
บิชอป วีระ อาภรณ์รัตน์ แปล
16 มีนาคม 2015